Skip to main content

สรุป

  • “แรก ๆ มันก็ยังเป็นความสนุกอยู่ ใช้แล้วสนุกเคลิบเคลิ้มตามอาการของมัน พอใช้มาสัก 2-3 ปี เอาจริง ๆ เราเริ่มแยกไม่ออกแล้วว่าสรุปเมากับไม่เมามันต่างกันยังไง”
  • “เรานอนอยู่กับพื้นอย่างนั้นประมาณ 5 นาทีได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีสติแต่มันก็มีความคิดไหลเข้ามาในหัวเราว่า อุตสาห์มาเรียนได้ตั้งไกลได้ทุนมาสุดท้ายเป็นขี้ยานอนตายอยู่หน้าห้อง”
  • “เราก็คิดไปเองว่ามันช่วยให้เราคิดงานได้ เขียนงานได้ มีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันทำให้เราขี้เกียจด้วยซ้ำ มันทำให้ productivity (ประสิทธิภาพ) ในการทำงานเราลดลงด้วยซ้ำ”
  • “ประทับใจเจ้าหน้าที่ เค้าไม่ได้ปฏิบัติต่อเราในฐานะขี้ยา เค้าปฏิบัติต่อเราในฐานะคน ๆ นึงที่ป่วยแล้วต้องการความช่วยเหลือ”
  • “ทุกวันนี้ต่อให้มันผิดกฎหมายในไทยอยู่คนก็ใช้กันทั่วไปมาก ๆ ใช้แบบไม่รู้จำกัดตัวเองด้วยว่ามันมากหรือน้อยเกินไป มันดีกว่าอยู่แล้วที่จะดึงมันออกมาอยู่ในที่สว่าง คนจะได้สบายใจในการรับการรักษา”

'โทนี' (นามสมมติ) เป็นนักเรียนทุนอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ตอบรับอย่างยินดีเมื่อทีม ดิ โอเพนเนอร์ขอสัมภาษณ์ถึงประสบการณ์ที่เขาพาตัวเข้าสู่สถานบำบัดทางจิต ซึ่งมีแผนกบำบัดผู้ป่วยจากการเสพสารเสพติดอยู่ด้วย 

ในด้านหนึ่ง 'โทนี' เป็นชายหนุ่มหัวดี และกระตือรือร้นต่อประเด็นทางสังคม หลังจบปริญญาตรีระดับเกียรตินิยม เขาได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี อีกด้านหนึ่ง เขาก้าวสู่ถนนคนเสพกัญชาตั้งแต่เรียนชั้นปี 2 ซึ่งเขาเคยคิดว่า 'คุม' มันได้ แต่เมื่อต้องไปเรียนต่อต่างบ้านต่างเมือง ซึ่งกัญชาหาได้ง่ายขึ้น ปริมาณการเสพก็เพิ่มขึ้น จนที่สุด ก็อยู่เหนือการควบคุม และที่สุด เขาเป็นผู้เลือกที่จะเดินเข้าสู่สถานบำบัดเอง หลังจากที่เกิดอาการหลอน ได้ยินเสียงแว่วสั่งเขาให้ทำกิจกรรมต่างๆ และเริ่มพูดกับตัวเอง



::จุดเริ่มต้นของการใช้กัญชา จากกรุงเทพฯ ถึงเบอร์ลิน::     


โทนี่ เริ่มใช้กัญชาประมาณปี 2 โดยเพื่อนชักชวน “ครั้งแรกลองไปก็ยังไม่ติดเท่าไหร่ แค่อยากรู้อยากเห็น เพิ่งใช้แบบจริง ๆ จัง ๆ ช่วงปี 3-4 ใช้แบบต่อเนื่องเลย เรียกว่าใช้ทุกวัน” 

จุดเปลี่ยนคือ เมื่อเดินทางถึงเยอรมนี 6 เดือนแรกเขาก็แทบจะไม่ได้กัญชาอีก จนกระทั่งเริ่มปรับตัว ทำความรู้จักว่าอะไรอยู่ตรงไหน เขาก็พบว่า กัญชาที่เยอรมนีนั้น “เข้มข้น” กว่าเมืองไทยมาก และเขาเสียค่าใช้จ่ายให้สิ่งนี้ถึงเดือนละประมาณหมื่นกว่าบาทไทย

