ผู้แทนจากรัฐบาลสหรัฐฯ รัฐบาลไทย และผู้นำภาคธุรกิจจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของนวัตกรรมเทคโนโลยีระบบเครือข่ายไร้สาย (Wi-Fi) แห่งอนาคต และการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 6 GHz ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้การเชื่อมต่อ Wi-Fi ในบ้านเร็วขึ้นเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างบทบาทของไทยในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมที่ล้ำสมัยอีกด้วย
องค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (USTDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เริ่มการประชุมเชิงปฏิบัติการ ระยะเวลา 2 วัน เพื่อหารือเกี่ยวกับการใช้งานคลื่นความถี่ 6 GHz ซึ่งรวมไปถึงเทคโนโลยีระบบเครือข่ายไร้สาย เช่น Wi-Fi โดยการประชุมดังกล่าวมีผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนและภาครัฐของสหรัฐฯ และไทยร่วมแบ่งปันข้อเสนอแนะทางเทคนิค และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ไทยเข้าใกล้เป้าหมายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
ย่านความถี่ที่ไม่ต้องได้รับอนุญาต (unlicensed spectrum) หรือคลื่นความถี่วิทยุ ตลอดจนเทคโนโลยี Wi-Fi มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก อุปกรณ์ เช่น อุปกรณ์ค้นหาเส้นทางเครือข่ายไร้สาย (wireless router) สมาร์ตโฟน และคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปที่ใช้คลื่นความถี่ Wi-Fi และมาตรฐานอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งใช้ความถี่ที่ไม่ต้องได้รับอนุญาตนั้น กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถใช้อุปกรณ์ไร้สายต่างๆ ได้ในราคาถูก ปัจจุบันมีอุปกรณ์จำนวนมากที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi ประมาณกว่า 30,000 ล้านชิ้นทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าจะเป็นช่องทางเชื่อมต่อการรับส่งข้อมูลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่กว่าร้อยละ 70 ภายในปี 2566
การใช้งานเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่แพร่หลายเหล่านี้ส่งผลให้ความต้องการใช้งานคลื่นความถี่เพิ่มมากขึ้น ไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนอยู่ระหว่างการพิจารณาการจัดสรรคลื่นความถี่ 6 GHz ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น อุปกรณ์ที่เชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet of Things: IoT) และการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน และบริการที่ใช้นวัตกรรม ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ และยังเป็นประโยชน์ให้กับผู้บริโภคต่อไป
“รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมั่นสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 โดยทาง USTDA ทำงานร่วมกับภาคเอกชนของสหรัฐฯ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Communications Commission) เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ที่จะช่วยให้ Wi-Fi รุ่นใหม่ทำงานได้ ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการเติบโตของการใช้อุปกรณ์ IoT ในประเทศไทย” อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ไมเคิล ฮีธ กล่าว เมื่อเดือนเมษายน 2563 สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกในโลกที่จัดสรรคลื่นความถี่ 6 GHz ทั้งหมดเพื่อให้ใช้กับเทคโนโลยีแบบเปิด (open technology) เช่น Wi-Fi
“ผมขอแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อสถานทูตสหรัฐฯ USTDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ที่ช่วยให้เกิดการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้น ประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการเร่งรัดให้เกิดแอปพลเคิชันและบริการบนระบบเครือข่ายไร้สายรุ่นใหม่ที่มีราคาไม่แพง ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงคลื่นความถี่ 6 GHz นี้ด้วย” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว
ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ประกอบไปด้วยผู้แทนรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลจากประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมให้ข้อมูลด้านความคืบหน้าในการพิจารณาการจัดสรรคลื่นความถี่ 6 GHz ของไทย
“สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ 6 GHz ของเราให้เต็มศักยภาพที่สุด เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจของไทย สำนักงาน กสทช. ยึดมั่นปฏิบัติตามความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technological Neutrality) โดยได้เข้าร่วมการหารือด้านเทคนิคภายใต้กรอบการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคมของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และเราคาดว่าจะได้รับทราบแนวทางฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ 6 GHz จากผลการประชุมภายใต้กรอบดังกล่าวในปีหน้า ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ทั้งจากภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงผู้แทนหน่วยงานกำกับดูแลจากชาติสมาชิกอาเซียน จะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมายจากการประชุมที่จัดขึ้นในช่วง 2 วันนี้ โดยเฉพาะข้อมูลประสบการณ์ตรงจากสหรัฐฯ ที่ถือเป็นผู้นำในการจัดสรรคลื่นความถี่ 6 GHz และภาคธุรกิจอเมริกัน” ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าว
สหรัฐฯ และไทยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยาวนานกว่า 2 ศตวรรษ ความร่วมมือที่สำคัญของเราสานต่อจากช่วงเวลาตั้งแต่สมัยการเดินเรือมาจนถึงยุคโทรเลข จากสมัยการใช้วิทยุมาจนถึงยุคดิจิทัลในวันนี้ ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก อีกทั้งยังประสบความสำเร็จในการเป็นกลุ่มประเทศแรก ๆ ที่เริ่มใช้เทคโนโลยี 5G ตลอดจนมีอัตราการใช้โมบายแบงก์กิ้งและโซเชียลมีเดียที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สหรัฐฯ และภาคเอกชนพร้อมที่จะต่อยอดจากพันธไมตรีที่ยาวนานนี้ โดยขยายนวัตกรรม การลงทุน และการแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อให้เกิดความมั่งคั่งร่วมกัน