Skip to main content

ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร แถลงผลการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ว่า วันแรกของการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ส.ก. ตั้งแต่เวลา 08.30 -16.30 น. ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง ปรากฏว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 คน แบ่งเป็นชาย 14 คน หญิง 6 คน ได้แก่


หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร
หมายเลข 2 พันโทหญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล
หมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล
หมายเลข 4 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
หมายเลข 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนา
หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
หมายเลข 7 นางสาวรสนา โตสิตระกูล
หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
หมายเลข 9 นางสาววัชรี วรรณศรี
หมายเลข 10 ดร.ศุภชัย ตินติคมน์
หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี
หมายเลข 12 ดร.ประยูร ครองยศ
หมายเลข 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์
หมายเลข 14 นายธเนตร วงษา
หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที
หมายเลข 16 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ 
หมายเลข 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ 

โดยในช่วงบ่าย มีผู้สมัครเพิ่ม จำนวน 3 คน ได้แก่
หมายเลข 18 นางสาวสุมนา พันธุ์ไพโรจน์
หมายเลข 19 นายไกรเดช บุนนาค
หมายเลข 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ


ผู้สมัครอายุมากที่สุด 72 ปี อายุน้อยที่สุด 43 ปี 

ในส่วนของการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต ในวันแรกนี้ มีผู้สมัคร จำนวนทั้งสิ้น 343 คน เขตที่มีผู้สมัครมากที่สุด 9 คน ได้แก่ เขตธนบุรี เขตจอมทอง เขตวังทองหลาง เขตที่มีผู้สมัครน้อยที่สุด 5 คน ได้แก่ เขตดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 

ทั้งนี้ หลังจากปิดรับสมัครรับเลือกตั้งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่เห็นสมควร  

สำหรับการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.จะมีไปถึงวันที่ 4 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 น.-16.30 น. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง 

ขจิต ย้ำว่า ผู้สมัครรีบดำเนินการแจ้งช่องทางการหาเสียงเลือกตั้งทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่ามีช่องทางใดบ้างและมีค่าใช้จ่ายเท่าไร แจ้ง รายชื่อและจำนวนผู้ช่วยหาเสียง พาหนะที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง สถานที่หรือเวทีหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อใช้ในการคำนวณงบประมาณในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยให้ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร B ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันที่ 25 มี.ค. 65 เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้ายการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 ทั้งนี้วงเงินในการหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ ต้องไม่เกิน 49 ล้านบาท ส่วน ส.ก. 0.8 -1.2 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และประชากร ผู้สมัครที่กระทำผิดจะถูกเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้ง 5 ปี 

ขอความร่วมมือผู้สมัครทำตามประกาศกำหนดการติดป้ายหาเสียง

คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดสถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดจำนวน หลักเกณฑ์ และสถานที่ปิดประกาศ รวมทั้งสถานที่ห้ามปิดประกาศไว้อย่างชัดเจน อาทิ สถานที่ปิดประกาศ ได้แก่ บริเวณป้ายปิดประกาศของสำนักงานเขต โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยให้ผู้สมัครปิดประกาศได้สถานที่ละ 1 แผ่น เท่านั้น และต้องแจ้งขอปิดประกาศต่อหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายของสถานที่นั้น ๆ 

ส่วนสถานที่ห้ามปิดประกาศ ได้แก่ ผิวการจราจร เกาะกลางถนน สะพานลอยคนข้ามและสะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน เป็นต้น รวมถึงการปิดประกาศตามระเบียบของการไฟฟ้านครหลวง โดยขอให้ผู้สมัครศึกษารายละเอียด และปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศอย่างเคร่งครัด