ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงกรณีพรรคก้าวไกลได้รับหนังสือจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เรียกไปชี้แจงกรณีจากการที่สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ทำหน้าที่อภิปรายตรวจสอบงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 92(2) เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ นั้น
ชัยธวัช กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ว่าการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เมื่อเดือนสิงหาคม ปี2654 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ในประเด็นงบประมาณของหน่วยราชการในพระองค์และเนื้อหาการเผยเเพร่หลังจากนั้น เข้าข่ายปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พรรคก้าวไกลขอชี้เเจงว่า ประการแรก ตามบันทึกข้อเท็จจริงเเละรับทราบข้อเท็จที่กกต.ส่งมาถึงพรรคก้าวไกล เพื่อให้โต้เเย้งประเด็นที่ถูกร้อง ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ข้อความใดที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข มีเเต่ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ทั้งที่ข้อหาร้ายเเรงถึงขั้นยุบพรรคการเมือง
ประเด็นที่สอง การอภิปรายงบประมาณตามที่ถูกร้อง เป็นการทำหน้าที่ตามปกติที่ผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้งบประมาณทุกหมวด ทุกกระทรวง ทุกหน่วยรับงบประมาณ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การกระทำของ ส.ส. พรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง เเละไม่ใช่เหตุที่ทำให้ถูกยุบพรรคได้
"การทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล มีแต่ทำให้เกิดผลประโยชน์กับประชาชนในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด และยังทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพ ดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย มีพระราชสถานะดำรงไว้ดังเช่นนานาอารยประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" ชัยธวัชกล่าว
ด้านเบญจา กล่าวว่า กระบวนการพิจารณางบประมาณเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ การพิจารณาร่าง พรบ. งบฯ เป็นขั้นตอนปกติที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีส่วนร่วมแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้มีประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน การอภิปรายของตนเป็นการอภิปรายตามชื่อโครงการเเละหน่วยงานตามเอกสารรับงบประมาณทั้งสิ้น เมื่อหน่วยราชการของบประมาณมา ถ้าเราเห็นงบประมาณไม่เหมาะสมเช่นนี้ เรามีหน้าที่ตัด จัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เเละภายหลังจากการอภิปรายเสร็จเเล้ว ในการลงพื้นที่ตนได้รับกระเเสตอบรับจากประชาชน เป็นกำลังใจให้กับพรรคก้าวไกล เเละเห็นด้วยกับการตัดลดงบส่วนราชการในพระองค์
"ในฐานะ ส.ส. ยืนยันว่า จะยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เเละตรวจสอบงบประมาณต่อไป เราจะต่อสู้ ยืนหยัด ยืนตรง ประจันหน้าต่อผู้มีอำนาจ เพื่อเรียกศรัทธาให้กับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน" เบญจากล่าว
ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ระบุว่า กรณีนี้เป็นการทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นได้ หากเราไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ ตนไม่เเน่ใจว่าเราจะมีสภาผู้แทนราษฎรไว้ทำไม
หากเรามองอย่างเป็นธรรม การที่มีหน่วยงานของบประมาณจากประชาชน เราต้องทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณ อภิปรายงบประมาณ แต่กรณีเช่นนี้เมื่อเราทำหน้าที่เเล้ว ถูกโดนฟ้องร้อง ข้อหาถึงยุบพรรค สุดท้ายการตัดงบประมาณไม่สามารถทำได้เลย นี่เป็นการสร้างความกลัวที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับพรรคก้าวไกล เเต่เป็นการสร้างความกลัวที่ผู้มีอำนาจต้องการทำให้กับผู้แทนราษฎรทุกคน
รังสิมันต์ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลจะพิทักษ์ผลประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนอย่างถึงที่สุด หากประชาชนต้องการสนับสนุนพรรคก้าวไกล สามารถทำได้ในขั้นตอนการจ่ายภาษี บริจาคให้พรรคก้าวไกล รหัส 164 เราจะนำเม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ประชาชนบริจาคผ่านการจ่ายภาษีมาทำกิจกรรม ทำหน้าที่เป็นพรรคการเมืองเพื่อพี่น้องประชาชน เคียงข้างประชาชนอย่างถึงที่สุด
"เราจะยืนหยัดหยัด ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรต่อไป เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นพื้นที่ของประชาชน เเละอำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน" ชัยธวัช กล่าวทิ้งท้าย