Skip to main content

สุพันธุ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย และอดีตประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ The Opener สถานการณ์ Perfect Storm ว่ามันคือพายุใหญ่ทางเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยพายุหลายๆ ลูก ทั้งภาวะเงินเฟื้อ, สงครามรัสเซียในยูเครนที่ทำให้น้ำมันแพง, โรคระบาดและการล็อกดาวน์ของประเทศจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอย GDP ลดลง 2-2.5 และต่อไปการทำธุรกิจก็จะยากขึ้น ทุกอย่างแพงขึ้น ต้นทุน การขนส่ง และสินค้า แม้ว่าสินค้าราคาจะแพงขึ้นแต่กำไรก็ไม่ได้มากตาม

ขณะที่เศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวและการเกษตร รายได้ของประเทศติดลบ ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อน และราคาน้ำมันแพง สินค้าส่งออกในตอนนี้ก็เหลือเพียงไม่กี่ตัวเช่น ยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ได้กระจายรายได้ให้คนไทยเท่าที่ควร ดังนั้นถ้าเราไม่รีบแก้ Perfect Storm ทุกอย่างมันอาจจะพังลงได้ง่าย รัฐบาลต้องทำทุกอย่างให้คนกลับมาใช้ชีวิตและทำมาหากินได้ตามปกติให้ได้เร็วที่สุด 

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของโลกคือ วิกฤติอาหาร ซึ่งข้อนี้เป็นโอกาสของไทย รัฐบาลต้องส่งเสริมการเกษตรให้มีการผลิตที่มีคุณภาพและได้ปริมาณมากขึ้น เพื่อยกระดับราคาและป้อนสู่ตลาดโลก แต่ในทางตรงกันข้าม คุณภาพข้าวของไทยกับแย่กว่าเวียดนามหรือกัมพูชาไปเรื่อยๆ เพราะรัฐไทยดูแลการเกษตรตามยถากรรม ซึ่งสุพันธุ์เสนอการทำโซนนิ่งการเพราะปลูกตามภูมิภาค เพื่อควบคุมคุณภาพ จัดสรรการส่งออกต่างประเทศและบริโภคภายในประเทศ และการจัดการระบบน้ำให้เพียงพอต่อการทำเกษตรก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และการผลิตปุ๋ยจากแร่โพแทสเซียมภายในประเทศในช่วงที่ประเทศส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ อย่าง รัสเซียและเบลารุสโดนแซงชั่น

การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐไม่ตอบโจทย์ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะเป็นการใช้เงินจ่ายโครงการคนละครึ่ง หรือพยุงราคาน้ำมัน ซึ่งมันพยุงได้ไม่นาน เพราะสงครามยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ ในทางกลับกันรัฐบาลต้องเน้นการเพิ่มรายได้ และทำให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น เช่น การจัดการระดับโลกในประเทศไทย โปรโมทการท่องเที่ยว ให้ชาวต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ โดยแนวคิดหลักคือ การทำให้ประชาชน ‘ขายของได้มากขึ้นและต้นทุนลดลง’ โดยเฉพาะกฎหมายที่ล้าหลังและเป็นอุปสรรค์ในการทำมาหากินต้องรีบแก้ไข เปิดประเทศก็ต้องเปิดจริง ไม่ใช่มาแบ่งสี บังคับใช้กฎระเบียบคนละแบบ ไม่ชัดเจน ผู้ประกอบการและผู้บริโภคก็ไม่แน่ใจ เศรษฐกิจมันก็ไม่โตได้จริงๆ