Skip to main content

นายกฯ ลั่นไม่ลาออกจากตำแหน่ง ซัด ส.ส.เพื่อไทยอภิปรายชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิดปมเหมืองทอง 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงประเด็นเหมืองทองว่า ฟังมาทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมีความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ จะนำไปดำเนินการต่อในหลายเรื่อง ประการแรกต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกันก่อนว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาจากอะไร รัฐบาลในทุกสมัยต้องมีหน้าที่พิจารณาการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2535 -2544 รัฐบาลในช่วงนั้นได้เห็นชอบตามกฎหมายพ.ร.บ. การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ. 2510 เชิญชวนให้มีการลงทุน สนับสนุนให้มีการทำเหมืองทองในจังหวัดพิจิตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้เดินทางไปต้อนรับ และผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจากต่างประเทศ ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นบริษัทเดิมอยู่ จนกระทั่งปี 2554 รัฐบาลต่อมาได้มีการระงับการต่อใบอนุญาตประทานบัตรจำนวนหนึ่งแปลงยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เพราะความไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง 

เป็นปัญหาเกี่ยวกับการฟ้องร้องขั้นตอนการออกใบอนุญาตเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนของศาลปกครองจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสารพิษตกค้างจากการทำเหมือง ในช่วงรัฐบาล คสช. ขณะนั้นถือว่าประเทศอยู่ในสภาวะไม่ปกติ รัฐบาลได้มีการพิจารณานำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งมีข้อโต้แย้งมากไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการอนุญาตขาดความรัดกุมและเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องใช้เวลาในการทบทวนข้อกฎหมาย พ.ร.บ. การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ. 2510 และกรอบนโยบายเกี่ยวกับการทำเหมืองเพื่อลดปัญหาที่หมักหมมมานานรัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการใดที่เห็นว่ามีความจำเป็น

ภายหลังที่มีการปรับปรุงพ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ. 2560 มีการออกนโยบายการทำเหมืองแร่ใหม่ในปีเดียวกันนี้มีบริษัทเอกชนที่มีความสนใจในการทำเหมืองได้เข้ามาขอใบอนุญาตใหม่และขอต่อใบอนุญาตเดิมกว่า 100 ราย ถ้าเอกชนรายใดมีขีดความสามารถทำตามที่กฎหมายกำหนดในการขออนุญาตฯ ก็เข้ามายื่นเรื่องตามขั้นตอนก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับใบอนุญาตและบริษัทอัคราก็เป็นบริษัทหนึ่ง ถึงแม้ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะมีคดีความฟ้องร้องต่อรัฐบาลไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดสิทธิต่อบริษัทดังกล่าวที่จะเดินเรื่องขอต่อใบอนุญาต ตามที่ประธานบัตร 1 แปลงของบริษัทอัครา หมดอายุในปี 2555 และขอต่อใบอนุญาตไว้ในปี 2554 แต่ยังถูกระงับการต่ออายุ และในปี 2563 ยังมีอีก 3 แปลง ที่จะหมดอายุเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะหมดอายุภายหลังที่บริษัทอัคราหยุดกิจการปลายปี 2559 และได้ขอต่ออายุไว้ก่อนหมดอายุ ดังนั้นการที่เรามีพ.ร.บ. การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ. 2560 

ทางบริษัทอัคราได้มีการยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขออายุทั้ง 4 แปลง ที่ค้างอยู่ตามสัมปทานที่เหลืออยู่ จึงเป็นที่มาของการได้รับการใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 4 แปลง ในปลายปี 2564 และไม่ได้เป็นไปในการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลทั้งสิ้นรัฐบาลไม่ได้ตั้งเงื่อนไข แต่เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ. แร่ ใหม่ และย้ำว่าการต่อสัมปทาน 4 แปลง เป็นแปลงเดิมที่อนุญาตตั้งแต่ปี 2536 และ 2543 ตามลำดับ ถ้าหากจะตีความว่าการต่อดังกล่าวนี้เป็นการยกทรัพยากรธรรมชาติหรือยกสมบัติของชาติให้กับเอกชนตามอำเภอใจข้อกล่าวหานี้เป็นการกล่าวหาตั้งแต่รัฐบาลในยุคนั้นหรือเป็นข้อกล่าวหาที่ขัดต่อนโยบายการทำเหมืองตั้งแต่อดีตที่ผูกพันกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตนเองพยายามแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้

นอกจากนี้ในส่วนการฟ้องร้องของคิงส์เกต เป็นเพราะความไม่เข้าใจและคิดว่าบริษัทลูกในประเทศไทยไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกเลือกปฏิบัติเพราะมีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทต่างชาติฟ้องร้องจึงระบุว่ารัฐบาลมีเจตนายึดเหมือง โดยไม่ต่อใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2554 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและเข้าใจผิดว่าประเทศไทยจะเข้าไปทำเหมืองเอง และสิ่งของในกระบวนการประกอบธุรกิจให้ตกเป็นของรัฐ ข้อสรุปคือไปสู่การเจรจาการเลื่อนอ่านคำพิพากษากระบวนการปฏิบัติของฝ่ายไทยเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และกฎหมายกำหนดชัดเจนว่าไม่สามารถจะได้รับการอนุญาตใดเรื่องการทำเหมืองในเขตอนุญาตเขตอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขตโบราณสถาณโบราณวัตถุ พื้นที่เขตปลอดภัยและความสงบแห่งชาติหรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือเปล่าน้ำซับซึม 

การใช้มาตรา 44 ไม่เข้าใจว่าผู้อภิปรายมีความปรารถนาอย่างยิ่งยวด เพื่อชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิดเพื่อผลประโยชน์ของใคร โดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่ต้องเสียประโยชน์เพราะการเจรจาเป็นการทำความเข้าใจให้เกิดผลดี เหมือนผู้อภิปรายอยากให้ประเทศชาติเสียหาย อยากให้ตนเสียหาย และให้มีความผิดในการใช้มาตรา 44 หรือกฎหมายปกติในการใช้กฎหมายของกระทรวง ให้ยุติการทำเหมืองเป็นการชั่วคราว ถ้าผู้อภิปรายเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ถูกต้องชอบธรรมก็ควรอธิบายให้เกิดความเข้าใจไม่ควรนำมาผูกเรื่องกับเมืองทองเพื่อประโยชน์ของใครดังนั้นการจะพูดอะไรขอให้ระมัดระวังหากเกิดปัญหาในอนาคตคงไม่ใช่ตนคนเดียว ก็ต้องย้อนกลับไปสู่ตั้งแต่รัฐบาลปีไหนก็ไม่รู้ แล้วทำไมไม่แก้ไขปัญหาตั้งแต่ตอนนั้น

"ขอให้สภาเป็นสถานที่รับฟังรับข้อเสนอแนะตนพร้อมจะรับฟัง แต่หากมุ่งหวังว่าจะตีรัฐบาลจะล้มรัฐบาลจะให้นายกรัฐมนตรีออกให้ได้ คิดว่าไม่ถูกต้อง ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน หน้าที่ของท่านคือไปเข้ากระบวนการ ซึ่งเมื่อวานได้มีการเตรียมให้ผมยื่นใบลาออก ก็เก็บไว้ให้ตัวเองก็แล้วกัน ไม่ลาออกทั้งนั้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว