Skip to main content

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565 ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านคนพิการของกรุงเทพมหานคร โดยมี ภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, อณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านคนพิการของกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจาก 50 เขต เข้าร่วมประชุม ณ ห้องปัญญพัฒน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และผ่านระบบการประชุมทางไกล

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สำหรับวันนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายการจ้างงานคนพิการ จำนวน 306 คน คือ เขตละ 6 คน และสำนักพัฒนาสังคม 6 คน ซึ่งในการจ้างงานผู้พิการนั้นเป็นการเปิดกว้างไม่จำกัดวุฒิในการรับสมัคร ทั้งนี้ที่ผ่านมามีผู้สมัครทั้งไม่มีวุฒิทางการศึกษาและมีวุฒิการศึกษาระดับต่าง ๆ โดยในการดำเนินการจ้างงานผู้พิการนั้นจะคำนึงถึงศักดิ์ศรีและความสามารถของผู้พิการเป็นสำคัญ ลักษณะงานที่ทำจะเปิดกว้าง จะดูจากความรู้ความสามารถขอผู้พิการเป็นที่ตั้ง เบื้องต้นอาจเป็นการให้ช่วยงานด้านคนพิการและด้านสังคมในพื้นที่เขต รวมไปถึงความสามารถด้านอื่นๆ ที่ผู้พิการมีด้วย 

ศานนท์ กล่าวต่อว่า จากการเปิดรับสมัครที่ผ่านมาขณะนี้บางเขตมีผู้สมัครเกินจำนวนที่รับ บางเขตมีผู้สมัครไม่ครบ ส่วนหนึ่งคาดว่าอาจเกิดจากความไม่สะดวกของผู้พิการที่จะเดินทางมายังสำนักงานเขต จึงจะมีการเปิดรับสมัครเพิ่มเติมโดยปรับวิธีการรับสมัครเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้พิการสามารถสมัครผ่านออนไลน์หรือ Google Form ได้ และสัมภาษณ์งานทางออนไลน์ รวมถึงปรับไฟล์เอกสารการรับสมัครจาก PDF เป็น Word เนื่องจากผู้พิการทางสายตาไม่สามารถอ่านข้อความที่เป็น PDF ได้ และข้อดีของการรับสมัครออนไลน์คือจะมีข้อมูลรวมเป็นส่วนกลางให้สำนักงานเขตต่าง ๆ สามารถเข้ามาดูข้อมูลได้ว่ายังขาดผู้ที่จะมาทำงานด้านใด สำหรับเขตไหนที่ยังผู้สมัครไม่ครบตามที่กำหนดก็จะมีการเปิดรับสมัครต่อเนื่องต่อไป ส่วนเขตไหนที่มีผู้สมัครแล้วหรือสามารถจ้างงานผู้พิการได้ก่อนก็จะเริ่มจ้างงานได้ตั้งแต่เดือน ส.ค. 65 
    
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานว่า ขณะนี้มีผู้พิการสมัครเข้าทำงาน จำนวน 9 เขต ได้แก่ เขตบางขุนเทียน 3 ราย เขตปทุมวัน 6 ราย เขตหลักสี่ 8 ราย เขตบางเขน 6 ราย เขตจตุจักร 7 ราย เขตสัมพันธวงศ์ 2 ราย เขตคันนายาว เขตราษฎร์บูรณะ 7 ราย โดยผู้พิการที่สมัครงานมีหลายประเภทความพิการ อาทิ ผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ผู้พิการทางการเห็น ผู้พิการทางสติปัญญา ผู้พิการออทิสติก ผู้พิการทางจิตใจ และผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งสำนักพัฒนาสังคมจะประสานกับสมาคมคนหูหนวกในการจัดหาล่ามภาษามือเพื่อช่วยเหลือในการสื่อสารคนพิการทางการได้ยิน อีกทั้งเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์การจ้างงานผู้พิการให้กว้างขวางมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรคนพิการต่าง ๆ นอกจากนี้สำนักพัฒนาสังคมจะทำเรื่องขอจัดสรรงบประมาณสำหรับการจ้างงานผู้พิการอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณต่อไป เพื่อให้สามารถจ้างงานผู้พิการตามที่กำหนดไว้เขตละ 6 คน และได้รับค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา 

สำหรับการกำหนดลักษณะงานของผู้พิการที่เหมาะสมนั้นทีมที่ปรึกษา คณะกรรมการ สำนักพัฒนาสังคม จะร่วมกันออกแบบลักษณะงานที่เหมาะสม เพื่อให้สำนักงานเขต ใช้เป็นแนวทางสำหรับการกำหนดตำแหน่งงานคนพิการ ยึดหลักกรอบแนวนโยบาย 5 ดี มีกรอบแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 1. การจัดการฐานข้อมูลการรับสมัครงานคนพิการ 2. การประชาสัมพันธ์ 3. การรับสมัครงาน และการคัดเลือกคนพิการเข้าทำงาน 4. การจัดคนพิการเข้าทำงานเหมาะสมกับความสามารถของคนพิการ และการเตรียมพร้อมของคนพิการเหมาะสมกับลักษณะงาน และ 5. การติดตามและขยายผลการจ้างงานคนพิการอย่างยั่งยืน