Skip to main content

การศึกษาชิ้นใหม่เผยว่า "ความสุข" ของคนจะลดลงต่ำสุดเมื่อเข้าสู่ "วัยกลางคน" ช่วงอายุใกล้ถึง 50 ปี โดยพบว่ากราฟความสุขของคนมีลักษณะเส้นโค้งคว่ำคล้ายรูปตัวยูในภาษาอังกฤษ

งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ ทำการศึกษาคนใน 132 ประเทศทั่วโลก เดวิด บลานช์ฟลาวเวอร์ นักวิจัยพบหลักฐานที่หนักแน่นว่า ตลอดชั่วชีวิตของคน ความสุขจะมีลักษณะเป็นเส้นโค้งทรงเกือกม้ารูปตัวยู โดยช่วงที่คนมีความสุขน้อยที่สุดคือช่วงวัยกลางคน

งานวิจัยอธิบายว่า เนื่องจากวัยกลางคนเป็นวัยที่พบว่าความคาดหวังกับความเป็นจริงในชีวิตนั้นไม่บรรจบกัน เกิดความผิดหวัง บางรายถึงกับสิ้นหวัง และนำไปสู่ “ความตายเพราะความสิ้นหวัง” ในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนช่วงวัยกลางคนฆ่าตัวตาย เสพสารเสพติดเกินขนาด หรือติดเหล้าเพิ่มสูงขึ้น

ในการศึกษา นักวิจัยทบทวนชุดข้อมูลจากทวีปต่างๆ ยกเว้นแอนตาร์กติกา โดยสนใจที่การวัดผลของความสุข รวมถึงความพึงพอใจในชีวิต อารมณ์ ความเจ็บปวด และอื่นๆ และทำการวิเคราะห์โดยนำปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสุข เช่น ปัญหาสุขภาพ รายได้ การจ้างงาน การแต่งงาน การเป็นพ่อแม่ และอื่นๆ และวิเคราะห์ผลอีกครั้งโดยไม่นำปัจจัยเหล่านี้มาร่วม

บลานช์ฟลาวเวอร์ พบว่า ความสุขของคนเพิ่มและตกลงในลักษณะรูปตัวยู โดยจุดต่ำสุดของความสุขที่อายุราว 47และ 49 ปี

บลานช์ฟลาวเวอร์กล่าวว่า เขาคาดหวังว่าจะไม่พบการร่วงลงในแบบเดียวกันของความสุขในทุกที่ แต่ผลกลับเป็นว่ามันเกิดขึ้นในทุกหนแห่ง ทั้งสหรัฐ เยอรมนี ไทย ปากีสถาน แม้แต่ประเทศที่คนมีอายุขัยสั้นกว่า

บลานช์ฟลาวเวอร์กล่าวว่า ไม่มีใครรู้อย่างแท้จริงว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และนักวิจัยกำลังพยายามหาคำตอบ โดยมีข้อเท็จจริงว่าลิงไม่มีหางก็มีประสบการณ์แบบเดียวกันนี้เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน เขากล่าวว่าเป็นไปได้ว่าอาจมีต้นกำเนิดมาจากวิวัฒนาการทางชีววิทยา ที่ความเจ็บปวดและการไม่มีความสุขเป็นของวิถีของธรรมชาติที่จะกระตุ้นให้มนุษย์ทำบางสิ่งที่จะเพิ่มโอกาสในการอยู่รอด

บลานช์ฟลาวเวอร์กล่าวว่า ความสุขที่ลดลงของปัจเจกอาจต้องเกิดขึ้นพร้อมกับ “การยอมรับความจริง” ว่าเป็นการค้นหา "ความฝัน" ที่จะไม่เป็นจริง

เขากล่าวว่า วัยกลางคนอาจเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวก และขจัดภาพลวงตาออกไปให้รับรู้ถึงความจริง และอาจพบว่าเรากำลังหุนหันพลันแล่นตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตไปในทางที่เลวร้ายต่อชีวิต โดยเฉพาะเมื่อไม่เข้าใจถึงรากของความผิดหวังว่าเกิดจากอะไร

บลานช์ฟลาวเวอร์เชื่อว่า คนรอบตัวและชุมชนสามารถช่วยได้ เช่น เพื่อน ครอบครัว จะช่วยให้รับมือกับความโดดเดี่ยวและเจ็บปวดไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับช่วงอายุใด รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ก็สามารถช่วยให้เรารับมือกับวิกฤตวัยกลางคนได้ และหากไม่สำเร็จ เขาแนะนำว่าอาจต้องเข้ารับการรักษาจากนักบำบัด

บลานช์ฟลาวเวอร์กล่าวว่า รัฐอาจมีส่วนกับ เขาเปรียบเทียบระหว่างสหรัฐอเมริกากับยุโรปซึ่งมีประชากรมากกว่า แต่การตายที่เกี่ยวเนื่องกับความสิ้นหวังในสหรัฐสูงกว่ายุโรป ซึ่งเขามองว่าอาจมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นในสหรัฐ อย่างเช่น การขาดการสนับสนุนทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับประชาชน

เขากล่าวว่า ในสหรัฐคนไม่มีงานทำ ไร้ซึ่งความหวัง ไม่มีอนาคต และเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ทั้งหมดนี้มีผลอย่างเลวร้ายโดยเฉพาะกับคนที่กำลังประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกัน เป็นเรื่องดีที่รู้ว่าความสุขที่ลดลงในช่วงวัยกลางคน ทำให้เรารู้สึกแก่ลงอีกนิด บางทีอาจเพราะเรามี่มุมมองเพิ่มขึ้น หรือเราเริ่มที่จะจัดลำดับความสำคัญของชีวิตมากขึ้น แต่ความเข้าใจจึงแนวโน้มของการไม่มีความสุขในช่วงวัยย่าง 50 เป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับภาวะวิกฤตวัยกลางคน

“มันช่วยให้รู้ว่าคุณไม่ได้โดดเดี่ยว และนั่นอาจจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าก็เป็นได้” บลานช์ฟลาวเวอร์กล่าว