Skip to main content

สรุป

  • 'จ๊อบส์ ดีบี' องค์การด้านการสรรหาบุคลากรออนไลน์ เผยว่าพบสัญญาณสะท้อนการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในไทยผ่านจำนวนความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ  โดยในเดือน ก.พ. 2564 จำนวนความต้องการแรงงานในไทยทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางานและช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.65 จากจุดต่ำสุด   
  • กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ 2) สายงานไอที 3) สายงานวิศวกรรม
  • คาดการฟื้นตัวของตลาดแรงงานจะกลับมาเท่ากับก่อนวิกฤตการณ์โควิด-19 ในต้นปี 2565 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่ 
  • ไทยยังคงต้องการแรงงานทักษะสูง แต่แรงงานทักษะสูงของไทยจำนวนมากพร้อมทำงานให้ต่างชาติ 
  •  'จ๊อบส์ ดีบี' พัฒนาโครงการ 'ยกระดับความรู้ ก้าวสู่งานที่ใช่' เปิดคอร์สออนไลน์ 80 คอร์สให้คนไทยได้ลงเรียนเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการหางาน พร้อมปรับหน้าเว็บ พัฒนาฟีเจอร์ให้จับคู่งานกับคนได้มีประสิทธิภาพแม่นยำมากขึ้น 

'จ๊อบส์ ดีบี' องค์การด้านการสรรหาบุคลากรออนไลน์ เปิดข้อมูลการประเมินแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤต พบว่าในเดือน ก.พ. 2564 จำนวนความต้องการแรงงานในประเทศไทยทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางานและช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่นๆ  ฟื้นขึ้นจากจุดต่ำสุดถึงร้อยละ 24.65 สะท้อน ให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานไทยผ่านจำนวนความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ ว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดช่วงเดือน เม.ย. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ภาคธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก และเดือน ธ.ค. 2563 จากการระบาดระลอก 2 

คาดการณ์ว่าจำนวนประกาศงานทั้งประเทศจะกลับมาเป็นบวกร้อยละ 5 ในกลางปี 2564  เมื่อเทียบกับกลางปี 2563 และจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนวิกฤตโควิด-19 ในต้นปี 2565 ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยว่าต้องไม่มีข่าวร้ายเข้ามา นั่นคือไม่มีการระบาดระลอกใหม่ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเป็นไปตามคาดการณ์ว่าจีดีพีปี 2564 จะกลับมาเป็นบวก โตร้อยละ 2.5-3.5 เป็นต้น
 

ส่วนเรื่องความต้องการแรงงานเมื่อแบ่งตามสายงานจากจำนวนประกาศบนจ๊อบส์ ดีบี ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ พบว่ากลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 

1) สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 16
2) สายงานไอที คิดเป็นร้อยละ 14.7
3) สายงานวิศวกรรม คิดเป็นร้อยละ 9.8 

ขณะที่การฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มสายงาน พบว่ากลุ่มสายงานที่มีการประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งหลังปี 2563 ได้แก่ 

1) สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ คิดเป็นร้อยละ 29.7
2) สายงานขนส่ง คิดเป็นร้อยละ 24.7 
3) สายงานการผลิต คิดเป็นร้อยละ 20.8 ซึ่งนี่สะท้อนว่ากลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเริ่มฟื้นตัว กลับมาเดินหน้าจ้างคน 

อย่างไรก็ตาม สายงานที่ยังน่าห่วงคือ สายงานภาคท่องเที่ยว โรงแรม ที่ยังติดลบร้อยละ 20  นอกจากนี้ข้อมูลจาก 'จ๊อบส์ ดีบี' ยังพบว่าจากอุปสงค์ที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตโควิด-19ก็ทำให้มีสายงานหรือตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น  ซึ่งมักอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี/ไอที และการบริหารจัดการธุรกิจ เช่น ตำแหน่ง นักพัฒนาเอไอ ที่ปรึกษาด้านบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญด้าน Business Transformation การรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ไปจนถึงตำแหน่งเจ้าหน้าที่และประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเติบโต (Growth Officer/Chief of Growth) ซึ่งมีหน้าที่ในการมองกลยุทธ์ของบริษัทว่าหากจะเดินหน้าไปในอนาคตจะต้องพัฒนาอะไรบ้าง เป็นต้น 

ทั้งนี้ จ๊อบส์ ดีบี ระบุว่าจำนวนใบสมัครงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เฉลี่ยประมาณ 1 ล้านใบต่อเดือน ส่วนอัตราการแข่งขันหางานของคนไทยมีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ประกาศงานต่อ 100 ใบสมัครในช่วงวิกฤตโควิด-19 และในภาวะที่การจ้างงานค่อยๆ ฟื้นตัว การแข่งขันกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท 

'คนไอที' มนุษย์ทองคำในยุคนี้  

'พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์' ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า จากรูปแบบธุรกิจยุคใหม่ วิถีการสื่อสารในสมัยใหม่และอยู่ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ออโตเมชั่น และความปลอดภัยของข้อมูล ทำให้สายงานฝั่งไอทีและเทคโนโลยีจึงเป็นที่ต้องการสูง ไม่เฉพาะธุรกิจไอทีเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมถึงหน่วยไอทีในหลายธุรกิจด้วย และจากข้อมูลของจ๊อบส์ ดีบี ที่สำรวจ 10 สายงานซึ่งได้เงินเดือนสูงสุด ก็พบว่าสายงานไอทีติดอันดับในทุกโผ ทั้งระดับเจ้าหน้าที่ หัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้บริหาร โดยในระดับเจ้าหน้าที่หรือคนที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน พบว่าพนักงานไอทีและโปรแกรมเมอร์ ได้รับเงินเดือนประมาณ 23,000-41,000 บาท ส่วนระดับผู้บริหารอยูที่กว่า 105,000-160,000 บาท  

