Skip to main content

นักวิจัยพยายามหาคำตอบถึงความถูกต้องแม่นยำของ "ความทรงจำ" สมัยเด็กของเราว่าเชื่อถือได้แค่ไหน มันจะคงทนเหมือนการทักษะการขี่จักรยานหรือไม่ การศึกษาพบว่า "ความทรงจำสมัยเด็ก" ของเรามีความแม่นยำพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสบการณ์สมัยเด็กที่น่ากลัวหรือเจ็บปวด

แคโรล ปีเตอร์สัน นักจิตวิทยาเด็กและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเมโมเรียลแห่งนิวฟันด์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความทรงจำในวัยเด็กตอนต้นกล่าวว่า ความทรงจำของคนเรานั้นไม่ผิดพลาด แต่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล้วนสามารถมีความทรงจำที่ไม่ถูกต้องแม่นยำทั้งหมดได้

เธอกล่าวว่า ความทรงจำแรกเริ่มของคนส่วนใหญ่นั้นเหมือนภาพร่าง เป็นนามธรรมไม่ชัดเจน และมีแนวโน้มที่จะจดจำเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจนกว่า ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่า แล้วเรามีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั่วไปที่ไม่ค่อยสลักสำคัญได้แม่นยำเพียงใด?

การศึกษาของแคโรลที่ตีพิมพ์ในวารสารพัฒนาการเด็กในปี 2011 เธอและทีมวิจัยสัมภาษณ์เด็กอายุ 4 ถึง 13 ปีเกี่ยวกับความทรงจำแรกเริ่ม และทำการสัมภาษณ์พวกเขาอีกครั้งในอีก 2 ปีถัดมา พบว่า เหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกจะคงอยู่ในความทรงจำได้ดีกว่า และหากเด็กมีความทรงจำที่แจ่มชัด ไม่สับสน ความทรงจำที่เป็นระบบและเป็นไปตามลำดับเวลา มีแนวโน้มที่จะเรียกคืนได้มากกว่า

การวิจัยของแคโรลยังพบว่า ความทรงจำที่แม่นยำนั้นมีความเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะหากเหตุการณ์นั้นน่ากลัวหรือเจ็บปวดเป็นพิเศษ ความทรงจำนั้นมักมีความถูกต้องแม่นยำสูงกว่า

งานวิจัยในปี 2015 สนับสนุนข้อค้นพบนี้ โดยนักวิจัยได้สัมภาษณ์เด็กก่อนวัยเรียนถึงการบาดเจ็บที่ร้ายแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นักวิจัยติดตามผลในอีก 10 ปีต่อมา เพื่อดูว่าเด็กที่โตขึ้นเป็นวัยรุ่นจดจำได้อะไรเกี่ยวกับการบาดเจ็บในวัยเด็กได้บ้าง โดยนักวิจัยได้สัมภาษณ์ผู้ใหญ่ที่เห็นการบาดเจ็บนั้น เพื่อช่วยให้การบันทึกมีความถูกต้องแม่นยำ

ปีเตอร์สันกล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจ เมื่อพบว่าวัยรุ่นจดจำรายละเอียดเหตุการณ์ที่สำคัญและเปี่ยมด้วยอารมณ์ในช่วงวัยเด็กได้แม่นยำอย่างน่าทึ่ง

งานวิจัยพบว่า คนมักจะลืมเหตุการณ์ต่างๆ ได้ค่อนข้างเร็วโดยเฉพาะถ้าเป็นเหตุการณ์ทั่วไป การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science ในปี 2020 นักวิจัยพบว่า ผู้คนมีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในโลกความเป็นจริงลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ความทรงจำก็จะมีรายละเอียดน้อยลดลงตามไปด้วย

แต่ถึงกระนั้น ทีมวิจัยมีข้อสังเกตเมื่อพบว่า หากผู้เข้าร่วมวิจัยสามารถจดจำเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งได้ ก็จะมีความถูกต้องแม่นยำสูงถึง 93% ถึง 95% ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานเท่าใด

ความทรงจำวัยเด็กอาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากเหตุการณ์จริงเสมอไป ในบางครั้งผู้คนโดยเฉพาะเด็กสามารถสร้างความทรงจำที่ผิดพลาด หรือมีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงขึ้นมาได้

มิเชล ลินเดน จิตแพทย์ชาวเยอรมัน ระบุว่า ความคาดหวังสูงทางสังคมสามารถนำไปสู่การสร้างความทรงจำที่ผิดพลาดในเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่เรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อความคาดหวัง ความทรงจำที่ผิดพลาดเหล่านี้อาจมีรายละเอียดและความสมจริงอย่างน่าทึ่ง ทำให้ยากที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างความทรงจำที่สร้างขึ้นกับความทรงจำที่แท้จริง

การศึกษาของแคโรลในปี 2017 ให้เด็กอายุ 4 ถึง 9 ปีได้เล่าความทรงจำแรกเริ่มของพวกเขา และถามซ้ำอีกครั้งใน 8 ปีต่อมา การใช้คำใบ้บางอย่าง ทำให้พวกเขานึกถึงเหตุการณ์ส่วนใหญ่ได้ แต่ไม่ทั้งหมด โดยเนื้อหาเฉพาะที่พวกเขากล่าวถึงมักจะแตกต่างกัน

สำหรับเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป ในตอนที่สร้างความทรงจำครั้งแรก เนื้อหาจะขัดแย้งกันเองเพียงเล็กน้อย แต่แตกต่างกันในแง่ของสิ่งที่พวกเขาเลือกที่จะพูดถึง ตัวอย่างเช่น เมื่อเล่าเรื่องการแคมปิ้ง พวกเขามักอธิบายส่วนประกอบที่แตกต่างกัน เด็กอายุ 4 หรือ 5 ปีในขณะสัมภาษณ์ครั้งแรก มีความเป็นไปได้สูงที่จะเล่าเรื่องขัดแย้งกับสิ่งเคยพูดไว้ก่อนหน้านี้

ปีเตอร์สันกล่าวว่า ยากมากในการค้นหาความจริงที่ถูกต้องแม่นยำของความทรงจำ โดยเฉพาะเมื่อเป็นความทรงจำสมัยเด็ก เว้นแต่ว่าเหตุการณ์นั้นจะถูกบันทึกวิดีโอเอาไว้เป็นหลักฐาน