Skip to main content

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพ เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล ร่วมเทศกาล "หมุนเวียน/เปลี่ยนเมือง" ตอน "ชอบจึงหมัก รักจึงปลูก" โดยแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ "มุมมองปัญหาขยะกรุงเทพด้วยการหมุนเวียน/เปลี่ยนเมือง" ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน ภายใต้โครงการวิจัยเชิงปฏิบัตติการการประกอบการเกษตรอินทรีย์ในเมืองบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย วิโรจน์  กล่าวถึงแกนหัวใจสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนเมืองว่ามาจาก "กติกาข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่บริหารอย่างผิดฝาผิดตัว" และระบุปัญหาของกรุงเทพฯ ดังนี้

ประเด็นการคัดเเยกขยะ วิโรจน์ กล่าวว่า ในเรื่องของปริมาณขยะ ถ้าเราพูดถึงเรื่องการคัดเเยกขยะ เราต้องเห็นถึงบริบทการคัดเเยกขยะ ซึ่งเรามักจะผลักความรับผิดชอบให้กับครัวเรือนกว่า 2,400,000 ครัวเรือนในการคัดเเยกขยะ แต่เมื่อเราดูข้อมูล 40% ของขยะที่เป็นเศษอาหาร เกิดขึ้นจากห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ร้านอาหารขนาดใหญ่ โรงเเรมหรู 

“แปลกมาก เเละผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมเลย ที่เราพยายามลืมว่าห้างใหญ่สร้างขยะเหล่านี้ เเล้วผลักภาระให้กับครัวเรือนกว่า 2,400,000 ครัวเรือน ดังนั้น การคัดเเยกขนะควรทำเเน่ เเต่ต้องเริ่มที่ห้างสรรพสินค้าก่อน” วิโรจน์กล่าว

วิโรจน์ตั้งคำถามว่า ค่าขยะที่กทม. เก็บประชาชนทุกวันนี้ยุติธรรมหรือไม่ ในเมื่อห้างใหญ่ๆ บางห้างยังจ่ายแค่ไม่กี่หมื่นบาทต่อเดือน แต่ประชาชนกลับเสียค่าขยะที่มากกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณขยะที่เกิดขึ้น เช่นเขตปทุมที่เป็นศูนย์รวมของทุนนิยม ห้างใหญ่ แต่กทม. เก็บค่าขยะได้เพียง 11 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ เขตประเวศ 15 ล้านบาท คลองสามวา 14 ล้านบาท ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าข้อบัญญัติต่างๆ ของกรุงเทพมหานครมันไม่ยุติธรรม วิธีแก้ไขก็ง่ายมาก คือออกข้อบัญญัติใหม่ให้เป็นธรรม เก็บค่าขยะมากขึ้นสำหรับห้างสรรพสินค้าที่ไม่ได้คัดแยกขยะ 

ประเด็นต่อมา ในประเด็นสร้างเมืองที่ไปถึงทุกที่ได้ใน 15 นาที วิโรจน์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการหาอาหารกินในกรุงเทพมหานครมันยากมาก ออฟฟิศต่างๆ เอาพื้นที่ไปขายทำออฟฟิศหมด ไม่มีโรงอาหารให้พนักงาน พนักงานออฟฟิศไม่ใช่คนที่มีรายได้เยอะ ดังนั้นต้องถามกลับว่าสตรีทฟู้ดมันสร้างปัญหา หรือปัญหามันเกิดจากเมืองขาดแคลนอาหารราคาถูกกันเเน่ กรุงเทพไม่เคยวางผังเมืองในการสร้างที่กินอาหารให้กับคนเมือง ถ้ามีการจัดโซนร้านอาหาร มีขนส่งสาธารณะที่ดี มีระยะห่างระหว่างร้านค้า ออฟฟิศ บ้านเรือนที่เหมาะสม ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าขายที่ผิดรูปแบบผังเมืองก็จะไม่เกิดขึ้น 

วิโรจน์ยังเสนอว่า กทม.ไม่มีพื้นที่ที่เป็นตลาดในทุกระยะ 5 กิโลเมตร ทำให้คนต้องพึ่งพารถในการเดินทางไปจับจ่ายใช้สอย แต่หากตนเป็นผู้ว่าฯ จะพัฒนาพื้นที่ตลาดควบคู่กับบริการขนส่งสาธารณะ เพื่อให้กรุงเทพมีเศรษฐกิจหมุนเวียนจากการเดินและการใช้รถสาธารณะ

ในประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับด้านความมั่นคงทางอาหาร วิโรจน์ กล่าวว่า ในช่วงโควิดระบาดที่ผ่านมา คนที่ขาดเเคลนอาหารคือคนจน สิ่งที่เราจะต้องแก้ไข คือ เราจะต้องใส่ใจเรื่องของสวัสดิการที่เขาควรจะได้รับ คนที่ลำบากคือ ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ ถ้าชุมชนร่วมมือกันเเล้วเขามีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงชีพเขา คุณภาพชีวิตของคนกลุ่มเปราะบางเหล่านี้จะดีขึ้นแน่นอน 

“ถามว่าจะทำอย่างไรสร้างแรงจูงใจให้เกษตรอินทรีย์แพร่หลายมากขึ้น ผมคิดว่า หากเราสามารถเอางบประมาณไปเพิ่มให้กับศูนย์เด็กเล็กได้ ซึ่งผมตั้งใจจะเพิ่มงบ 5 ล้านบาทต่อศูนย์ เราสามารถกำหนดงบประมาณด้านโภชนาการและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในศูนย์เด็กเล็กว่าต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะทำให้เด็กมีโภชนาการดี เรายังสามารถใช้งบกทม. กำหนดอุปสงค์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมธุรกิจนี้ได้ด้วย เรียกว่ายิงทีเดียวได้นกสองตัว” วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย