'เผ่าภูมิ' ชี้มาตรการรถ EV ตบมือข้างเดียว จูงใจผู้ซื้อ ไม่จูงใจผู้ผลิต จุดจบไทยเป็นผู้นำเข้า แต่ไม่ใช่ฐานผลิต
เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่า อุตสากรรมการผลิต EV ไทยอยู่ในภาวะหยั่งเชิงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
"ผู้ซื้อรอผู้ขาย" : คนซื้อไม่ยอมซื้อ เพราะผู้ผลิตไม่เริ่มลงทุน ทำให้โครงสร้างพื้นฐาน EV ไม่พร้อม สถานีชาร์จไม่ครอบคลุม ใช้งานยังไม่สะดวก Economies of scale ไม่เกิด ราคาจึงยังสูง
"ผู้ขายรอผู้ซื้อ" : ผู้ขายไม่กล้าเริ่มลงทุน จนกว่าจะมีผู้ซื้อจำนวนมากพอ คุ้มทุนที่จะลงทุน รวมถึงรอทิศทาง EV จากภาครัฐ
ภาวะหยั่งเชิงแบบนี้ ทำให้การเดินสู่ศูนย์กลางการผลิต EV ของไทยจึงวนอยู่ในอ่าง ช้ากว่าคู่แข่งมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้อง Kick-Start และต้องผลักทั้งผู้ซื้อผู้ขายให้เลิกรอกันไปกันมา “การกระตุ้นผู้ซื้อให้ซื้อและผู้ผลิตให้ลงทุน ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน”
แต่มาตรการสนับสนุน EV ของรัฐบาลที่ออกมานั้น เป็นการ "ตบมือข้างเดียว" มีแต่ด้าน "จูงใจผู้ซื้อ" แต่ขาดมาตรการ "จูงใจผู้ผลิต" ให้เริ่มลงทุน เรายังไม่เห็นมาตรการ เช่น การร่วมลงทุนจากภาครัฐ กองทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างอุตสาหกรรม EV มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เงินอุดหนุนจากภาครัฐสู่ผู้ผลิต มาตรการรัฐร่วมทุนสร้างแท่นชาร์จสาธารณะและอุดหนุนหัวจ่ายตามกำลังวัตต์ มาตรการดึงการผลิตและประกอบ EV ให้มาตั้งถิ่นฐานในไทย การใช้ภาษีสรรพสามิตเพื่อปกป้องตลาดในประเทศกรณีรถ EV ทะลักจากจีนจากสิทธิประโยชน์ FTA มาตรการต่างๆเหล่านี้ยังไม่เห็น
หากรัฐบาลยังทำมาตรการด้านผู้ซื้อด้านเดียวแบบนี้ ในที่สุดไทยจะกลายเป็น "ผู้นำเข้า EV แต่ไม่ใช่ฐานการผลิต EV" ซึ่งแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (ซึ่งใหญ่มาก) จะหายไป ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ตำแหน่งงานทั้งหมด จะหายไป
เวียดนามและมาเลเซียเดินเกมเร็วมากด้าน EV อินโดนีเซียก็ได้เปรียบเรามากเพราะมีแหล่งแร่นิกเกิลที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ รัฐบาลจึงต้องออกแรงขนาดใหญ่และหนัก และต้องทำแบบครบวงจร ทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ผลิตพร้อมกัน เรื่องนี้ช้าแล้วอดเลย หากฐานการผลิตไปตั้งที่อื่นแล้ว ยากมากที่จะกลับมา และห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดจะถูกย้ายตามไปด้วย ฉะนั้นเรื่องนี้ Do or Die หรือ ไม่ชนะก็แพ้เลย