Skip to main content

น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ต่อเนื่องจากกรณีน้ำท่วมกรุงเทพ เมื่อคืนนี้ที่ได้โพสต์ไว้ว่า จะขอแสดงความคิดเห็นที่ได้เคยนำเสนอไว้ตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 

 1. โดยปกติธรรมชาติของน้ำ จะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ ถนนทุกเส้นที่น้ำรอระบาย เมื่อคืนนี้ ล้วนแต่สูงกว่าคลองทั้งสิ้น เราควรทำให้คลองในกรุงเทพ พร้อมที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำ และแก้มลิงธรรมชาติ ในช่วงเวลาที่ฝนกำลังจะมา 

 2. กรุงเทพมหานครได้ฉายา 'เวนิสตะวันออก' (Venice of the East) เพราะเรามีคลองเยอะมากๆ คลองมีความยาวรวมกันถึง 2,600 กิโลเมตร คลองมีทุกเขตไขว้ไปมาทุกทิศทุกพื้นที่ทั่ว กทม. แทบทุกคลองมีประตูระบายน้ำพร้อมเครื่องสูบน้ำที่พร้อมใช้งานได้และ กทม.ลงทุนกับระบบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไปแล้วกว่าแสนล้านบาท ดังนั้น “เรามีทรัพยากรเพียงพอ ที่จะแก้ไขปัญหาได้” 

 3. ในการระบายน้ำ ถนนทุกสายถูกออกแบบให้อยู่สูง ท่อระบายน้ำจะต่ำลงมา คลองจะอยู่ต่ำสุด ในพื้นที่ที่ไม่มีคลองก็จะมีอุโมงค์ยักษ์ มูลค่าหลายหมื่นล้าน ช่วยระบายน้ำแทน น้ำจากคลองและอุโมงค์ยักษ์จะไหลต่อไปลงแม่น้ำ และลงทะเล ด้วยระบบ Gravity (แรงโน้มถ่วง) โดยเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำให้รวดเร็ว ด้วยเครื่องสูบน้ำ และประตูระบายน้ำ 

 4. ถ้า กทม.มีการบริหารจัดการที่ดี ใช้คลองให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทางระบายน้ำไม่อุดตัน และรองรับ Flow ของน้ำได้เพียงพอ ธรรมชาติของน้ำก็จะไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ก็จะไหลไปรอระบายอยู่ในคลอง ไม่รอระบายอยู่แถวหน้าแข้งประชาชน, ฟุตบาท, ล้อรถ หรือตามถนนหนทางอีกต่อไป 

 5. การพยากรณ์อากาศเดี๋ยวนี้แม่นยำมาก โดยทุกครั้งที่ฝนจะตกหนัก กรมอุตุฯ จะมีการเตือนให้ทราบล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 2-3วันเสมอ สำนักระบายน้ำควรจะพร่องน้ำในคลองบริเวณที่ฝนจะตก ให้คลองทำหน้าที่เป็นแก้มลิงโดยธรรมชาติ ในปริมาณที่เพียงพอจะระบายน้ำลงอุโมงค์ยักษ์ หรือลงแม่น้ำได้ทันปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ซึ่หากฝนไม่มา ตามที่นัดหมายไว้กับอุตุนิยมวิทยา เจ้าหน้าที่ก็สามารถเปิดประตูระบายน้ำ ให้น้ำกลับเข้ามาในคลองได้เหมือนเดิม ซึ่งจะเป็นการหมุนเวียนน้ำที่สะอาดกว่าเดิม กลับเข้ามาในระบบคลองด้วย

 6. ถ้าทำแบบนี้ได้ กทม.จะมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน โดย 

 6.1. หากน้ำท่วมถนนเส้นไหน ในพื้นที่เขตไหน โดยที่คลองระบายน้ำของเขตนั้น มีน้ำอยู่เต็มคลอง หมายความว่าสำนักระบายน้ำ บกพร่องในการระบายน้ำเพื่อรอฝนมา น้ำจึงต้องมารอระบายอยู่แถวหน้าแข้งประชาชน “สำนักระบายน้ำจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในเคสนี้” 

 6.2. แต่ถ้าน้ำท่วมเขตไหน ในขณะที่คลองยังแห้งสามารถรองรับน้ำได้อยู่ แสดงว่ามีปัญหาที่การระบายน้ำของสำนักงานเขตนั้นๆ โดยปัญหาใหญ่สุดคือ การลอกท่อ และขีดความสามารถของระบบระบายน้ำของเขตนั้น “สำนักงานเขตต้องรับผิดชอบในส่วนนี้” 

 7. เมื่อดูรายละเอียดของปัญหาจุดต่างๆ รายเขต และแยกการรับผิดชอบได้แล้ว กทม.จะมีข้อมูลที่แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบล่วงหน้าได้ก่อนที่ฝนจะตก ว่าเขตไหนปลอดจากน้ำท่วม เขตไหนเสี่ยง เขตไหนท่วมแน่ๆ และจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชนอย่างไร? และแก้ไขปัญหาแบบถาวรให้ลุล่วงไปได้เมื่อไหร่? 

 สุดท้ายปัญหาน้ำรอระบาย สามารถแก้ไขให้บรรเทาเบาลงได้ ด้วยการบริหารจัดการอย่ามีประสิทธิภาพ ภายใต้ทรัพยากรที่เรามีอยู่เดิม ซึ่งได้ใช้งบประมาณไปเป็นแสนล้านแล้ว 

ผู้ว่าฯ กทม.เพียงคนเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของเมืองที่มีคนอยู่เป็น 10 ล้านคนได้ พวกเราที่อาศัยอยู่ใน กทม. ต้องช่วยกัน โดยตนยืนยันคำเดิมว่า หากจะให้ ร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทำ ยินดีช่วยฟรี ไม่เอาตำแหน่ง ไม่คิดตังค์ ตั้งแต่ตอนสมัครผู้ว่าฯ และในฐานะที่เป็นคน กทม. คนหนึ่ง มาช่วยกันคิด ร่วมกันทำ ด้วยความจริงใจ ไม่บ่น ไม่กระแนะกระแหน ไม่ดราม่า มาร่วมกันทำให้เมืองของเรา น่าอยู่ น่าเที่ยว น่ามาจับจ่ายใช้สอย ร่วมกันกับทางผู้ว่าฯ และ กทม.ด้วยกัน