‘หมอวาโย’ ฉะ สธ. ฉีดซิโนแวคให้เด็กเสี่ยงผลข้างเคียง แฉ ‘วราวุธ’ โป๊ะแตกเอาปูตัวอื่นมากินโชว์ ไม่ใช่ของเบญจา รมว.ทรัพย์ฯ แจงยิบปมเก็บกวาด ไม่เคยจะวิ่งหนีหรือแก้ตัว –ไม่มีเหตุผลที่จะมาต้องนั่งปิดบังว่าน้ำมันรั่วเท่าไหร่
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 อภิปรายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมมนตรี และรมว.สาธารณสุข เรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ว่าแม้สถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบันดูแล้วพอใช้ได้ แต่ข้อมูลที่แท้จริงใน 70% มีคนฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย 2 เข็มอยู่ 16.17% ทำให้ต่อกรกับสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอนได้เพียงกว่า 50% เท่านั้น และยังเหลือกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนคือเด็กอายุ 0-12 ปี จำนวน 9 ล้านคน คิดเป็น 15% ของประชากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แม้ว่าตอนนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติให้เด็ก อายุ 5 ปีขึ้นไป แต่เกิดข้อน่าสงสัยที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าจะมีการนำวัคซีนซิโนแวคมาฉีดให้เด็กอายุ 3 ปี ทั้งที่ทั่วโลกเขาฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาส้มให้กับเด็ก โดยอนุทินและนพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมารับลูกสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคกับเด็ก แต่ผลการศึกษาของต่างประเทศก็ยังไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ฉีดไปก็ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงด้วย และทำไมตอนนี้ยังมีวัคซีนซิโนแวคอยู่ ยังเหลืออีกหรือ หรือว่าแอบสั่งมาเพิ่ม เพราะวัคซีนเชื้อตายในผู้ใหญ่ข้อมูลถึงทางตันแล้วพบว่าใช้ไม่ได้ แต่มาผลักดันใช้ในเด็ก คนไทยเป็นหนูทดลองไม่พอ ท่านยังเอาลูกหลานมาเป็นหนูทดลองต่อ ตนขอส่งเสียงดังๆ ถึงหมอเด็กว่าถ้าไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ก็ต้องออกมา เหมือนกับที่ท่านเคยหยุดคนไข้มาไล่อะไรสักอย่าง เด็กไทยสูญเสียโอกาสหลายอย่าง
นอกจากนี้เด็กไทยที่สอบทีแคส (TCAS) หากติดโควิด-19 แล้วหายไม่ทันก่อนสอบจะทำอย่างไร แต่เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลับบอกว่าให้ไปสอบปีหน้า หรือเลือกสาขาที่ไม่ใช้คะแนนสอบ รวมทั้งหากไม่ได้สอบก็ขอเงินคืนไม่ได้ เพราะบอกว่าเป็นการสร้างภาระ รวมถึงก่อนเข้าสนามสอบก็ไม่มีมาตรการตรวจ ATK ให้ ทั้งมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสนามสอบก็ไม่ดีพอ
นพ.วาโย อภิปรายว่า ส่วนชาตะกรรมของผู้ใหญ่คนไทย ซึ่งวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวมล้อม (ทส.) ตอบคำถามเรื่องน้ำมันรั่ว ตนฟังได้ความรู้มากมาย แต่ก็งงว่าสรุปน้ำมันรั่วเท่าไหร่กันแน่ 4 แสนลิตร หรือ 1.6 แสนลิตร หรือ 5 หมื่นลิตร ขณะเดียวกันได้เทสารเคมีเพื่อให้น้ำมันกระจาย 6-7 หมื่นลิตร สรุปน้ำมันรั่ว 5 หมื่นลิตร แต่เทสารเคมี 7 หมื่นลิตร จากข้อมูลที่ศึกษาพบว่า บริษัทผู้ผลิตสารเคมีแนะนำการใช้สารเคมี 1 ต่อ 20 หรือ 1 ต่อ 30 เพื่อได้ผลลัพท์การบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นได้อนุมัติให้ใช้สารเคมี 4 หมื่นลิตร ต่อมาอนุมัติเพิ่มเติมอีก 3.64 หมื่นลิตร จากนั้นอนุมัติเพิ่มอีก 9 พันลิตร ตนจึงตั้งคำถามว่าน้ำมันรั่วเท่าไหร่กันแน่ และสุดท้ายน้ำมันก็เข้าสู่ชายฝั่งจนทำให้พี่น้องชาวประมงเจอสัตว์น้ำที่มีน้ำมันติดมาด้วย ซึ่งเบญจา หวังดีเอาปูมาให้มารัฐมนตรีกิน แต่ไม่ได้เอาน้ำจิ้มมา แต่วราวุธ ได้แขวะเบญจาว่า ทำไมไม่เอาน้ำจิ้มมา และยังกินปูโชว์ว่าปลอดภัย แต่เบญจา ได้ถ่ายรูปปูทุกตัวไว้ บอกว่า ลายปูและหนังยางที่รัดไว้ไม่เหมือนกัน ขนาดเรื่องปูยังเอาตัวอื่นมากินเลย
ด้านวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงกรณีน้ำมันรั่วไหล ในพื้นที่จังหวัดระยอง ว่า การใช้สาร dispersant หากได้ฟังตอนที่ตนตอบกระทู้ ส.ส. ก็จะจำได้ หรือตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในในคืนวันที่ 25 ก็จะจำได้ว่าน้ำมันรั่วในเวลา 22.00 น และหยุดเวลาเที่ยงคืนกว่า ซึ่งทุกคนคงทราบว่าเวลาใครอยู่ที่ทะเลจะมืด มองไม่เห็นว่าน้ำมันที่รั่วออกมาลอยอยู่ตรงตรงส่วนไหน ซึ่งบูมยังเตรียมออกมาก็ไม่ทันเนื่องจากว่าที่บริษัทจะมาแจ้งก็ตอนที่หยุดน้ำมันได้แล้ว การใช้สาร dispersant อัตรา 1 : 20 หากจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องนำบูมน้ำมันมาล้อมน้ำมันทั้งหมดที่รั่วจึงจะใช้สาร dispersant ในอัตรา 1 : 20 หรือ 1 : 10 แต่เมื่อไม่ทราบว่าน้ำมันที่รั่วไหลออกมาลอยไปยังทิศทางใด กระแสน้ำไปทางไหน ฉะนั้นการที่จะแก้ไขปัญหาในเวลาเที่ยงคืนกว่าๆ ให้ได้เร็วที่สุดต้องฉีดไปทั้งตอนกลางคืน จะปล่อยให้เช้าคงลอยขึ้นฝั่งไม่ได้ และต้องฉีดเข้าไปให้ได้มากที่สุด ในที่คาดว่ากระแสน้ำจะไหลไป และตนก็ได้ตอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการตอบกระทู้ไปเมื่อสัปดาห์ก่อนแล้ว
วราวุธ กล่าวว่า ขณะที่ปริมาณน้ำมันนั้นจะรั่ว 50,000 หรือ 100,000 ลิตร เบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า จะไม่สามารถรู้ได้ว่ารั่วตรงไหน คนที่จะตอบได้ดีที่สุดคือบริษัทที่เป็นต้นเรื่องว่าเป็นอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลจากบริษัทมาแล้วก็เอาข้อมูลตรงนั้นมาก่อนเพื่อเอามาแก้ไขสถานการณ์ และขณะนี้อยู่ในขั้นตอน การตั้งคณะกรรมการสอบสวน ว่าสาเหตุที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นมาจากอะไร และรั่วออกมาเท่าไหร่ เมื่อบริษัทบอก 50,000 ลิตร เราก็ต้องเอาเท่าที่บริษัทบอก หากใช้มากหรือน้อยก็มีปัญหาอีก ข้อมูลที่ออกมาจากบริษัทจึงต้องนำมาใช้คำนวณการใช้สาร ในเบื้องต้น
วราวุธ กล่าวต่อว่า ส่วนพิษของสารเคมี ใน Generation ที่ 3 นี้ เป็นคุณภาพ Food grade คุณสมบัติของไฮโดรฟิลิก กับ ไฮโดรโฟบิก ทำให้น้ำมันสามารถสลายและละลายกับน้ำทะเลได้ และเมื่อระยะเวลาผ่านไปแน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรืออะไรจะเป็นคาสิโนเจนิคที่ทำให้เกิดมะเร็งทั้งสิ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปจุอินทรีย์ในทะเลสามารถกัดกร่อนตัวน้ำมัน และสาร dispersant ที่ควบรวมกันแล้ว น้ำทะเลที่มีปริมาณมากความเป็นพิษก็จะค่อยๆ สลายไป ตามขั้นตอนต่างๆ
วราวุธ ยังฝากไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เวลาตั้งโรงงานขึ้นมาแห่งหนึ่ง ท่านตั้งกระทู้ถามหน่วยงานไหน เวลาอยู่ในทะเลทันตั้งกระทู้ถามหรือขออนุญาตหน่วยงานไหน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรามีหน้าที่มาเก็บกวาดปัญหาที่เกิดขึ้น เราไม่เคยจะวิ่งหนีหรือมาแก้ตัว และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะมาต้องนั่งปิดบังว่าน้ำมันรั่วมาเท่าใด