สธ.เตือนภัยโควิดระดับ 4 หลังตัวเลขติดเชื้อเพิ่มสูงทุกจังหวัด ทุกกลุ่มอายุ ขอให้ WFH งดเดินทาง ลดกิจกรรมเสี่ยง แจงแม้โอมิครอน BA.2 จะรุนแรงเท่าเดิม แต่ติดง่ายกว่า 1.4 เท่า จับตาช่วงสองสัปดาห์
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนโควิด-19 ระดับ 4 ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ เพราะโควิด -19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ติดง่าย แต่ความรุนแรงเท่าเดิม หากปล่อยให้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น โอกาสที่จะมีผู้ป่วยอาการรุนแรงก็ย่อมต้องเพิ่มตาม ดังนั้นจึงอยากวิงวอนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกันหยุดเชื้อโควิดด้วยการ หันมา WFH เพิ่มมากขึ้น และงดการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากขณะนี้พบหลายคลัสเตอร์เกิดขึ้นในทุกกิจกรรม ทุกพื้นที่ และทุกภาค ที่มีพฤติกรรม สังสรรค์ กินข้าวร่วมกัน ในงานบุญ งานวันเกิด งานบวช โดยคาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อจะพุ่งสูงสุด และหากทุกคนร่วมมือตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อก็มีโอกาสที่จะลดลง
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อของไทย เหมือนกับการติดเชื้อในกลุ่มประเทศแถบเอเชียและอาเซียน ที่เริ่มพบจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น ทั้งในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม หรือสิงคโปร์ ขณะที่กลุ่มประเทศแถบยุโรปกำลังเข้าสู่ขาลง แต่ก็จะเห็นว่าบางประเทศสัดส่วนของผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มจำนวนมาก แต่อัตราไม่ได้มากเหมือนในอดีต แต่มีบางประเทศสัดส่วนยังสูง เช่น รัสเซียติดเชื้อในรอบ 7 วันที่ผ่านมา 1.2 ล้านคน เสียชีวิต 5,000 คน แต่ที่เยอรมันติดเชื้อในรอบ 7 วัน 1.2 ล้านคนเท่ากัน แต่เสียชีวิต 1,000 คน ทั้งนี้ พบว่าทั่วโลกสัดส่วนของการติดเชื้อ BA.2 เพิ่มมากขึ้น และมีอัตราการแพร่เร็วถึง 1.4 เท่า มากกว่า BA.1 แต่ความรุนแรงระหว่าง BA.1 และ BA.2 ใกล้เคียงกัน
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จากข้อมูลการติดเชื้อระหว่างวันที่ 13-19 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่ามีการติดเชื้อ 115,917 คน เป็นคนไทย 96.1% นอกนั้นต่างชาติประมาณ 3% โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ หรือเป็นคลัสเตอร์ ทั้งโรงเรียน ตลาด แคมป์คนงาน โรงงาน ร้านอาหาร คือ 54% ส่วนอีก 44.5% ผู้สัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัว หรือกลุ่มใกล้ชิดเสี่ยงสูง
ขณะนี้พบการติดเชื้อมากในแถบจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งตอนบนตอนล่าง และภาคใต้บางจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช ซึ่งการติดเชื้อพบทุกกลุ่มอายุ แต่พบว่าในกลุ่มเด็กแม้จะมีอัตราการป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับพบว่ามีอาการรุนแรงน้อย แต่ในส่วนผู้สูงอายุยังพบว่ามีอัตราการป่วยรุนแรงมากกว่า ทั้งนี้ สถานการณ์การติดเชื้อยังต้องจับตาอีก 2 สัปดาห์ และคอยดูการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันพุธที่ 23 ก.พ. ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรใดๆ หรือไม่ เนื่องจากยังมีกิจกรรมกิจการอีกหลายอย่างรอการผ่อนคลาย รวมถึงการลดวันกักตัว ในกลุ่มผู้ป่วยเสี่ยงสูง และหากประชาชนไม่ร่วมมือกัน ช่วยกัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็จะไต่สูงขึ้นแน่นอน ย้ำว่าที่ต้องเตือนภัยระดับ 4 เนื่องจากรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาทุกพื้นที่ของไทยเป็นพื้นที่สีส้มและสีแดง คือ มีอัตราการติดเชื้อตั้งแต่ 10-99 ต่อประชากรแสนคน และ 100 ต่อประชากรแสนคน พบมากสุด คือ วัยทำงาน และวัยเด็ก
Photo by Norbert Braun on Unsplash