Skip to main content
  • พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตาม ม. 44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา กิจการของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จากออสเตรเลีย เมื่อปี 2559
  • คิงส์เกตยื่นฟ้องรัฐบาลไทยในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดยระบุว่าเป็นการใช้อำนาจที่มิชอบด้วยกฎหมาย และมีการประเมินว่าไทยมีโอกาสแพ้ ‘สูงมาก’
  • สิ่งที่คิงส์เกตเรียกร้องคือให้ทางการไทยจ่ายค่าชดเชยมูลค่ากว่า 22,500 ล้านบาท และพล.อ.ประยุทธ์ ให้กระทรวงอุตฯ คิดแผนประนีประนอม เพื่อแลกกับบริษัทคิงส์เกตถอนฟ้อง
  • ส.ส.จิราพร แห่งพรรคเพื่อไทย ยกกรณีเวเนซุเอลาเวนคืนเหมืองทองคำบริษัทสัญชาติแคนาดา ที่รัฐบาลเวเนฯ ถูกตัดสินให้แพ้ ต้องจ่ายค่าชดเชย 4.2 หมื่นล้านบาท

::: จุดเริ่มแห่งการฟ้องร้องไทยของบริษัท คิงส์เกต :::

จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 17 ก.พ.2564 โดยอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ ม.44 ผิดพลาด อาจพาประเทศและประชาชนต้องเสียค่าชดเชยกรณีถูกบริษัท คิงส์เกตฯ ฟ้องร้อง โดยเล่าย้อนว่าปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในขณะนั้น ใช้อำนาจตาม ม.44 ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการเหมืองแร่ทองคำ ระงับกิจการ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 จนทำให้เดือน ส.ค. 2560

จากกรณีดังกล่าว ทำให้คิงส์เกตออกแถลงการณ์ระบุว่า ตัวแทนบริษัทเข้าเจรจากับตัวแทนรัฐบาลไทย เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งระงับกิจการเมืองทองคำชาตรี ซึ่งเป็นกิจการของคิงส์เกต และรัฐบาลไทยยืนยันไม่จ่ายค่าชดเชย แต่จะพิจารณาผลประโยชน์หรือข้อผ่อนผันอื่นๆ ให้แก่กิจการของบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยแทน ทำให้บริษัทยื่นฟ้องรัฐบาลไทยในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในเดือน พ.ย.ปีเดียวกันนั้น

และในปี 2560 กระทรวงอุตสาหกรรมประเมินสถานการณ์ก่อนที่คิงส์เกตฯ จะดำเนินการฟ้องร้อง โดยเห็นว่าการเลือกในกรณีที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ฝ่ายไทยมีโอกาสแพ้คดีสูงมาก เนื่องจากคำสั่ง คสช. อาจถือเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติภายใต้ TAFTA ประกอบกับไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการทำเหมืองตามกรณีพิพาทก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งส่งผลให้ไทยถูกตัดสินให้ต้องชดเชยทางการเงินให้แก่บริษัทคิงส์เกตฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านกฎหมายที่สูงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทยด้วย

::: ยกกรณีไทย คล้ายคดีเหมืองทองในเวเนซุเอลา สุดท้ายเวเนซุเอลาแพ้คดีต้องจ่าย 4.2 หมื่นล้านบาท :::

จิราพร ยังยกกรณีการฟ้องร้องที่เทียบเคียงกับคำพิพากษาที่ใกล้เคียงที่สุด พบว่าคดีคิงส์เกตคล้ายกับคดีที่รัฐบาลเวเนซุเอลาดำเนินการเวนคืนสัมปทานเหมืองแร่ไปเป็นของรัฐ ซึ่งต่อมาบริษัท Crystallex International Corporation สัญชาติแคนาดา ได้นำคดีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ และสุดท้ายเวเนซุเอลาถูกตัดสินให้แก้คดีและชดใช้เงินให้แก่บริษัทเอกชนรายดังกล่าวเป็นเงิน 42,000 ล้านบาท และเหตุการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนซุเอาลาด้วย

และสิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างคือ ผู้ชี้ขาดในคดีเหมืองทองอัครา คือ ดร.ลอว์เรนต์ เลวี (Laurent Levy) ทนายความสัญชาติสวิส เป็นคนเดียวกับผู้ชี้ขาดในคดีเหมืองทองประเทศเวเนซุเอลา การพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการจะใช้กฎของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ หรือ UNCITRAL ในการตัดสิน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก จึงเชื่อว่าผู้ชี้ขาดที่มีความเที่ยงธรรม จะไม่ตัดสินคดีให้ย้อนแย้งจากบรรทัดฐานเดิมที่เคยตัดสินไว้

หากประเมินด้วยการเทียบเคียงดูแล้วจะเห็นว่า ถ้าอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ประเทศไทยแก้คดี ไทยอาจต้องแบกรับความเสียหายที่มากกว่า 22,500 ล้านบาท และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้ ม.44 ในครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีสิทธิเอางบประมาณแผ่นดินที่เป็นภาษีประชาชนไปจ่าย เพราะศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

::: ‘ประยุทธ์’ ให้ตั้ง คกก.ประนีประนอม ให้ที่ 4 แสนไร่ แลกคิงส์เกตถอนฟ้อง :::

เดือน มี.ค. 2563 เอกสารรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกตฯ โดยเนื้อหาในเอกสารตอนหนึ่งบอกว่า มีโอกาสที่คณะอนุญาโตตุลาการอาจพิจารณาตัดสินให้ไทยต้องรับผิดชอบต่อมูลค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในคดีนี้

ต่อมาเดือน มิ.ย. 2563 มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อประนีประนอมยอมความกับบริษัท คิงส์เกต ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ไทยเข้าร่วมการหารือก่อนกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับคิงส์เกตฯ หากตกลงกันได้ บริษัท คิงส์เกตฯ จะต้องยอมถอนคดีออกจากชั้นอนุญาโตตุลาการ

“เอกสารฉบับนี้ชี้ชัดว่านายกรัฐมนตรี รู้เห็นเป็นใจ และรับทราบมาตลอดว่าไทยจะแพ้คดี และได้มอบหมายให้หน่วยงานไปเจรจาเพื่อให้ยอมความ มอบนโยบายให้เอาทรัพยากรประเทศไปประเคนเพื่อให้เขายอมความ ถ้าจะคิดสู้คดี มันมีที่ไหนจะต้องไปเจรจาอมความกับบริษัทคิงส์เกต” จิราพร กล่าว

::: เปิดร่างประนีประนอม ไทยให้คิงส์เกต 4 แสนไร่ ขายผงทองคำ และอื่นๆ อีก:::

หนังสือลับที่ออกมา สรุปสาระสำคัญได้ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการอนุญาตกับผงทองคำและเงิน และบริษัท อัคราฯ ได้นำไปขายแล้ว ซึ่ง คิงส์เกต ได้ถอนข้อเรียกร้องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผงทองคำและเงิน ออกจากคดีแล้ว รวมทั้งกระทรวงอุตฯ ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ 44 แปลง คิดเป็นกว่า 4 แสนไร่

และกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้จัดทำแผนงานการประนีประนอมและระงับข้อพิพาทกับบริษัท คิงส์เกต เรียบร้อยแล้ว โดยประกอบด้วยหัวข้อหลักที่จะดำเนินการ ได้แก่ การขออนุญาตจำหน่ายผงทองคำและเงินที่ค้างในกระบวนการ, การดำเนินการเกี่ยวกับคำขออาชญาบัตรพิเศษ, คำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม, คำขอต่ออายุประทานบัตรแปลงไข่แดง, สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน และคำขอต่ออายุประทานบัตรชาตรีใต้

และตอนท้าย จิราพร บอกว่า แนวโน้ม 90% คือประเทศไทยแพ้คดี บทสรุปของคดีเหมืองทองอัคราฯ คือ สุดท้ายประเทศไทยก็ต้องจ่ายค่าชดเชย หรือค่าโง่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะจ่ายในรูปแบบการแพ้คดี หรือต้องจ่ายในรูปแบบของการเอาทรัพยากรของประเทศไปแลก ซึ่งในกรณีนี้อาจจะเป็นมูลค่าที่มากมายมหาศาลยิ่งกว่าค่าโง่ และเป็นการเอาไปแลกเพื่อคนคนเดียว คือ แลกกับการให้ พล.อ.ประยุทธ์เอาความผิดออกไปจากตัวเอง เพื่อรักษาอำนาจ รักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแล้วโยนบาปให้ประเทศและประชาชนต้องมารับแทน

::: ‘ประยุทธ์’ ลุกโต้บอกไม่ได้ใช้ ม.44 ปิดเหมือง แต่ใช้กับทุกเหมืองเพื่อสุขภาพ ปชช. :::

หลังจิราพรอภิปรายจบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า เรื่องนี้เริ่มต้นจากบริษัทแม่ในต่างประเทศใช้ช่องทางตามกฎหมายระหว่างประเทศฟ้องร้อง ซึ่งรัฐบาลไทยได้ต่อสู้สิ่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและความไม่ปลอดภัยด้านสุขภาพ รวมถึงการใช้พื้นที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ต่อสู้ตามกฎหมายและตามกติกาสากลที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ โดยการสู้คดีต้องใช้งบในการต่อสู้ตามขั้นตอนกฎหมาย

และยืนยันว่าไม่ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 ปิดเหมืองอัครา แต่มีคำสั่งไปถึงทุกเหมืองในประเทศไทย และในการต่อสัมปทานจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องของประชาชน ซึ่งบริษัทใดที่แก้ได้ก็จะเปิดปกติ และย้ำกว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ แต่เป็นการมองผลประโยชน์ของชาติและประชาชน และไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการใช้อำนาจออกคำสั่ง แต่เป็นการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก

ส่วนการสืบค้นเพิ่มเติมของ ‘ดิโอเพนเนอร์’ พบว่าคิงส์เกตเคยยื่นเรื่องฟ้องศาลในออสเตรเลีย เพื่อจะเรียกค่าสินไหนจากบริษัทประกัน Zurich เมื่อปี 2560 เพื่อชดเชยที่คิงส์เกตประสบกับความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศไทย โดยอ้างว่าการใช้คำสั่งปิดเหมืองตามมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียงและสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งบริษัทประกันปฏิเสธในตอนแรก แต่เมื่อคิงส์เกตนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนถึงกำหนดพิจารณาคดี ปรากฏว่า บ.ซูริก ยอมจ่ายเงินชดเชยความเสี่ยงทางการเมืองให้แก่คิงส์เกตในปี 2562

สรุปอภิปราย ‘กรณีคิงส์เกต’ จริงไหม? พล.อ.ประยุทธ์เอาประโยชน์ที่ดินหลายแสนไร่ไปแลกกับการถอนฟ้องคดีที่อาจจะแพ้

สรุปอภิปราย ‘กรณีคิงส์เกต’ จริงไหม? พล.อ.ประยุทธ์เอาประโยชน์ที่ดินหลายแสนไร่ไปแลกกับการถอนฟ้องคดีที่อาจจะแพ้

สรุปอภิปราย ‘กรณีคิงส์เกต’ จริงไหม? พล.อ.ประยุทธ์เอาประโยชน์ที่ดินหลายแสนไร่ไปแลกกับการถอนฟ้องคดีที่อาจจะแพ้