Skip to main content

สรุป

  • มีการคาดการณ์ว่าอาจต้องใช้เวลา 3- 7 ปีกว่าจะประเทศยากจนจะฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ - ไทยก็คงอยู่ในกลุ่มนี้
  • การเข้าถึงวัคซีนจะเป็นอีกความเหลื่อมล้ำของไทย
  • เรื่องวัคซีนรัฐต้องช่วย แต่ถ้ารัฐห่วย ก็จะตอกย้ำความเหลื่อมล้ำอีกครั้ง

"ในทางเศรษฐศาสตร์เรื่องความเสี่ยง จะแบ่งคนเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มชอบความเสี่ยง กลุ่มเป็นกลาง และกลุ่มไม่ชอบความเสี่ยง ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจฉีดวัคซีนอย่างไร? ในทางทฤษฏีและงานวิจัยเชิงประจักษ์พบว่า คนที่ไม่ชอบเสี่ยง จะไม่อยากฉีดวัคซีน เพราะ วัคซีนเป็นความเสี่ยงชนิดหนึ่ง เช่น ผลข้างเคียงจากการฉีด หรือ ผลที่ได้อาจป้องกันโรคไม่สำเร็จ ดังนั้นคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงที่มีลักษณะ อย่างเช่น ไม่อยากลงสมัครเลือกตั้งเอง เพราะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเลือกตั้ง เลยทำรัฐประหารเลย แบบนี้ก็เป็นตัวอย่างของคนไม่อยากเสี่ยง ไม่กล้าฉีดวัคซีน"

ภาคภูมิ แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพโพสต์ข้อความเหมือนขำๆ แต่มีทฤษฎีอยู่เบื้องหลังมุขนี้ จึงเป็นที่มาของการชวนเขาคุยต่อ ซึ่งเขาบอกกับ ดิ โอเพนเนอร์ว่า หากจะให้อธิบายตามหลักวิชา ก็มีอยู่สองสามเรื่องที่น่าทำความเข้าใจ โดยจะไม่พูดตามเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่พูดตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการใช้วัคซีนในการป้องกันโรค

 

::เรื่องที่ 1 การป้องกันโรคเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง::

การป้องกันโรคควรจะลงทุนเท่าไหร่จึงจะเป็นจุดที่ดีที่สุดเพราะเศรษฐศาสตร์สุขภาพมองว่าการป้องกันโรคเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง
คนคิดตามเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องคิดว่าต้นทุนกับผลที่ได้มาคุ้มกันไหม ถ้าต้นทุนแพงไม่คุ้ม ก็อาจจะไปหาวิธีอื่น เช่นรับความเสี่ยง ยอมเป็นโรคเอง ไปรับการรักษา เพราะการป้องกันโรคไม่คุ้ม

โมเดลแบบนี้ไปต่อยอดการวิจัยเชิงประจักษ์หลายตัว ว่าปัจจัยไหนบ้าง ทั้ง ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือความคิด ที่จะส่งผลให้คนๆ หนึ่งตัดสินใจว่าจะป้องกันโรคหรือไม่ ซึ่งก็มีปัจจัยหลายประการ 

ปัจจัยแรก การฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงจะเกิดโรคได้มากน้อยแค่ไหน คนที่จะตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจต้องประเมินก่อนว่าวิธีป้องกันโรคช่วยลดความเสี่ยงได้มากขนาดไหน ถ้าใช้แล้วจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดโรคได้มากหรือน้อย  ถ้าโอกาสลดเยอะ ความน่าจะเป็นที่เขาอยากจะลงทุนหรือป้องกันโรคก็มากขึ้น

ปัจจัยที่สอง ความเสียหายของโรคที่จะเป็นมันจะร้ายแรงขนาดไหน เช่น ป่วยนิดหน่อย หรือไม่มาก แต่ถ้าป่วยมาก ถึงขั้นเสียชีวิต คนจะมีความสนใจที่จะป้องกันโรคมากขึ้น เพราะว่าความเสียหายที่คิดเป็นตัวเงินอาจจะไม่คุ้ม

ซึ่งความเสียหายที่เป็นเงินก็จะเริ่มเกี่ยวพันกับอาชีพและรายได้ละ คือถ้าเป็นคนที่ได้เงินเดือนประจำ ต่อให้ป่วยก็ได้เงินเดือน เขาก็อาจจะรู้สึกว่าการป้องกันโรคอาจจะไม่คุ้มก็ได้เพราะว่าถึงแม้เขาหยุดไปเขาก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม แต่เกิดเป็นคนที่รายได้ไม่แน่นอน มีรายได้รายวัน การขาดการทำงานทำให้หยุดงาน เสียรายได้ ก็อาจจะคิดว่าถ้าป้องกันโรคคุ้มกว่า 

ปัจจัยที่สาม คือราคาของการป้องกันโรค คือราคาแพงเกินไป ก็กีดกันคนไประดับหนึ่งแล้ว ก็คือคนที่มีกำลังซื้อเท่านั้นถึงจะป้องกันโรคได้ 

 

::คนรวยกับจนไม่ชอบป้องกันโรค แต่ชนชั้นกลางป้องกันโรคมากสุด::

มีงานวิจัยเชิงประจักษ์พบว่าส่วนใหญ่แล้วคนรวยกับจนไม่ชอบป้องกันโรค แต่ชนชั้นกลางป้องกันโรคมากที่สุด ลงทุนกับการป้องกันโรคมากที่สุด

แต่คนรวยกับคนจนมีเหตุผลที่ต่างกัน คือคนรวยมีความเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่มอื่นอยู่แล้ว ไม่รู้จะลงทุนไปทำไมกับความเสี่ยงต่ำนี้ และต่อให้เขาโชคร้ายป่วยขึ้นมาปุ๊บเขามีค่ารักษาพยาบาล ขณะที่การป้องกันโรคเขาต้องเสียโอกาสกับเวลา ซึ่งค่าของเวลาระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นไม่เท่ากัน ดังนั้นคนรวยเขาจึงรู้สึกว่าไม่ลงทุนป้องกันโรคดีกว่า คือยอมรับความเสี่ยงเอง ถ้าป่วยก็รักษา ง่ายๆ คือ เขามีเงินมากพอที่จะรับความเสี่ยงได้

แต่คนจนไม่ป้องกันโรค เพราะเขาไม่มีเงิน ยิ่งเป็นการป้องกันที่ใช้เงินเขาจะไม่ทำ เพราะเขาต้องเจียดเงินที่เขามีอยู่กับการป้องกันโรคที่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือเปล่า และการป้องกันโรคไม่ได้ส่งผลดีทันที แต่ส่งผลในอนาคตว่าจะไม่เป็นโรคในอนาคต แต่การที่เขาเสียเงินทันทีหมายความว่าเขาขาดรายได้ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน รายจ่ายเฉพาะหน้าที่เขาต้องเอาตัวรอดในแต่ละวัน ดังนั้นเขาก็จะไม่ลงทุนพวกนี้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องข้อมูลข่าวสารและการศึกษา คนจนอาจจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรคที่ไม่เพียงพอ ทำให้เขาประเมินไม่ได้ว่าการป้องกันโรคจะดีกับเขาหรือเปล่า

คนชั้นกลางจะเป็นกลุ่มคนที่ลงทุนเรื่องนี้มากที่สุด คืออยู่ระหว่างสองเหตุผลนี้ คือเขาไม่มีเงินมากพอที่จะรับความเสี่ยงเหมือนคนรวย แต่การป่วยของเขาจะสร้างผลเสียหายกับเขาพอสมควร ดังนั้นเขาก็คิดว่าลงทุนไปดีกว่า ป้องกันโรค คือเขามีเงินพอที่จะลงทุนป้องกันโรค ในขณะเดียวกันความเสียหายจากการเกิดโรคนั้นก็มากพอที่จะทำให้เขารู้สึกว่าการลงทุนป้องกันโรคมันคุ้มค่ากับเขา

 

::คนชอบเสี่ยง VS คนไม่ชอบเสี่ยง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง::

อีกปัจจัยก็คือเรื่องความเสี่ยง ในทางเศรษฐศาสตร์จะแบ่งคนที่ชอบความเสี่ยงออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มคนชอบ ไม่ชอบ และเป็นกลาง 

การป้องกันโรคเป็นความเสี่ยงชนิดหนึ่งเหมือนกัน สิ่งที่ต้องเสี่ยงก็คือว่า หนึ่ง ไม่มีความแน่นอนว่าป้องกันโรคแล้วจะประสบความสำเร็จ 

สอง คือการป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างวัคซีนมีความเสี่ยงที่จะให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงเลย เช่น ไม่ชอบการพนัน ชอบอะไรก็ได้ที่ได้มาแน่นอน คนพวกนี้ก็ไม่อยากรับความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีน คนพวกนี้ก็อย่างเช่น ..อย่างที่บอก พวกที่ทำรัฐประหารเพราะไม่แน่ใจว่าจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ (หัวเราะ) 

กลุ่มคนไม่ชอบความเสี่ยง ก็คือกลุ่มนี้ ไม่ฉีดวัคซีน ตรงกันข้าม กลุ่มคนที่ชอบความเสี่ยง คือถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นก็พร้อมจะรับ ส่วนพวกเป็นกลาง ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างสองพวก เลือกอันไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนจะไม่ชอบความเสี่ยง 
ตรงข้ามกับพวกที่ชอบความเสี่ยง เพราะเขามองว่าถ้าเขาลงทุนแล้วชนะก็จะได้มากกว่าเดิม พวกนี้ก็จะเป็นอีกพวกหนึ่ง

 

::แต่จะชอบหรือไม่ชอบความเสี่ยง รวยหรือจน การฉีดวัคซีนมีมิติทางสังคมด้วย::

วัคซีนมันต่างกับการป้องกันโรคชนิดอื่น เช่น การใส่หน้ากากอนามัยซึ่งทำเพื่อไม่ให้ตัวเราติดเชื้อ แต่วัคซีนมีลักษณะที่เราเรียกว่า สามารถส่งผลกระทบเชิงบวกภายนอกได้ ก็คือวัคซีนสามารถทำให้ต่อสังคมโดยรวมได้ประโยชน์มากขึ้น

ดังนั้นวัคซีนมีสองมิติ คือหนึ่ง มิติในด้านการป้องกันเพื่อประโยชน์ตัวเอง กับ สอง ฉีดวัคซีนเพื่อให้สังคมคุมโรคได้ 

คำถามก็มาที่ว่าแล้วเวลาที่จะให้วัคซีน การกระจายวัคซีนและสั่งซื้อวัคซีนต้องดูให้ได้ว่าสังคมต้องควบคุมโรคให้ได้ จุดประสงค์ที่แจกวัคซีนก็เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มหมู่ขึ้นให้ได้ 60-70% ถ้าฉีดไม่ถึงภูมิคุ้มกันหมู่ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามองแต่มิติแรก เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวก็จะละเลยการมองมิติสังคม
 

 

::รัฐต้องทำงาน ไม่ควรปล่อยกลไกตลาดทำหน้าที่ในกรณีของวัคซีน::

แล้วตกลงจะให้รัฐบาลหรือให้กลไกตลาดเป็นกลไกในการแจกจ่ายวัคซีน ปัญหาของการฉีดวัคซีนมันส่งผลกระทบเชิงบวกภายนอก แต่ถ้าใช้กลไกลตลาดจะส่งผลให้คนจะไม่หันไปซื้อวัคซีนมาฉีดเองเท่าไหร่ จะเกิดพวก free rider เยอะ คนพวกนี้คิดถึงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม คือคิดว่าฉันไม่จำเป็นต้องฉีดก็ได้ เดี๋ยวคนอื่นเขาก็ฉีด ถ้าเกิดผลถึง 60% เมื่อไหร่ก็เกิดภูมคุ้มกันหมู่เอง ฉันก็ไม่ต้องเสียเงินฉีดเลยเพราะว่าเดี๋ยวคนอื่นเขาก็ฉีดเอง 

หากเปิดให้กลไกตลาดทำงานจะเป็นผลให้ไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่เกิดคนที่มีภูมิคุ้มกัน 60-70% เพราะอาจจะเจอว่าวัคซีนราคาแพง คนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศก็ไม่อยากจะซื้อแล้ว ดังนั้นการจะฉีดหรือไม่ฉีดถ้าเราใช้เอกชนเข้ามาจัดการจะเกิดกลไกตลาดล้มเหลว ส่งผลให้กลไกตลาดกระจายวัคซีนแล้วไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Market Failure คือกลไกตลาดล้มเหลว 

เมื่อกลไกตลาดล้มเหลวก็ต้องใช้รัฐบาลเข้ามาจัดการแทรกแซงกลไกตลาด เช่น เข้ามาแจกจ่ายวัคซีนฟรี เพื่อดึงดูดให้คนมาลงทุนฉีดวัคซีนมากขึ้น แต่ว่ามันมีความยากในทางปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้นจริงๆ นะ ต่อให้ฟรี แต่การเข้าถึงยากลำบาก เช่น การไม่เข้าถึงเพราะทุรกันดาร ประชาชนต้องเสียเวลาเดินทาง รวมถึงคนจนก็ไม่อยากฉีดวัควัคซีนเพราะเสียเงินและเวลาเดินทางแม้จะให้ฟรี

ประเทศอินเดียเคยมีกรณีที่ว่า แม้จะแจกแล้วก็ไม่มาฉีด เพราะไม่สะดวก เดินทางลำบากและไม่เห็นประโยชน์ เขาใช้วิธีให้รางวัล กระตุ้นให้คนพวกนี้ไปฉีด 

ดังนั้นการสั่งซื้อ (วัคซีน) ว่ายี่ห้อไหนอย่างเดียวยังอยู่แค่ขั้นตอนสั่งซื้อ แต่วัคซีนมันมีผลต่อเมื่อคุณเอาเข็มไปฉีดให้คน ไม่ใช่ว่าซื้อมาแล้วทิ้งไว้ แต่ต้องแจกจ่ายไปให้ถึงมากกว่า 60-70% ของประชากร สเกลการแจกจ่ายวัคซีนระดับนี้ไม่เคยมีมาก่อนในโลก ประเทศไทยก็ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นกลไกตลาดไม่สามารถทำได้แน่นอน

 

::แต่ถ้ารัฐล้มเหลวล่ะ ก็ต้องไปเผชิญกับการเปิดให้กลไกตลาดทำงานน่ะสิ::

แต่ว่า ในทางตรงกับ Market failure ก็มี Government Failure ซึ่งเกิดจากความห่วยแตกของรัฐบาล คือการที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดโดยหวังว่าจะมีประสิทธิภาพ แต่รัฐบาลห่วย ทำให้การแทรกแซงนั้นห่วยขึ้นไปอีก ซึ่ง Government Failure อาจจะเกิดจากการไม่มีประสิทธิภาพ ขาดข้อมูลข่าวสาร พูดง่ายๆ ก็คือรัฐบาลห่วย 

มาถึงตอนนี้เรารู้สึกสงสารตัวเองและสงสารประชาชนไหมครับ คือตอนนี้ควรจะให้รัฐบาลมาช่วย แต่ถ้ารัฐบาลมันห่วยก็ทำให้ชีวิตคนทั้งประเทศลำบาก การป้องกันโรคมันเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น เมื่อรัฐบาลห่วย คนก็เลยไม่มีความหวัง ก็เลยต้องกลับมาเรียกร้องให้ใช้กลไกตลาด หรือเอกชนเข้ามาจัดการ ซึ่งการให้เอกชนนำเข้าวัคซีน คือคุณโยนเรื่องความยุติธรรม หรือเรื่องการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทิ้งไปเลยเพราะคราวนี้จะเป็นสาเหตุทางเศรษฐกิจล้วนๆ เลย 

ตอนนี้มีแนวโน้มที่จะทำพาสปอร์ตวัคซีน ดังนั้นคนที่จะซื้อวัคซีนฉีดคือคนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ใช่เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว แต่เป็นสาเหตุทางเศรษฐกิจส่วนตัวล้วนๆ เลย ถ้าเกิดเอกชนเข้ามาปุ๊บ ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นแน่นอน 

เมื่อมองเห็นแล้วว่าการป้องกันโรคมีทั้งมิติส่วนตัวและมิติสังคมที่จะต้องไปด้วยกันแล้ว คำถามคือถ้าคุณมีอำนาจออกกฎหมายที่จะบังคับทุกคนได้ คำถามก็คือว่า คุณจะฉีดไหม

ถ้าคุณเป็นคนเห็นแก่ตัวที่มีอำนาจ คุณก็จะสั่งให้คนอื่นฉีดก่อน แต่ถ้าคุณเห็นแก่ส่วนรวมก็ฉีดก่อน 

สถานการณ์ตอนนี้ ยังไม่ฉีดก็มีปัญหาแล้ว ยิ่งถ้าจะฉีดสเกลใหญ่ 60-70% ไม่ต้องคาดหวังเลย 2-3 ปีไม่เสร็จแน่นอน อาจจะยาวกว่านี้ 

กว่าจะฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่ใช่ภายใน 2-3 ปีนี้แน่นอน สำหรับไทยและประเทศยากจนทั่วโลก ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าอาจจะใช้เวลาจะประมาณ 7 ปี * กว่าประเทศยากจนจะฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ถ้าเป็นแบบที่คาดการณ์ คราวนี้ละ จะยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำแล้ว ระหว่างคนมีเงินกับคนไม่มีเงิน คือพาสปอร์ตวัคซีนหลักๆ คือการอำนวยความสะดวกให้คนชั้นกลางและคนชั้นสูงและประเทศรายได้สูงอยู่แล้ว 

 

::สรุปอีก ต้องกลับไปให้เอกชนดำเนินการตามกลไกตลาดดีกว่าไหม::

ก็ไม่ใช่ 100% แต่ในเมื่อรัฐบาลไม่สามารถจัดการอะไรได้แล้ว สุดท้ายก็กลับไปเป็นเหมือนทุกเรื่อง เหมือนสวัสดิการทุกเรื่อง พอรัฐบาลทำไมได้ปุ๊บ ก็ไปผลักให้แต่ละคนรับผิดชอบกันเอง และคนก็รับผิดชอบได้ต่างกันไป 

 

อ้างอิง

When will the Covid-19 pandemic end? In 7 years at today's vaccine rates

Pandemic could end in 7 years at current pace of vaccination