Skip to main content

วันที่ 22 ก.พ. 2565 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล เดินทางเยี่ยมชุมชนคลองเตย พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัครส.ก. เขตคลองเตย ไชยพงษ์ พุฒวิบูลย์วุฒิ เพื่อรับฟังปัญหาชุมชนแออัดและการระบาดของโควิด สายพันธุ์โอมิครอน ระหว่างการพูดคุยมีเสียงสะท้อนเรื่องการระบาดของโควิดและพิษเศรษฐกิจ ทำให้พ่อค้าแม่ขายได้รับผลกระทบมาโดยตลอด

ตามสถิติการระบาดของโควิดล่าสุดตามรายงาน ศบค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 18,363 รายต่อวัน เสียชีวิต 35 ราย ผลตรวจ ATK 14,605 คน รวมกับยอดผู้ป่วยใหม่ ตัวเลขรวม 32,968  ราย ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การฉีดวัคซีนเข็ม 3 ยังเป็นนโยบายที่ไม่ชัดเจน การบูสวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าโควิด สายพันธุ์โอมิครอนมีจุดเด่นที่การระบาดรวดเร็ว สถิติปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ทั่วประเทศเพียง 26.5% และในกทม 56.74%  ซึ่งเป็นจำนวนที่รับได้แต่ยังไม่เพียงพอ วิโรจน์จึงเสนอ 4 ข้อเร่งด่วน เปลี่ยนยุทธศาสตร์ตั้งเกมรับโควิด

(1) นโยบายเข็ม 3 ต้องชัดเจน ที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนเข็ม 3 คลุมเครือ ไม่มีแพลตฟอร์มกลางสำหรับการลงทะเบียน กทม. ต้องเร่งรณรงค์ฉีดเข็ม 3 และเปิดระบบจองฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ชัดเจนกว่าปัจจุบัน พร้อมทั้งกระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกทม. ทั้ง 10 แห่ง และทำงานร่วมกับ อสส. อย่างเข้มข้น

(2) เล็งจัดลำดับความสำคัญของผู้ป่วย เพื่อจัดสรรเตียงสำหรับผู้ป่วยหนัก มีระบบคัดกรองที่รัดกุม เน้นการทำ home isolation สำหรับวัยหนุ่มสาวที่ฉีดวัคซีนครบ ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ขณะที่ผู้ป่วย กลุ่มผู้สูงอายุ (กลุ่ม 608) ต้องได้รับการจัดลำดับเป็นอันดับแรก ซึ่งผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ BA.2 ที่มีรายงานว่าส่วนใหญ่มีอาการปอดอักเสบ วิโรจน์ เองก็ได้เตรียมนโยบายสาธารสุขในอนาคตเอาไว้ คือฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบฟรีให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในกทม. เพื่อลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ เพราะอาการปอดอักเสบเป็นอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้

(3) กทม.ต้องเร่งหารือขั้นตอนส่งตัวตามสิทธิ และจัดการระบบเบิกจ่ายยา โดยวิโรจน์แนะกทม. ให้เร่งจัดหายามารักษา อ้างอิงจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ไทยมีการทำยา Remdesivir/ Molnoupiravir เป็นยาที่ใช้กันทั่วไป โดยผู้ว่าฯ กรมควบคุมโรค และ สธ. ต้องร่วมกันออกแบบระบบเบิกจ่ายเพื่อให้มีการจัดการรวดเร็ว เพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดอย่างทันท่วงที 

(4) เกมเปลี่ยนยุทธศาสตร์เปลี่ยน ต้องเน้นประคับประคองเศรษฐกิจควบคู่กับมาตรการสาธารณสุข กทม. ต้องเน้นการทำงานที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถล็อคดาวน์หรือทำให้ประชาชนต้องแบกกรับค่าใช้จ่ายได้อีกต่อไป
.
วิโรจน์ ยังกล่าวทิ้งท้ายกับผู้สื่อข่าวต่อไปว่า "นโยบาย 4 ข้อนี้ต้องเร่งทำ เพื่อการทำงานที่รวดเร็วคล่องตัว และไม่มีใครต้องเสียชีวิตจากการบริหารที่ผิดพลาดของผู้ว่าฯ"