ผลการวิจัยชิ้นใหม่เผยว่า คนร้อยละ 40 เลือกทำเป็น 'ไม่รู้' เกี่ยวกับการตัดสินใจของตัวเองที่จะมีผลกระทบต่อคนอื่น และมักจะใช้ประโยชน์จากข้ออ้างความไม่รู้นี้ในการแสดงความเห็นแก่ตัวเพิ่มมากขึ้น
งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารสมาคมจิตวิทยาอเมริกันระบุว่า เมื่อให้ตัวเลือกเพื่อเรียนรู้ว่าการกระทำของเราจะส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร คนร้อยละ 40 เลือกที่จะไม่รับรู้ โดยส่วนมากมีข้ออ้างให้กับการกระทำที่เห็นแก่ตัวของตัวเอง
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ทำการวิเคราะห์ผลการวิจัยจากงานวิจัย 22 ชิ้น ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 6,531 คน ทีมวิจัยรายงานการวิเคราะห์ทางสถิติของความจงใจที่จะไม่รับรู้และค้นหาถึงแรงจูงใจ โดยวิเคราะห์การตัดสินใจ 33,603 ครั้งของผู้เข้าร่วมการทดลอง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติที่ต่างกัน 56 แบบ
งานวิจัยระบุว่า บางครั้งคนเลี่ยงที่จะรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบซึ่งเกิดจากการกระทำของตัวเอง อย่างเช่น การหาข้ออ้างเพื่อที่จะเห็นแก่ตัว เป็นการจงใจที่จะไม่รับรู้ หรือเป็นการอิกนอแรนซ์โดยตั้งใจ โดยที่เห็นแก่ผู้อื่นน้อยลง
ในการศึกษาทั้งหมด นักวิจัยพบว่าเมื่อให้ตัวเลือก คนร้อยละ 40 เลือกที่จะไม่เรียนรู้ถึงผลที่เกิดจากการกระทำของตัวเอง และเทียบคนที่จงใจไม่รับรู้นี้ว่าใกล้เคียงกับคนที่เห็นแก่ผู้อื่นน้อย หรือ “คนเห็นแก่ตัว” ขณะที่คนร้อยละ 15.6 มีความเอื้อเฟื้อกับคนอื่นมากขึ้น หลังได้รับการบอกถึงผลที่จะเกิดจากการกระทำ
ผลการวิเคราะห์ยังพบว่า ร้อยละ 40 ของผู้เข้าร่วมการทดลอง เพิกเฉยต่อข้อมูลที่ได้รับเกี่ยวกับผลพวงจากการกระทำของพวกเขาต่อผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย ทีมวิจัยอภิปรายถึงแรงจูงใจเบื้องหลังการเจตนาไม่รับรู้ และเสนอหลักฐานที่ลงรอยกันคือ พฤติกรรมการหาข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวเพื่อยังคงรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองในทางบวกเอาไว้
สมมติฐานหนึ่งที่ทีมวิจัย อธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้คนจงใจไม่รับรู้บางคนมีความเอื้อเฟื้อมากขึ้น โดยระบุว่าเป็นเพราะต้องการมีภาพลักษณ์เชิงบวกของการเป็นคนใจกว้าง ในกรณีเหล่านั้น คนที่จงใจไม่รับรู้สามารถให้ตัวเองยังคงภาพลักษณ์ที่ดีเอาไว้ โดยที่ไม่ต้องแสดงหรือทำอะไรที่เป็นการเห็นแก่ผู้อื่นก็ได้
ชาอูล ชาลวี ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม กล่าวว่า คนที่เลือกเรียนรู้ผลจากการกระทำของตัวเอง ร้อยละ 7 มีความเห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้น เมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมการทดลองที่ได้รับข้อมูลเหมือนกัน นั่นชี้ว่า คนที่เห็นแก่คนอื่นอย่างแท้จริง เลือกที่จะเรียนรู้ผลจากการกระทำของตัวเอง
ศาสตราจารย์ชาอูลกล่าวว่า การที่คนตั้งใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง หลังได้รับข้อมูลของผลจากการกระทำอย่างเต็มที่ แต่ใช่ว่าความตั้งใจนี้เกิดจากความห่วงใยในตัวผู้อื่นเสมอไป เหตุผลส่วนหนึ่งของการกระทำที่เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น เป็นเพราะแรงกดดันทางสังคมด้วย เช่นเดียวกับความต้องการให้ตัวเองดูดี แต่เมื่อใดที่ความถูกต้องเริ่มมีต้นทุนสูง เรียกร้องเวลา เงินทองและความพยายาม พวกเขาจะเลือกที่จะจงใจไม่รับรู้ ซึ่งเป็นทางออกที่ง่าย
ผลการทดลองเสนอด้วยว่า ขณะที่คนจำนวนมากอาจแสดงออกถึงความต้องการคงภาพลักษณ์เชิงบวกของตัวเองเอาไว้ การเห็นแก่ผู้อื่นควรเกิดจากความจริงใจมากกว่าแรงกดดันทางสังคมและการมองเห็นแค่ตัวเอง ในการเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อความปรกติสุขของผู้อื่น