Skip to main content

นิกเคอิ เอเชีย เผยแพร่บทความว่าด้วย ความสนใจของคนรุ่นใหม่ไทยในขณะนี้ที่มีต่อสิ่งที่เรียกว่า 'มูเตลู' เพิ่มมากขึ้น โดยมองว่า มีสาเหตุจากการต้อวเผชิญกับสภาวะความไม่แน่นอนของชีวิต

บทความอธิบายว่า คำว่า "มูเตลู" และ "มู" ถูกบรรจุเข้ามาในคลังศัพท์ของไทยเมื่อไม่นานมานี้ โดยหมายถึงสิ่งเหนือธรรมชาติ หรืออำนาจที่นำมาซึ่งโชคลาภ โดยได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ของอินโดนีเซีย คำนี้ถูกนำมาใช้โดยคนรุ่นใหม่ในช่วงระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด และทุกวันนี้ภาครัฐของไทยก็นำมาใช้เพื่อโปรโมท 'การท่องเที่ยวมูเตลู'

บทความในนิกเคอิเอเชียกล่าวว่า การท่องเที่ยว 'สายมู' ในไทยสร้างรายได้งาม โดยผู้ที่เดินทางมากรุงเทพฯ นอกจากการชอปปิ้งเสื้อผ้าหรืออาหารแล้ว ยังมาขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอโชคในเรื่องงานและความรัก เช่น ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) เทวสถานฮินดูย่านสีลมในกรุงเทพฯ

บทความระบุด้วยว่า ไทยได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวในเส้นทางที่เชื่อมโยงวัดและสถานที่ศักด์สิทธิ์ต่างๆ 60 แห่ง จากศาลพระพรหมเอราวัณ ในกรุงเทพฯ ไปยังภาคเหนือและอีสาน โดยตั้งเป้าให้ตลาดการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นร้อยละ 40 และสร้างมูลค่า 15,000 ล้านบาทภายในปีนี้

ยูโกะ อิโตะ จากสถาบันคลังสมอง ฮาคุโฮโด ของญี่ปุ่นอธิบายว่า สาเหตุที่คนรุ่นใหม่ของไทยพากันนิยมมูเตลู เนื่องจากพวกเขากำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในชีวิต และการขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายในช่วงนี้