Skip to main content

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล แถลงเปิดตัวนโยบายหลัก 12 ด้าน เพื่อสร้าง “เมืองที่คนเท่ากัน” ณ อาคารอนาคตใหม่ (หัวหมาก) วันที่ 27 มี.ค. 2565 ภายในงานแถลงนโยบาย มีผู้เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ประกอบด้วย ฐาปนีย์ สุขสำราญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตประเวศ, อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ นักสื่อสารนโยบาย Think Forward Center ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

เวทีเปิดตัว 12 นโยบาย สร้าง “เมืองที่คนเท่ากัน” เริ่มต้นขึ้นเมื่อ อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ พูดถึงเมืองในหัวข้อ “Romantic Town” พร้อมเชื่อมโยงปัญหาความสัมพันธ์ระดับบุคคลกับภาพเมืองในระดับการลงทุนและพัฒนามหภาค ด้วยการตั้งคำถามว่าทำไมคนกรุงเทพส่วนใหญ่ถึงโสด อิชย์อาณิคม์ อธิบายว่า คนส่วนใหญ่ ใช้ชีวิตไปกับการจัดการปัจจัยภายนอก ซึ่งมาจากปัญหาหลัก 4 ข้อ ได้แก่ (1) ชั่วโมงการทำงานสูง (2) ชั่วโมงการเดินทางบนท้องถนน (3) ค่าครองชีพสูง (4) พื้นที่สาธารณะน้อย นั่นทำให้บุคคลมีโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์​หรือเริ่มต้นความสัมพันธ์​กับผู้อื่นยากมาก เพราะลำพังเพียงภาระในการจัดการชีวิตของตนเองในเมืองนี้ ก็มากพอแล้ว

ลำดับต่อมา ลูกเกด ฐาปนีย์ สุขสำราญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตประเวศ พรรคก้าวไกล ได้ขึ้นเวทีเล่าถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนในเขตประเวศกว่า 17 ปี โดยเล่าถึงปัญหาที่ชุมชนในเขตประเวศส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นชุมชนริมคลอง ต้องพบเจอ ชุมชนเหล่านี้มีทางเข้า-ออกที่เรียกกันว่าสะพานคสล. มีขนาดกว้างเพียง 1.7 เมตรเท่านั้น ทำให้รถจักรยานยนต์ไม่สามารถสวนทางกันได้ บางเส้นยาวถึง 3 กิโลเมตร หากมีคนเจ็บป่วยรถพยาบาลไม่สามารถเข้าถึงตัวคนในชุมชน ประเด็นนี้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม คนไม่เท่ากัน คนกรุงเทพที่อยู่ในชุมชน มีรายได้น้อย ต้องเสียโอกาสและมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่

นอกจากประสบการณ์ของชุมชน ฐาปนีย์ยังได้พูดถึงประสบการณ์ในการเป็นแม่ของลูกที่โตในกทม. ขณะที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในกทม. กลับไม่มีความพร้อมในการดูแลเด็กเล็ก เนื่องมาจากนโยบายและงบประมาณ ฐาปนีย์ ยกตัวอย่าง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตประเวศ ซึ่งอยู่ติดกับโรงกำจัดขยะอ่อนนุชที่ส่งกลิ่นเน่าเหม็นตลอดทั้งวัน ซ้ำยังมีปัญหาในการจัดการงบประมาณของศูนย์ฯ ทำให้ต้องมีการรับบริจาคสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนากทม.ในทุกด้าน และเป็นแรงบันดาลใจให้ตนเองตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมือง เพื่อให้อนาคตลูกหลานคนในกรุงเทพดีกว่านี้ คนเท่าเทียมกันกว่านี้

ด้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ยกบทเรียนจากกรุงลอนดอน ในการออกแบบเมืองเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะ PM2.5 และมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างเมืองที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2030 คนในเมืองไม่ต้องเผชิญกับอากาศที่เป็นพิษและโรคทางเดินหายใจ และออกนโยบาย ULEZ หรือ Ultra Low Emission Zone ซึ่งเป็นนโยบายเก็บค่าธรรมเนียมเข้าเมืองสำหรับยานพาหนะที่ปล่อยมลภาวะเกินมาตรฐาน

ธนาธร ยังย้ำว่า ตัวอย่างเมืองและปัญหาที่ยกมานั้น ไม่ได้ออกโดยนักบริหารที่เชี่ยวชาญ แต่ต้องอาศัยคนที่มีเจตจำนงทางการเมืองแน่วแน่และชัดเจน ที่จะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับปัญหา นายทุนและเครือข่าย พร้อมทั้งต้องมีความทะเยอทะยานในการสร้างเมืองให้ดี ตรงนี้คือจุดเด่นของวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในการสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในครั้งนี้

ด้าน วิโรจน์ ได้เปิดตัว 12 นโยบาย เพื่อสร้างกรุงเทพที่คนเท่ากัน โดยมีไฮไลท์เช่น นโยบายวัคซีนฟรีจากภาษีประชาชน ซึ่งวิโรจน์ตั้งใจเน้นการฉีดวัคซีนปอดอักเสบให้ผู้สูงอายุ ป้องกันโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยติดเตียงและลดอาการเจ็บป่วยรุนแรง

บ้านคนเมือง สร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกในตัวเมือง 10,000 ยูนิต ในเวลา 4 ปี มีสัญญาเช่า 30 ปี เพื่อให้คนกรุงเป็นเจ้าของที่พักอาศัยในเมือง ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยวิโรจน์ยืนยันว่า หากประเทศไทยมีบ้านพักให้นายพลอยู่จนหลังเกษียณได้ ก็ต้องมีบ้านให้ประชาชนทั่วไปอยู่ได้เช่นกัน

ตั๋วคนเมือง นโยบายอุดหนุนตั๋วค่าโดยสาร ประชาชนซื้อในราคา 70 บาท แต่ใช้ได้ 100 บาท เพื่อสนับสนุนให้คนหันมาใช้รถเมล์ได้และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามเส้นทางเดินรถ

วิโรจน์ ยังย้ำถึงความสำคัญของนโยบายหลักทั้ง 12 นโยบาย ซึ่งเกิดภายใต้หลักคิดเมืองที่คนเท่ากัน โดยเชื่อว่าการที่คนเท่ากันจะเป็นบันไดขั้นแรกของเมืองที่มีความหวัง สามารถให้โอกาสในการตั้งตัวและคุณภาพชีวิตที่ดี ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางความขัดแย้ง คนกรุงเทพไม่ได้ต้องการผู้ว่าฯ ที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่การเมือง แต่ต้องเป็นผู้ว่าที่พร้อมเลือกยืนเคียงข้างประชาชน ต่อสู้เพื่อคนที่ถูกเอารัดอาเปรียบ และยืนยันอย่างหนักแน่นว่า 22 พ.ค. 2557 เป็นวันที่อำนาจของประชาชนถูกปล้นไป แต่ 22 พ.ค. 2565 จะเป็นจุดเริ่มต้น กรุงเทพจะเป็นโดมิโน่ตัวแรกในการประกาศว่าคนไทยจะไม่ยอมถูกใครขโมยความฝันไปอีก