Skip to main content

สรุป

  • จ๊อบส์ ดีบีเปิดเผยรายงานอัตราเงินเดือนชี้ให้เห็นแนวโน้มว่า สายงานไอทีกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด
  • หลังโควิด-19 หลายบริษัทเลือกรับฟรีแลนซ์มากกว่าพนักงานประจำ
  • สายงานเกี่ยวกับท่องเที่ยวอาจกลับมาได้ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว
  • ทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการคือ ภาษาอังกฤษและความยืดหยุ่น

“พอบริษัทจะลดจำนวนคนลง หมายความว่า คนที่มีอยู่จะต้องทำงานได้เพิ่มขึ้น มีทักษะเพิ่มขึ้น มีความยืดหยุ่นมากขึ้น”


จ๊อบส์ ดีบี แพลตฟอร์มหางานชั้นนำของเอเชีย เปิดเผยรายงานอัตราเงินเดือนของพนักงานไทยประจำปี 2564 โดยแบ่งตำแหน่งงานออกเป็น 4 ระดับได้แก่ ระดับเจ้าหน้าที่ ระดับหัวหน้างาน ระดับผู้จัดการ และระดับผู้บริหาร และพบว่า อันดับสายงานที่มีฐานเงินเดือนที่สูงสุดในแต่ละระดับแสดงให้เห็นเทรนด์ของตลาดแรงงานอย่างชัดเจนว่ากำลังมุ่งไปสู่ด้านเทคโนโลยี


พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จ๊อบส์ ดีบีอธิบายว่า หากเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะเกิดโรคระบาดโควิด-19 จะเห็นได้ว่า ปีนี้สายงานด้านไอทีเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น สังเกตได้จากฐานเงินเดือน


ระดับเจ้าหน้าที่ 
1. สายงานไอที มีฐานเงินเดือน 23,225 – 41,122 บาท 
2. สายงานบริการเฉพาะทาง เช่น ทนาย นักแปล เป็นต้น มีฐานเงินเดือน 22,872 – 39,331 บาท 
3. สายงานโทรคมนาคม มีฐานเงินเดือน 22,785 – 38,612 บาท


ระดับหัวหน้างาน
1.สายงานอีคอมเมิร์ซ เงินเดือน 36,857 – 64,787 บาท
2. สายงานโทรคมนาคม เงินเดือน 36,541 – 67,137 บาท
3. สายงานไอที เงินเดือน เงินเดือน 36,533 – 66,920 บาท


ระดับผู้จัดการ
1. สายงานประกันภัย เงินเดือน 55,762 – 90,716 บาท
2. สายงานไอที เงินเดือน 54,435 – 93,324 บาท
3. สายงานธนาคาร เงินเดือน 52,933 – 94,481 บาท


ระดับผู้บริหาร
1.สายงานบริการเฉพาะทาง เงินเดือน 113,563 – 164,071 บาท
2.สายงานอีคอมเมิร์ซ เงินเดือน 113,271 – 161,588 บาท
3.สายงานธนาคาร เงินเดือน 112,917 – 165,114 บาท

 

พรลัดดาอธิบายข้อมูลนี้ว่า “ในระดับเจ้าหน้าที่ หรือ คนที่มีประสบการณ์การทำงานไม่ค่อยเยอะ สายงานทางด้านไอที จาก 2 ปีที่แล้วอยู่อันดับ 3 ในแง่เงินเดือน ปีนี้ไต่มาเป็นอันดับ 1 แค่ระดับเจ้าหน้าที่ ส่วนระดับหัวหน้างาน เราก็เห็นแล้วว่าจาก 2 ปีที่แล้ว ทางด้านไอที ดิจิทัลเหมือนกัน เขาอยู่อันดับ 6 ปีนี้เขาไต่มาอยู่อันดับ 2 ส่วนระดับผู้จัดการ และผู้จัดการระดับสูง จาก 2 ปีที่แล้วไม่ได้ติดอยู่ใน 10 อันดับแรก ปีนี้ติดอันดับแล้ว”


“อีกสายงานหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ โทรคมนาคม โทรคมนาคมก่อนหน้านี้ 2 ปีที่แล้ว ไม่อยู่ใน 10 อันดับด้วยซ้ำนะคะ แต่ปีนี้กลับเข้ามาอยู่ใน 5 อันดับแรก” 


“ธุรกิจทางด้านธนาคารเริ่มกลับเข้ามาแล้ว สมัยก่อน ธนาคาร หลายคนอาจธนาคารน่าจะย่ำแย่ อ๋อ ดิจิทัลเข้ามาแทนที่ สาขาปิดตัว ใช้คนน้อยลง เมื่อ 2 ปีที่แล้วอาจจะเป็นอย่างนั้น เพราะสายงานธนาคารไม่ได้อยู่ใน 10 อันดับแรก แต่ปีนี้เขาดีดกลับขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ 5 อันดับแรกเลย เพราะว่าหลังจากที่เขาเปลี่ยนแปลงตัวเขาเองแล้วเนี่ย ใช้ดิจิทัลเข้ามาแล้ว เขาก็มีการจ้างงานหรือจ้างคนในระดับที่มีทักษะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทักษะทางด้านเทคโนโลยี”


“พอข้อมูล 3 ชุดนี้ เอามารวมกัน ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่า อะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมันมาแล้วล่ะ มันมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วละล่ะ แต่พอปีนี้ หลังจากโควิดปุ๊บ ภาพมันชัดขึ้น เพราะคนทำงานจากบ้าน บริษัทอาจจะลดการจ้างคน แต่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ใช้ระบบทุกอย่างเข้ามาช่วย ภาพมันชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น คนที่อยู่ในสายงานนี้เป็นที่ต้องการ เงินเดือนมากขึ้น”


ทั้งนี้ ช่วงหลังโควิด-19 ระบาด ก็ทำให้ภาพของการจ้างงานเปลี่ยนไปจากเดิม โดยบริษัทจำนวนมาก เลือกที่จะจ้างฟรีแลนซ์มาทำงาน มากกว่าการรับพนักงานประจำ เพื่อให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดต้นทุนให้ได้มากที่สุด


“สมัยก่อนบริษัทเขาจะมองว่า ฉันอยากจะได้พนักงานประจำ พอผ่านช่วงโควิด มันเป็นช่วงที่ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก สายป่านยังไม่พอ หรืออาจจะมีเงินทุนไม่เท่าไหร่ หมุนเวียนไม่เท่าไหร่ พอเขาโดนผลกระทบทางด้านนี้ เขาต้องระงับคน หรือให้พนักงานออก เขาก็จะหันมาคิดทบทวนแล้วว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีอีกรอบหนึ่ง เขาจะเอาตัวรอดได้ยังไง หรือเขาจะเอาธุรกิจอยู่รอดได้ยังไง"

"ดังนั้น บางหน้าที่ บางสายงาน โดยเฉพาะสายงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล เขาอาจจะไป outsource อาจจะใช้ฟรีแลนซ์แทน มาช่วยเสริมหน้าที่ตรงนี้ เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นปุ๊บ เขาสามารถยุติการทำงานได้ทันที เพราะว่าไม่ใช่พนักงานประจำ”


งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวลดลง แต่ยังมีหวังจะฟื้นกลับมาได้


เมื่อโควิด-19 ระบาด สายงานที่ได้รับผลกระทบหนักมากก็คือ สายงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมด แต่พรลัดดาก็เชื่อว่า เมื่อมีวัคซีนแล้ว สายงานเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการของตลาดอีกครั้ง


“คนเราไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศกันได้เหมือนสมัยก่อน ทำธุรกิจไม่ได้ ท่องเที่ยวไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธุรกิจหรือสายงานด้านนี้โดนกระทบแน่นอน 100% ภาพที่เราเคยเห็นเขาติดอันดับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปีนี้ไม่มีอยู่ใน 10 อันดับแรกเลย” 


“ปีที่แล้ว มันโควิดเนอะ จีดีพีประเทศไทยมันติดลบด้วย จีดีพีประเทศไทยติดลบประมาณ อันนี้คาดการณ์ล่าสุด -6.1% แต่จีดีพีไทยปีนี้จะเป็นบวก เขาคาดการณ์ว่าจะเป็นบวก พอเป็นบวก หมายความว่า หลายๆ อย่างมันจะเริ่มดีขึ้น อาจจะไม่เหมือนเดิมก่อนโควิด แต่ก็เริ่มกลับมาแล้ว”


“พอเศรษฐกิจดีแล้ว ธุรกิจโรงแรม สายการบินก็จะค่อยๆ ฟื้นตัว รายงานเรื่องรายได้ปีหน้า ก็อาจจะเห็นเขากลับเข้ามาติด [อันดับ] เผลอๆ การเติบโตเขาจะกระโดดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะปีที่แล้วกับปีนี้เขาตกลงไป”

 

คนที่ไม่อยู่ในสายงานไอทีก็ยังมีความสำคัญ


แม้ตลาดแรงงานดูเหมือนจะเน้นไปด้านไอทีมากขึ้นเป็นพิเศษ แต่พรลัดดายังยืนยันว่า คนที่ไม่ได้อยู่ในสายไอทีก็ยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอยู่ และยังมีงานรองรับอยู่ โดยสายงานที่ติด 10 อันดับแรกก็มีสายงานหลากหลาย นอกเหนือจากด้านไอที


“เราเคยทำสำรวจ หรือว่าทำวิจัยเรียนคนจบการศึกษา กับการทำงาน อีกอันนึงที่เราเห็นชัดๆ เลยก็คือ ทั้งประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งแระเทศไทยเนี่ย คนเรียนทางด้าน การศึกษา สายงานทางด้านการศึกษาเยอะมาก แต่การทำงานจริง ส่วนใหญ่คนเรียนทางด้านนี้ ส่วนใหญ่ก็จะออกมาเป็นครู เป็นอาจารย์ แต่การทำงานจริง อุปสงค์อาจจะน้อยกว่าอุปสงค์”


“ที่พูดถึงเทคโนโลยี ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนหลังจากนี้ไปจะต้องหันมาทำงานทางด้านนี้ เพียงแต่ว่าชุดข้อมูลมันบอกกับเรามาว่าเทรนด์มันมาแบบนี้ จบสายงานอื่นก็ยังจำเป็นอยู่ 3 อันดับแรก ที่เราเห็นในแพลตฟอร์มเราเลยเนี่ย ก็คือ 1. สายงานไอที 2. งานขาย งานบริการ งานบริการลูกค้า การพัฒนาธุรกิจ 3. วิศวกรรม 10 อันดับแรกก็ยังมีสายงานอื่นๆ อยู่”


“ให้มองในภาพรวม อย่างเช่น เวลาการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจมันใช้เวลาแค่ปี 2 ปี ธุรกิจเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่คนที่เรียน กว่าเขาจะจบมา เขาใช้เวลา 4 ปี กว่าจะ 4 ปีป้อนคนเข้ามา ยังไงก็ไม่ทัน อันนี้ถึงได้บอกว่า มันมีการขาดแคลนบุคลากรในสายงานนี้อยู่”


ทักษะที่สำคัญคือ ภาษาและความยืดหยุ่น


พรลัดดากล่าวว่า ทักษะที่ควรมีเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ได้แก่ ภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนไปที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19


“ข้อเสียเปรียบของประเทศไทยนิดนึง อาจจะสู้มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง หลายๆ ประเทศแถบนี้ยังไม่ได้ ในเรื่องภาษาอังกฤษ เรามีจุดเด่นเรื่องอื่นก็จริง แต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราควรปรับปรุง ดังนั้น ไม่ว่าจะทำงานสายไหน ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับหนึ่ง” 


“แม้กระทั่งไอทีหรือสายงานด้านเทคโนโลยีที่บอกไปว่า มันขาดแคลน แต่มันไม่ใช่การขาดแคลนแค่ในประเทศไทย แต่เป็นการขาดแคลนทั่วโลก ความเสี่ยงในการตกงานของคนสายงานทางด้านไอทีจะค่อนข้างน้อย แต่ถ้าเขาไม่พัฒนาทางด้านภาษา อย่าเพิ่งสบายใจไป

"บริษัทที่ต้องการคนทางด้านเทคโนโลยี เขาสามารถไปจ้างคนจากต่างประเทศมาได้เลย ทำงานที่ต่างประเทศก็ได้ เพราะว่าการใช้เทคโนโลยี เขาไม่จำเป็นจะต้องมานั่งทำงานในออฟฟิศเดียวกัน สั่งงานผ่านออนไลน์ วิดีโอ ประชุมออนไลน์ เขาก็ทำงานเสร็จ ปึ้ง ภาษาอังกฤษเขาก็ได้”


“ส่วนความยืดหยุ่น เราเห็นแล้วว่า ช่วงโควิด พอบริษัทจะลดจำนวนคนลง หมายความว่า คนที่มีอยู่จะต้องทำงานได้เพิ่มขึ้น มีทักษะเพิ่มขึ้น มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะไม่ใช่ว่า ฉันถูกจ้างงานมาด้วยหน้าที่งานแบบนี้ จะให้ฉันทำงานอีกแบบนึง ฉันไม่ทำ มันจะไม่ใช่ภาพนั้น”