Skip to main content

 ​วันนี้ (20 เม.ย.65) ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี พรรคสร้างอนาคตไทย จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2565 โดยมีแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรคฯ อาทิ อุตตม สาวนายน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสุพล ฟองงาม นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ วัชระ กรรณิการ์ นายสันติ กีระนันท์ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ นริศ เชยกลิ่น จำลอง ภูนวนทา รวมถึงผู้ร่วมอุดมการณ์และสมาชิกพรรคทั่วประเทศกว่า 500 คน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยมีวาระการประชุม เพื่อรับรองรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคสร้างอนาคตไทย ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 รายงานการดำเนินกิจการของพรรคสร้างอนาคตไทยในรอบปี 2564 และมีวาระที่สำคัญ คือ การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคสร้างอนาคตไทยชุดใหม่ และการเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

​โดยในวาระการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคสร้างอนาคตไทยชุดใหม่ ที่ประชุมมีมติเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารจำนวน 16 คน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. อุตตม สาวนายน​  ​​ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
2. สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ​​ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค
3. สันติ กีระนันท์  ​​​ดำรงตำแหน่งเหรัญญิกพรรค
4. นิทัศน์ ประทักษ์ไจ ​​นายทะเบียนพรรค
5. นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ​​ กรรมการบริหาร
6. สุพล ฟองงาม ​​​กรรมการบริหาร
7. สุรนันทน์ เวชชาชีวะ​​ กรรมการบริหาร
8. วิเชียร ชวลิต​​​ กรรมการบริหาร
9. นริศ เชยกลิ่น​​​ กรรมการบริหาร
10. วัชระ กรรณิการ์ ​​​กรรมการบริหาร
11. รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ​​ กรรมการบริหาร
12. วิรัช วิฑูรย์เธียร ​​​กรรมการบริหาร
13. โอฬาร วีระนนท์ กรรมการบริหาร     ​
14. อิธวัฒน์ พิทักษ์คุมพล​​ กรรมการบริหาร
15. ทิพย์พาพร ตันติสุนทร​​ กรรมการบริหาร​​
16. โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ​​กรรมการบริหาร

ทั้งนี้ พรรคสร้างอนาคตไทย ได้ประกาศนโยบาย 5 สร้าง เป็นนโยบายหลักของพรรค เพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาและสร้างอนาคตประเทศไทยอย่างบูรณาการทั้งด้านเศรษฐกิจ-สังคมไทย-ความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน เพื่อสร้างอนาคตแก่ลูกหลานไทย ได้แก่

1. สร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งและทันสมัย
- สร้างความเข้มแข็งให้ฐานรากด้วยเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ประยุกต์ภูมิปัญญาถิ่นสร้างโอกาส
ในชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งชนบทและเมือง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ผู้ใช้แรงงานหรือผู้ประกอบการค้าขายริมทางริมถนนในเมืองกรุง
- ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย การบริหารจัดการที่เหมาะสม การจัดการทรัพยากรเพื่อการพัฒนาอย่างเพียงพอ เศรษฐกิจฐานรากระดับไมโครต้องแข็งแรงทันสมัยทันโลก


2. สร้างภาคเศรษฐกิจใหม่โครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต
- พัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ที่สร้างมูลค่าสูงด้วยแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) คือระบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรและเป็นมิตรกับโลก
เพื่อทดแทนระบบเศรษฐกิจเก่า (Old Economy) ที่สร้างมูลค่าน้อยและเป็นปัญหากับสภาพแวดล้อมไทยและโลก
- สร้างโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต เพื่อเป็นปัจจัยในการสร้างภาคเศรษฐกิจใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ปลดปล่อยศักยภาพของประเทศได้เต็มกำลังความสามารถ ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำเพื่อกำหนด
กลยุทธ์ในการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างและสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต เช่น ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิเคราะห์ข้อมูล (Data-Analytics และ AI) ซึ่งต้องเริ่มด้วยทำให้คนไทยทุกคน
มี Digital Literacy รู้ทันเทคโนโลยีดิจิทัลและสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ


3. สร้างสังคมที่เกื้อกูล เป็นธรรม และยั่งยืน
- สร้างสังคมที่มีความเป็นธรรม คืนความสุขให้คนไทยทุกคน บูรณะวัฒนธรรมพื้นฐานของความเอื้ออาทร เกื้อกูล มีน้ำใจ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ในจิตใจของคนไทยทุกคน
- เสริมพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) เพื่อใช้ประโยชน์ของทรัพยากรในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่าและทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีตัวอย่างที่เริ่มต้นในภาคเอกชน เช่น Co-Working Space การใช้พื้นที่สำนักงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การระดมทุนแบบ Peer-to-Peer หรือ Crowdfunding ซึ่งเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม


4. สร้างคนและวิทยาการพร้อม...ก้าวสู่สังคมโลกแห่งอนาคต
- สร้างคนให้พร้อม สามารถใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ด้วยเทคโนโลยีในระบบการศึกษาและการศึกษาต่อเนื่อง สร้างพื้นฐานความรู้ที่เข้มแข็งและมีจิตที่พร้อมจะเรียนรู้ตลอดชีวิต 
เป็นหลักประกันในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ
- มุ่งสร้างวิทยาการที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตคนไทย โดยที่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของโลก ทำให้สังคมไทยสามารถปรับตัว ยืดหยุ่นและทนต่อแรงเสียดทาน (Resilience) ทั้งกลับใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ


5. สร้างการเมืองที่สร้างสรรค์พลังบวก
- ดำเนินงานการเมืองโดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
- ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
- สร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง บนพื้นฐานจิตสาธารณะ หยุดประชาธิปไตยเทียมที่มีเพียงรูปแบบอันหลอกลวงมุ่งสนองประโยชน์ของพวกพ้องและอภิสิทธิ์ชน
- หยุดยั้งการเมืองเชิงทำลายที่มุ่งสร้างความร้าวฉานเพียงเพื่อช่วงชิงอำนาจด้วยเกมการเมือง