“เดือนนึงเสียเงินกับมันไป 400 ยูโรได้เป็นเงินไทยก็หมื่นกว่าบาท 100 ยูโร-อาทิตย์นึงหมดไปซื้อใหม่ เป็นอย่างงี้อยู่ต่อเนื่องก็ไม่มีปัญหาอะไรใช้มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีโควิด พอมีโควิดยิ่งไม่ได้ออกไปไหนใช้หนักกว่าเดิมอีก จากปกติใช้เสร็จไปเรียนยังมีช่วงให้เว้นบ้างหรือไม่ก็บางวันมีทำงานพิเศษก็ไม่ได้ใช้อย่างต่อเนื่องขนาดนั้น พอมีโควิดอยู่บ้านไม่ได้ออกไปไหนไปไหนไม่ได้ตื่นมาก็ใช้ ก่อนนอนก็ใช้ กินข้าวก่อนอาหารหลังอาหารก็ใช้หมด พอใช้ไปถึงจุดนึงร่างกายมันไม่ไหว สมองมันบอกเราว่าต้องเลิกนะเพราะมันมีอาการหลอนแทรกซ้อนเข้ามาเยอะมากก็เป็นจุดที่ตัดสินใจไปรักษา”


::แยกไม่ออกว่าเมากับไม่เมาต่างกันอย่างไร::


“แรก ๆ มันก็ยังเป็นความสนุกอยู่ ใช้แล้วสนุกเคลิบเคลิ้มตามอาการของมัน พอใช้มาสัก 2-3 ปี เอาจริง ๆ เราเริ่มแยกไม่ออกแล้วว่าสรุปเมากับไม่เมามันต่างกันยังไง แต่ก็ใช้ไปเพราะมันกลายเป็นพฤติกรรม ไปแล้ว มันเหมือนเราสูบบุหรี่ เราใช้มันในฐานะบุหรี่ไปแล้ว ใช้แทนบุหรี่เลยอยู่บ้านแทบจะไม่ดูดบุหรี่เลยด้วยซ้ำสูบกัญชาแทนตลอด”

“มันเหมือนเป็นความเชื่อเราด้วย เราก็คิดไปเองว่ามันช่วยให้เราคิดงานได้ เขียนงานได้ มีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันทำให้เราขี้เกียจด้วยซ้ำ มันทำให้ ประสิทธิภาพในการทำงานเราลดลงด้วยซ้ำ” แต่เขาก็บอกตัวเองว่าไม่เป็นอะไร คิดว่ากลับเมืองไทยก็คงเลิกได้ 

 

::ความหลอนที่ลืมไม่ลง::  


“เอาจริง ๆ มันลืมไม่ลงเลย วันแรกที่เจออาการเราก็ใช้ปกติใช้ปริมาณที่เราใช้มาตลอดแต่มันคงถึงลิมิตแล้วมั้ง เริ่มจากอาการได้ยินเสียงในหัวเรา เป็นเสียงแบบ... “ไปนอน”  “หาอะไรกิน” “ กินน้ำ” มันเป็นเสียงที่แบบเราขัดมันไม่ได้ มันสั่งให้เราทำอะไรเราก็ทำตามไปหมด บางครั้งถึงกับต้องพูดตามเสียงในหัวออกมาเลยว่า “เลิกใช้นะ เลิกเดี๋ยวนี้นะ” พูดออกมาเลยทั้ง ๆ ที่เราอยู่คนเดียวในห้อง”

“แล้วถึงจุดนึงเสียงมันก็บอกว่า “มึงกำลังจะตายนะ” แล้วมันก็เหมือนจะตายจริง ๆ รู้สึกว่าหัวใจมันเต้นเร็ว เรากำลังจะหยุดหายใจ ถึงจุดนึงเราก็กำลังจะเดินออกไปเคาะห้องเพื่อนให้เพื่อนช่วยเรา ไม่รู้จะทำยังไง อยู่ดีๆ มันเหมือนช็อกแล้วก็ลงไปนอนบนพื้นเลยแล้วก็หยุดหายใจ ตอนนั้นก็เหมือนเราตายแล้วหน้าพ่อหน้าแม่ลอยมา หน้าเพื่อน หน้าคนที่เรารักลอยมาเต็มไปหมดเลย เรานอนอยู่กับพื้นอย่างนั้นประมาณ 5 นาทีได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีสติแต่มันก็มีความคิดไหลเข้ามาในหัวเราว่า อุตสาห์มาเรียนได้ตั้งไกลได้ทุนมาสุดท้ายเป็นขี้ยานอนตายอยู่หน้าห้อง”

โทนี นอนอยู่หน้าห้องของรูมเมทอยู่แบบนั้น จนถึงจุดที่กัญชาเริ่มอ่อนฤทธิ์ เขาตะเกียกตะกายไปเคาะประตูห้องเพื่อนในเวลาประมาณตี 3 เพื่อให้เพื่อนเรียกตำรวจมาจับตัวเอง แต่เพื่อนตัดสินใจพาเขาไปส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ขณะที่ตัวเขาเองระล่ำระลักบอกให้เพื่อนช่วยชีวิต และเมื่อไปถึงโรงพยาบาล กลับพบ อาการทางกายภาพนั้น จริงๆ แล้ว เกือบจะปกติ แต่สิ่งที่เขารู้สึกว่าเขากำลังเป็นนั้นอยู่ในสมองของเขาต่างหาก

“เพ้อเจ้อไปเรื่อย พอถึงโรงพยาบาลตรวจอะไรทุกอย่างก็ปกติ หัวใจเต้นแรงมั้ยก็อยู่ที่ 100 ครั้ง/นาที ซึ่งมันก็ไม่ได้แรงมากวิ่งเหยาะ ๆ วิ่งจ็อกกิ้งประมาณนี้ สุดท้ายพอถึงโรงบาลเค้าก็ ไม่ได้รักษาไม่ได้ฉีด ปล่อยดูอาการถึงสักประมาณ 9-10 โมงเช้า ผมนอนไม่ได้เลยนะ อยากนอนมากแต่นอนไม่ได้เลย พอรู้สึกว่าอาการมันคลายลงแล้วก็บอกหมอว่ากลับบ้าน หมอก็ปล่อยกลับวินิจฉัยอาการเบื้องต้นก็บอกว่าเป็น panic disorder (ภาวะตื่นตระหนก)”

“ พอกลับมาบ้านมาอยู่ที่ห้องอาการใจสั่นมันก็อยู่กระสับกระส่ายนอนไม่ได้ทั้งวัน ไม่รู้สึกหิวเลย รู้สึกกังวลสิ่งที่เราเจอรู้สึกอยากจะหลุดออกไปจากมันให้ได้ คืนนั้นรู้สึกว่าไม่ไหวอาการที่เรารู้สึกว่ากำลังจะตายยังอยู่ ก็เลยเดินไปห้องฉุกเฉินโรงบาลเดิม พนักงานห้องฉุกเฉินจำหน้าได้สงสัยจะมาผิดโรงบาลแล้ว ท่าจะเอาไม่อยู่ต้องไปโรงบาลเฉพาะทางเลย เค้าก็ให้ข้อมูลสำหรับติดต่อมา ผมมาเขียนใส่กระดาษใบนึงก็กลับมาที่บ้านพยายามจะนอนก็นอนไม่ได้ มีความรู้สึกว่าถ้าเรานอนเราจะหยุดหายใจไปเมื่อนั้น จนกระทั่งไม่ไหวนอนมองเพดานพลิกไปพลิกมาให้มันหลับ”
“จนตี 3-4 ของวันนั้นจากที่ไม่ได้นอนมาทั้งคืน ก็เริ่มเห็นแสงแวบ ๆ มันหลอนหนักแล้วตอนแรกมาเป็นเสียงตอนนี้มาเป็นภาพสงสัยจะอยู่ไม่ได้แน่ ๆ ก็ไปใส่แจ็คเกตเลย เอากระเป๋าตัง เอาพาสปอร์ตไปโบกแท็กซี่พาไปโรงบาลนี้หน่อยตอนตี 5”

“พอไปถึงโรงบาลก็ไม่มีหมอเป็นเวลานอกราชการ เค้าบอกต้องรอสัก 8 โมงเช้า ให้กลับไปก่อนกลางวันค่อยมาใหม่ ผมก็บอกไม่กลับ สมองมันสั่งให้ต้องมาโรงบาลเท่านั้น ต้องหาความช่วยเหลือเท่านั้น ผมก็นั่งรอไปถึง 8 โมงเช้า พอทุกอย่างเริ่มเปิดก็ทำเรื่องส่งผมไปที่วอร์ด เป็นโรงบาลด้านจิตเวทครอบคลุมทุกอาการก็มีแผนกผู้ใช้ยาโดยเฉพาะเค้าก็ส่งผมไปแผนกนั้นนอนอยู่ 3 อาทิตย์ก็” 


::อยู่เมืองไทยใช้แบบใบปนดอก แต่เยอรมนี คุณภาพล้น ดอกล้วนๆ::


ปัจจัยหนึ่งที่เขาวิเคราะห์ภายหลังว่าทำไมเขาถึงหลอนหลุดไปได้ก็คือ “ความเข้มข้น” ของกัญชาที่เสพนั้นต่างกัน แม้จะใช้ปริมาณเท่าๆ กัน
.
“กัญชาที่ไทยส่วนใหญที่เราเจอมันจะมาเป็นก้อน ซึ่งในก้อนนี้ส่วนใหญ่มันจะมาทั้งใบทั้งดอกทั้งก้านทั้งเม็ดเราก็ต้องมานั่งแยกเอา แต่ที่นี่มันมาเป็นช่อดอกเลยถ้าเราไปซื้อเราก็จะได้แต่ดอกเพียว ๆ มาเลยก้านปนน้อยมาก เวลาใช้ผมก็จะหยิบออกมาครึ่งข้อนิ้วชี้แล้วก็บดผสมกับบุหรี่ผมสูบบ้องมันก็นับเป็นหลุม แต่กี่หลุมไม่เคยนับเลย 10 ขึ้นได้โดยประมาณ โดยเฉลี่ยใช้ประมาณ 10 กรัมต่ออาทิตย์ซึ่งเอาจริง ๆ น้อยถ้าเทียบกับปริมาณตอนใช้ที่ไทย แต่ด้วยความที่ว่าอยู่ที่ไทยเราไม่ได้ใช้ทั้งวัน อาจจะให้ทุกวันแต่ไม่ได้ใช้ทั้งวันมีช่วงที่เราออกไปข้างนอกให้เราได้เว้นวรรคบ้าง แต่นี่คือเราสูบตลอดเวลาในปริมาณที่ค่อนข้างเยอะทุกวัน คงทำให้สมองถึงขีดจำกัดของมัน”


::ประสบการณ์จากโรงพยาบาลจิตเวช:: 


โทนีมีประกันซึ่งรวมถึงการรักษาทางจิตเวช และเขาใช้สิทธินั้น เมื่อดำเนินการทางเอกสารเรียบร้อย โรงพยาบาลก็จัดนักจิตวิทยาและจิตแพทย์มาสัมภาษณ์ก่อนจะจัดยาให้

“สัมภาษณ์ทุกเรื่องเลยคือกินอะไรมามั้ย ได้นอนมั้ย ใช้มานานเท่าไหร่ ญาติพี่น้องเคยมีใครอาการเป็นแบบนี้มั้ย เราก็เล่าไปเรื่อย ๆ เหมือนสอบถามอาการเราประมาณ 1 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปแล้วจิตแพทย์เค้าก็บอกว่าเราจะจ่ายยาตัวนี้ ๆ ให้คุณนะ แล้วเค้าก็ส่งเราไปนอน ขนาดไม่ได้นอนมา 2 คืนติด ๆ ยังนอนไม่ได้เพราะว่าอาการหลอนมันยังอยู่ อาการหลอนที่ว่าถ้าเรานอนเราจะหยุดหายใจระบบการหายใจเราจะหยุดทำงาน แต่สุดท้ายก็นอนได้” 

ได้นอนครั้งแรกเขารู้สึกว่าเสียงในหัวเริ่มหายไป แต่อาการกระสับกระส่ายยังอยู่ และตลอดสัปดาห์แรกเขาได้ยาแบบ “จัดหนัก” วันละ 4 รอบหลังอาหาร 3 มื้อก่อนนอน แต่ละรอบยา 3 เม็ด 2 เม็ดครึ่งตลอด 

เขาถามนักจิตวิทยาว่าอาการแบบเขาต้องอยู่นานแค่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่าประมาณ 2 สัปดาห์ ขึ้นกับว่ามีอาการแทรกซ้อนหรือไม่ และอาการเขาเริ่มดีขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 เริ่มลดยาลง แต่อาการของเขากลับมาอีกตอนใกล้ๆ จะได้ออกจากโรงพยาบาล


“ตอนแรกเค้าจะบอกให้ผมอยู่ 2 อาทิตย์ แต่ใกล้ ๆ ออกมันมีอาการตีกลับมาทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้เล่นกัญชาเลยแต่เหมือนอยู่ดี ๆ อาการเดิมกลับมาก็ไปบอกจิตแพทย์เค้าบอกให้อยู่ต่ออีกสักอาทิตย์นึงดีกว่ารอดูอาการ ระหว่างนี้จะลองเพิ่มยาที่แรงขึ้นให้เรา โดยกิจวัตรประจำวันตรงหน้าวอร์ดจะมีตารางบอกเราว่าจันทร์ – อาทิตย์ 9 โมงเช้าต้องทำอะไร 7 โมงเช้าต้องทำอะไร จนถึง 4 ทุ่มนอน ผมก็พยายามฟอลโล่ตารางกิจกรรมตรงนี้ เค้าก็จะมีให้ออกไปเดินเล่นกับกลุ่มเพื่อนประมาณวันละครึ่งชั่วโมง บางทีอาจจะเดิน 2 รอบ รอบเช้ารอบเย็น มีให้ทำงานฝีมือให้เราฝึกสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เราทำ ส่วนนี้ผมว่ามันช่วยนะที่เราทำงานฝีมือที่เราทำมันทำให้เราไม่เบื่อ ถ้าอยู่โรงบาลทั้งวันมันไม่มีอะไรทำ มีเกมส์ปาเป้าให้เราเล่น มีบอร์ดเกมให้เราเล่น มีกีฬาอาทิตย์ละครั้ง มีงานฝีมือให้ทำก็เป็นกิจกรรมคร่าว ๆ ให้ทำให้แต่ละวัน”


::พ่อแม่คือคนที่ทำให้เขายืนหยัดในการเลิก::


“ตอนนั้นพ่อแม่เราเป็นส่วนหนึ่ง เค้าก็เครียดพอเราเข้าโรงบาลเราก็โทรบอก แม่ได้ยินวันแรกคือร้องไห้เลย เป็นอะไรที่บอกกับเราว่าต้องหายนะ กลับไปต้องเลิกนะส่วนหนึ่ง” 

“เรื่องเพื่อน (ที่โรงพยาบาล) เอาจริง ๆ ก็มีทั้งดีและไม่ดี มันมีเพื่อนบางคนที่โดนตำรวจส่งมาและมาด้วยคงามสมัครใจก็ไม่มีความพร้อมที่จะมาอยู่ที่นี่ บางคนไม่มีมือถือมา บางคนมีมือถือมาไม่มีที่ชาร์ทแบต บางคนไม่มีตังค์ บางคนก็จะเข้ามาขอเราแบบหน้าด้าน ๆ เลยซื้อข้าวให้กินหน่อยได้มั้ย ขอยืมมือถือไปฟังเพลงหน่อยได้มั้ย แรก ๆ ด้วยความที่เราเป็นคนขี้เกรงใจเลยได้ ๆ พอถึงจุดนึงเราก็แบบไม่ได้ว่ะ ถ้ายอมแบบนี้โดนเอาเปรียบทั้งวันแน่”

“เพื่อนที่ดีเค้าก็น่ารักเค้ารู้ว่าเราพูดเยอรมันไมได้ก็พยายามมาสื่อสารกับเราชวนเราไปจ็อกกิ้ง ชวนเราตีปิงปองเล่นเกมส์”


::ผู้เสพคิดผู้ป่วย สิ่งที่ประทับใจจากนักจิตวิทยา::


“ประทับใจเจ้าหน้าที่มากกว่าเค้าไม่ได้ปฏิบัติต่อเราในฐานะขี้ยา เค้าปฏิบัติต่อเราในฐานะคน ๆ นึงที่ป่วยแล้วต้องการความช่วยเหลือคุยกับเราพยายามหาต้นตอ เค้าบอกว่าอาการที่ผมเป็น แปลไทยก็คือจิตเภทเค้าก็พยายามหาต้นต่อว่านอกจากกัญชาแล้วมีเรื่องอื่นมั้ยที่ทำให้เครียด มีความกังวลเรื่องเรียนเป็นยังไงเรื่องครอบครัวเป็นยังไงตรงนี้ผมว่าช่วยได้เยอะ”


“ปัญหาคือเรื่องอาหารการกินไม่ค่อยถูกปากคือ 3 มื้อที่เรากินมื้อเช้ามื้อเย็นเหมือนกัน ขนมปังแฮม 2 แผ่น ชีส 1 แผ่น แตงกวาดองกินให้มีพลังงานเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน มื้อกลางวันจะหลากหลายหน่อย บางวันเป็นสเต็กบางวันเป็นปลาแซลมอน ทุกเย็นด้วยความที่กินแค่นี้มันไม่อิ่มหรอก ก็มีการนัดกันกับผู้ป่วยด้วยกันเองเดี๋ยววันนี้เราจะสั่งเคบับ จะสั่งร้านอาหารเอเชียมีใครจะสั่งอะไรมั้ย ส่วนใหญ่ก็หมดไปกับตรงนี้เพราะทุกอย่างมันค่อนข้างฟรีหมดก็มีแค่ค่าบุหรี่กับค่าอาหารแต่ละวันอีก”

ทุกวันนี้ โทนีไม่ได้ใช้กัญชาแล้ว แต่ยังสูบบุหรี่บ้าง ส่วนเหล้า แทบไม่แตะ

“บุหรี่จะหนักแต่เหล้าไม่ค่อยเท่าไหร่ด้วยความที่ออกจากโรงบาลมายังต้องกินยาอยู่ ยาตัวที่กินค่นข้างแรงอยู่ทำให้ตับทำงานหนักก็มีบ้างไปสังสรรค์กับเพื่อนแต่กินได้ไม่เยอะ กินนิดนึงเราก็เมาแล้วขอตัวไปนอนแล้ว”


::จากใจคนที่ผ่านการบำบัด - ทำให้มันถูกกฎหมายดีกว่า::


“ยิ่งเป็นเหตุผลที่จะทำให้มันถูกกฎหมาย พอมันผิดกฎหมายผมเชื่อว่ามันมีคนที่มีอาการแบบผมไม่กล้าไปหาหมอ เพราะรู้สึกว่าไปแล้วเค้าจะส่งไปตำรวจหรือเปล่า ไปแล้วเค้าจะปฏิบัติกับเราดีมั้ย”

“การทำให้มันเปิดทำให้คนที่เค้ามีปัญหาสะดวกใจในการเดินไปหาหมอมากขึ้น อย่างเยอรมันทุกวันนี้ก็ผิดกฎหมายแต่กฎหมายก็ออกมาว่าถ้าคุณใช้ในปริมาณน้อยตำรวจจะไม่ดำเนินคดีกับคุณในส่วนนี้ทำให้คนรู้สึกสะดวกใจเดินไปบำบัด สมัครใจไปบำบัดมากขึ้น แน่นอนว่าการแพทย์มันดีอยู่แล้วการใช้ในเชิงสันทนาการมันควรจะมีการควบคุมว่าประชาชนซื้อได้เท่าไหร่ไม่เกินเท่าไหร่”


“ทุกวันนี้ถ้าผมอยู่ไทยก็ใช้แบบไม่จำกัดพอใช้แบบนั้นไปเรื่อย ๆ มันมีปัญหาอยู่แล้ว แต่อย่างเนเธอร์แลนด์พอทำให้ถูกกฎหมายไปคุณไป Coffee Shop เค้าก็จะบอกเลยว่าคุณซื้อได้ปริมาณเท่าไหร่สูงสุดไม่เกิน 50 กรัม/ครั้ง ตรงนี้น่าจะช่วยได้ในการคุมให้ประชาชนใช้ในปริมาณที่จำกัดมากขึ้น”


“มุมมองผมตอนที่ไปอยู่ในวอร์ดคนที่อาการหนัก ๆ ตัวสั่นตลอดเวลา ไม่พูดไม่จา ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเพราะกัญชานะ ส่วนใหญ่เป็นเพราะเหล้าอาการติดเหล้า ถ้าตีว่าคนที่อยู่ที่นั่นประมาณครึ่งนึงคือกัญชา อีกส่วนนึงที่ผมมองว่าที่น่าจะหนักกวว่ากัญชาคืออาการติดเหล้า รู้สึกว่ากัญชาไม่ได้น่ากลัวไปน้อยกว่าเหล้าเลยทำไมไม่ทำให้มันถูกกฎหมายและควบคุมให้มันอยู่ในปริมาณที่คนใช้แล้วไม่ทำลายร่างกายตัวเอง”

“บางทีเราเครียดเกินไป กดดันเกินไป เหงาเกินไปตรงนี้ด้วยมากกว่าที่ทำให้เรามีปัญหาของจิตตาม”

“ทุกวันต่อให้มันผิดกฎหมายในไทยอยู่คนก็ใช้กันทั่วไปมาก ๆ ใช้แบบไม่รู้จำกัดตัวเองด้วยว่ามันมากหรือน้อยเกินไป มันดีกว่าอยู่แล้วที่จะดึงมันออกมาอยู่ในที่สว่าง คนจะได้สบายใจในการรับการรักษา รัฐจะได้อย่างน้อยรู้ว่ามีการใช้มากน้อยแค่ไหนในหมู่ประชาชนเป็นข้อมูลในการรักษาอีกทีนึง บางทีก็แล้วแต่พื้นที่มีวิจัยนึงพบว่าเมืองที่มีคนใช้กัญชาเยอะจะมีผู้ป่วยอาการแบบผมเยอะตามไปด้วย data พวกนี้รัฐจะไม่มีทางรู้เลยถ้ารัฐยังไม่ทำให้ถูกกฎหมาย”


::สำหรับผู้ใช้ - ถ้าไม่ไหว ยอมรับและขอความช่วยเหลือเถอะ::


“เวลาคุณใช้คนรอบข้างคุณจะไม่มีทางเข้าใจคุณว่าทำไมคุณถึงใช้ เค้าจะบอกให้คุณเลิกบอกให้คุณลดลงหน่อย เพราะคุณก็จะไม่มีทางทำตามเช่นกันเพราะคุณรู้สึกว่าคุณเอาอยู่อยู่คุมมันได้แต่พอถึงจุดนึงถ้ามันมีปัญหาก็อยากให้ยอมรับว่าคุณต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ คุณไม่ปกติแล้ว ถ้ามันถึงจุดนั้นคิดว่าเดินไปหาหมอดีกว่าอย่าปล่อยให้มันทำร้ายเรา”  

โทนีกล่าวทิ้งท้าย และอยากฝากถึงคนรอบข้างว่าขอให้ช่วยประคับประคองทำในแง่บวกอย่ามองเขาเหล่านั้นเป็นขี้ยา หากแต่เป็นคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ ให้กำลังใจดีกว่าการไปตราหน้าหรือตีตราว่าเค้าเป็นคนผิดคนบาปในสังคม