เนื่องในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) The Opener สัมภาษณ์พิเศษ ‘เพนกวิ้น พริษฐ์ ชิวารักษ์’ นักกิจกรรมขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่นิยามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองว่าเป็น LGBT พร้อมขอล้างภาพว่า LGBT ไม่จำเป็นต้องยอมจำนนต่อเผด็จการ
พริษฐ์ กล่าวว่า เขาภาคภูมิใจและไม่เคยอับอายเกี่ยวกับเพศที่เป็น แต่ว่ารู้สึกว่าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิ่งที่เอาไปต่อสู้ไม่ใช่เพศของเรา มันคือความคิด ไม่อยากจะให้เรื่องเพศมาส่งผลต่อการต่อสู้ของตัวเองไม่ว่าจะในทางบวกหรือทางลบ พร้อมย้ำว่า คนเราควรจะถูกตัดสินจากสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่สิ่งที่เขาเป็น เพนกวิ้นบอกว่า อย่างมากเราก็แค่รู้สึกว่าอาจจะได้มีประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นว่ามีนักต่อสู้หรือนักประชาธิปไตยที่มีบทบาทและเป็น LGBT เพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง
ตัวตนกับการต่อสู้ทางการเมือง
พริษฐ์ เปิดเผยว่า ตอนที่เริ่มเคลื่อนไหวใหม่ๆ ก็เคยมีความกังวลว่าทำงานกับสาธารณชน คนที่เขาเข้าใจเรื่องสิทธิ์ความหลากหลายก็มี ที่ไม่เข้าใจก็มีเยอะ ต้องทำงานกับคนทั้งสองกลุ่ม จะเอายังไงดี เพราะในอดีตก็เคยมีกรณีว่า พี่น้องที่รักประชาธิปไตยหลายๆ คนเคยออกมาต่อต้าน ดร.เสรี วงษ์มณฑา, ม้า อรนภา, ฯลฯ จนสังคมเข้าใจไปว่าเสื้อแดงไม่ชอบกะเทย แต่พอได้คุยกับพี่น้องเสื้อแดงจริงๆ ถึงเพิ่งรู้ว่า เขาไม่ได้มีปัญหากับ LGBT แต่เขามีปัญหากับตัวบุคคล และพี่น้องเสื้อแดงเองที่เป็น LGBT ก็มี และในทางกลับกัน เราควรจะกู้หน้าด้วยซ้ำว่า LGBT ไม่ได้อยู่ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการเสมอไป “เราจะหลับตาแล้วนึกถึง LGBT ที่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้เลยเหรอ?” พริษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่า เคยโดนวิจารณ์ว่าเพนกวิ้นเคยแต่งหญิงล้อเลียน LGBT ในม็อบต่างๆ รู้สึกยังไง? พริษฐ์ อุทานว่า “แม่ นี่ลูกเอง” พร้อมกับหัวเราะ ก่อนที่จะพูดต่อไปว่า ทุกวันนี้ คนยังเข้าใจว่าตัวเองเป็นชายแท้แล้วเป็นแฟนกับรุ้ง ปนัสยา อยู่เลย เพราะในม็อบ เพนกวิ้นก็เรียกตัวเองว่าเป็นผม แล้วก็ลงท้ายตัวเองด้วย ‘ครับ’ แต่ก็มีอารมณ์ครึ้มอกครึ้มใจที่อยากแต่งตัวอย่างที่อยากจะแต่งบ้าง ซึ่งก็เป็น Gender อย่างหนึ่ง ทั้งนี้เราสู้กันมาตลอดว่าเพศไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามกรอบ และเราก็ไม่ควรใส่กรอบกันเอง
เพศกับการกดทับทางการเมือง
พริษฐ์ รู้สึกดีใจที่ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีกลุ่ม LGBT มาร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกลุ่มที่เรียกร้องเรื่องเพศโดยตรง และกลุ่มที่เป็นการรวมตัวของ LGBT แต่พูดเรื่องประชาธิปไตยและการเมือง ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องมาจากการถูกกดทับมาเป็นเวลานาน จึงถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นสู้ ซึ่งต้องขอบคุณโซเชียลมีเดียที่ทำให้เป็นว่าความจริงแล้วกันกดทับมีอยู่ทุกที่ในสังคมแต่แค่เปลี่ยนรูปแบบออกไป ไม่ว่าจะเป็น ผู้หญิง, นักเรียน, แรงงาน, หรือ LGBT ซึ่งทุกคนถูกกดขี่จากรัฐเผด็จการและโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่เหมือนกัน จึงออกมารวมตัวกันเพื่อสู้กลับ
“ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ พวกเราถูกเลือกปฏิบัติมาตั้งแต่เกิด ด้วยเหตุผลที่ไม่มีอะไรเลย นอกจากเราเป็นในสิ่งที่พวกเราเป็น...พวกใจตุ๊ด เขาด่ากันแบบนี้ สมัยก่อนผมก็โดน คำถามคือโอเคเป็นตุ๊ด แต่ว่าใจนี่คืออะไร ใจตุ๊ดนี่ไม่ควรจะมีความหมายอะไรมากกว่าชอบผู้ชาย มันไม่ได้แปลว่าอ่อนแอ ผมคิดว่าการลุกขึ้นมาต่อสู้ของ LGBT หลายๆ คนมันก็เป็นการพิสูจน์ว่าการเป็น LGBT ไม่ได้จำเป็นว่าคุณต้องอ่อนแอไปตั้งแต่ต้น” พริษฐ์ กล่าว
เราจะเห็นได้ว่าเผด็จการทหารมันคือเพศชายเพศเดียว เวลาเราพูดถึงทหารเราจะนึกถึงคนบุคลิกแบบไหน? วงการนี้นำโดยผู้ชายมากๆ และเมื่อประเทศที่ถูกปกครองด้วยทหาร เราจึงไม่เห็นสิทธิความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิงต้องอยู่ในกรอบของ ‘หญิงไทยใจงาม’ ส่วน LGBT ก็ต้องเป็นคนดีย์ ตามแบบที่เขากำหนดถึงจะได้รับอนุญาตให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองหรือวงที่ปกติจะมีแต่ผู้ชายเท่านั้น แต่สำหรับพริษฐ์ เขาไม่ต้องการไปร้องขอระบบเพื่อที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม
คุกและกำไล EM ตรวนเสรีภาพ แต่ไม่สามารถกักขังอุดมการณ์
พริษฐ์ เล่าประสบการณ์ที่ถูกฝากขังในเรือนจำว่า ในคุกเขาใช้คำว่าเราไม่แมน และเขาก็จะทำแบบเราเป็นผู้หญิง บางทีมันก็จะอึดอัดใจนิดหน่อย แต่เรื่องอื่นๆ ด้วยความที่ตัวเองเป็นนักโทษการเมืองและไม่ยอมต่ออำนาจจึงสามารถโต้เถียงด้วยเหตุผลและหาทางเอาตัวรอด แต่อีกหลายคนทั้ง LGBT และผู้ชายที่มีลักษณะผิวขาว หน้าหวาน ก็อาจจะถูกล่วงละเมิดทางเพศและเป็นเครื่องมือทางอำนาจของผู้ต้องขังด้วยกัน
และหลังจากศาลให้ประกันตัว ออกมาใช้ชีวิตข้างนอก เขาตจ้องใส่กำไล EM ที่ข้อเท้าเป็นเหมือนตรวนที่ตามติดเราตลอด เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ แม้กระทั่งตอนนี้ที่เราคุยกันและค่อนข้างจะวิพากษ์รัฐ มันก็มาอยู่ตรงนี้กับเราที่ข้อเท้า เพื่อเตือนว่าเอ็งจะพูดอะไร เอ็งจะทำอะไร เอ็งนึกถึงข้า ข้าควบคุมชีวิตเองอยู่ นอกจากนี้มันยังทำให้การใช้ชีวิตยากขึ้น เช่น กำไลส่งเสียงดังเวลาแบตจะหมด ทั้งตอนอยู่ในโรงหนัง ห้องเรียน หรือตอนนอน และใช้เวลาชาร์จแบตนานเกือบชั่วโมง ขณะชาร์จแบตเครื่องก็ร้อน แต่ถอดออกไม่ได้ หลายครั้งก็บาดขาจนเป็นแผล และที่แย่ไปกว่านั้นคือทำให้พริษฐ์ขึ้นเครื่องบินไม่ได้ ยกตัวอย่าง เขาจะกลับไปเยี่ยมปู่ที่อายุมากแล้วอยู่ภาคเหนือ ก็ไปไม่ได้ ต้องขออนุญาตศาลก่อน ซึ่งถ้าเกิดฉุกเฉินป่วยไข้ เขาก็ไปไม่ได้ทันที นี่ยังไม่รวมเรื่องจำกัดเวลาออกจากบ้าน หรือคนที่ต้องไปทำงานแบบมีกำไลที่ข้อเท้าก็จะยิ่งยกาเข้าไปอีก
เมื่อถามว่ารู้สึกสิ้นหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองหรือไม่ พริษฐ์ ยืนยันว่าไม่ เขาบอกว่าเพราะเราทุกคนเป็นผู้ถูกกดขี่เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวเองหรือรวมถึงพี่น้องที่เขาไปสนับสนุนฝั่งเผด็จการ แต่การกดขี่ที่น่ากลัวที่สุดคือการกดขี่ด้วยสำนึก ซึ่งถ้าเราไม่ถูกกดขี่โดยสำนึกอย่างน้อยเรายังมีโอกาสที่จะสู้ และยังมีโอกาสชนะ
“กำไล EM เนี่ย ผมก็อยากจะรู้ว่ามันจะล่ามผมไว้ได้นานเท่าไรกันเชียว อย่างมากก็ปีสองปี แต่ความหลงผิดที่ว่า เขาขังเรามาเป็น 10-20 ปี ใช้เวลาเป็นรุ่นๆ เลยกว่าจะปลดกันได้” พริษฐ์ กล่าว