อย่างไรก็ตาม แม้มีความต้องการในตลาดสูง แต่การผลิตบุคลากรด้านไอทีและเทคโนโลยีจากภาคการศึกษาของไทยยังไม่สอดคล้องกับความต้องการนี้ โดยพบว่า 5 อันดับคณะที่นักศึกษาไทยจบการศึกษามากที่สุดในปี 2563 ได้แก่ บริหารธุรกิจ  คณะสายสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์/นิเทศน์ศาสตร์  คณะศึกษาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และไอที 

ไทยยังต้องการแรงงานทักษะสูง แต่แรงงานทักษะสูงของไทยพร้อมทำงานให้ต่างชาติ  

ข้อมูลจ๊อบส์ ดีบี ระบุว่าประเทศไทยยังคงต้องการแรงงานทักษะสูงจำนวนมาก ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์และภาษา แต่ทักษะแรงงานของไทยกว่าร้อยละ 70  เป็นกลุ่มทักษะปานกลางถึงต่ำ และแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา 

ในขณะที่ไทยต้องการแรงงานทักษะสูง ในด้านกลับกันก็พบว่าแรงงานไทยที่มีทักษะสูง ได้ภาษาก็พร้อมที่จะทำงานให้ต่างชาติ โดยผลสำรวจระดับโลก 'ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทำงานยุคใหม่' (Global Talent Survey) ฉบับที่ 1 ที่จ๊อบส์ ดีบี ร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป และเดอะ เน็ตเวิร์ก โดยสำรวจความเห็นคนกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศทั่วโลกรวมถึง 2,800 คนในไทย ในหัวข้อ 'Where-ประเทศที่คนอยากทำงาน และการทำงานแบบเวอร์ชวล' พบว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 คนสนใจหันมาทำงานแบบเวอร์ชวล หรือการทำงานแบบทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานและติดต่อสื่อสาร โดยร้อยละ 57  ของคนทำงานทั่วโลกยินดีทำงานให้กับบริษัทที่อยู่ต่างพื้นที่ และร้อยละ 50 ของคนไทยอยากทำงานทางไกลให้กับองค์กรที่เปิดโอกาส โดย 3 อันดับประเทศที่คนไทยอยากทำงานกับนายจ้างผ่านทางไกลด้วยมากที่สุด คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ตามลำดับ ส่วน 3 อันดับแรงงานต่างชาติที่อยากทำงานแบบทางไกลให้กับบริษัทที่อยู่ในไทย ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และรัสเซีย 

ขณะเดียวกัน ก็พบว่าจากการสำรวจใน 23 สายงาน พบว่ามีถึง 19 สายงาน ที่แรงงานไทยเกินครึ่งอยากไปทำงานต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่แรงงานจากต่างชาติก็พุ่งความสนใจอยากมาทำงานให้บริษัทในไทยเพิ่มมากขึ้น โดย 5 อันดับแรกที่อยากเดินทางมาทำงานในไทย ได้แก่แรงงานจากสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน อินโดนีเซียและรัสเซีย ตามลำดับซึ่งเป็นการเปลี่ยนทิศทางจากแรงงานทั่วไป มาเป็นแรงงานทักษะสูง 

ผู้จัดการประจำประเทศไทยของจ๊อบส์ ดีบี ระบุว่า จากปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานไทยพร้อมจะทำงานให้กับต่างชาติถ้าพวกเขามีทักษะพร้อม ส่วนแรงงานต่างชาติก็พร้อมเข้ามาแข่งขันกับแรงงานในไทย โดยเฉพาะปัจจุบันที่การทำงานผ่านทางไกลเริ่มกลายเป็นวิถีใหม่ ดังนั้น เมื่อโลกการทำงานเปลี่ยนไปทั่วโลก ทุกภาคส่วนก็ควรมีนโยบายอย่างจริงจังสำหรับการแข่งขันในยุคใหม่  

เพิ่มทักษะ-ยกระดับความรู้ คือเรื่องจำเป็น  

ผู้จัดการประจำประเทศไทยของจ๊อบส์ ดีบี ระบุว่าทักษะใหม่ที่นายจ้างในประเทศไทยต้องการ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 

1) Hard Skills หรือทักษะที่เป็นเทคนิคตามสายงานเฉพาะของตัวเอง เช่น ความรู้ด้านไอที ทักษะภาษา การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น
2) Soft Skills เช่น ทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน เป็นต้น 
3) Meta Skills  เช่น การรู้จักหรือเข้าใจตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่นทางความคิด เป็นต้น 

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของแรงงานไทย 'จ๊อบส์ ดีบี' ได้พัฒนาโครงการ 'ยกระดับความรู้ ก้าวสู่งานที่ใช่' (#levelupyourcareer) เป็นกิจกรรมยกระดับทักษะคนหางานผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ “อัพสกิล รีสกิล”  รวมกว่า 80 คอร์ส เช่น ฟินเทคและอีคอมเมิร์ซ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ทักษะทางด้านภาษา รวมถึงเปิดตัวโซลูชันใหม่ให้ภาคธุรกิจและคนหางาน เช่น การปรับอินเตอร์เฟซโฉมใหม่ พร้อมพัฒนาฟีเจอร์เพื่อการจับคู่งานอย่างแม่นยำยิ่งขึ้นด้วยระบบเอไอ เพื่อหวังรองรับการหางานของคนไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด