'เผ่าภูมิ' ชี้คนจนเพิ่ม 5 แสน เป็นสัญญาณอันตราย บัตรคนจนไม่ช่วยแก้จน ต้องแทนที่ด้วย 'บัตรสร้างงาน'
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ ผอ.ศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวกรณีสภาพัฒน์ฯชี้แจงกรณีคนจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคนในปี 63 ว่า
1. จากความล้มเหลวในด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พรรคเพื่อไทยไม่แปลกใจที่ตัวเลขคนจนปี 63 เพิ่มขึ้น แต่แปลกใจในมุมมองของหน่วยงานภาครัฐที่ว่าคนจนน้อยกว่าคาดเพราะได้เงินรัฐเยียวยา เราไม่ควรพึงพอใจกับสิ่งเหล่านี้ ต่อไปก็กู้มาแจก แจกจนคนพ้นเส้นความยากจนทุกคน แต่ประเทศเป็นหนี้ แล้วพึงพอใจว่าแก้จนได้อย่างนั้นหรือ ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนจนนั้น ไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ต้องกังวล โดยปกติจำนวนคนจนควรลดลงทุกปีๆ จากการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ถ้าปีไหนไม่ลด นั่นคือสัญญาณอันตราย
2. ตัวเลขคนจนที่เพิ่มขึ้นถึง 5 แสนคนนั้น น่าเป็นห่วง เพราะเพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 11.6% เทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่คนจนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 6.2% ต่อปี สะท้อนความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้ที่เปอร์เซ็นต์คนจนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงต้มยำกุ้งถึงเกือบ 2 เท่าตัว
3. คนจนที่เพิ่มขึ้น 5 แสนคนนั้น เป็นตัวเลขปี 63 ซึ่ง “ยังไม่ได้สะท้อน” ผลกระทบของปี 64 ที่สาหัสกว่าปี 63 มีการระบาดที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่ากันถึงกว่า 100 เท่า การล็อกดาวน์ต่อเนื่องยาวนานและหลายระลอกกว่า การปิดกิจการ การตกงานที่หนักหน่วงกว่า (Q3/64 มีคนว่างงานสูงสุดตั้งแต่มีการระบาด) ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะสะท้อนในตัวเลขคนจนที่จะเพิ่มขึ้นในปี 64
4. อย่าโทษว่าคนจนเพิ่มเพราะโควิด เพราะรัฐบาลปัจจุบัน และ คสช. ทำคนจนเพิ่มก่อนจะมีโควิดด้วยซ้ำ โดยเฉพาะช่วง คสช. ในช่วงปี 58 – 61 นั้น คนจน “เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 11.7%” เทียบเท่าช่วงวิกฤตในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่แก้จนสำเร็จ ทำให้คนจน “ลดลงเฉลี่ย 6.9% ต่อปี”
5. คนจนที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลต่อปัญหาหนี้ ซึ่งได้สะท้อนในตัวเลขหนี้ครัวเรือน และที่น่ากังวลคือหนี้นอกระบบ ที่ปัจจุบันเพิ่มจากปี 62 ถึง 52% นี่คือปรากฎการณ์ “หนี้ในระบบไหลสู่หนี้นอกระบบ” ซึ่งตรงนี้อันตราย แก้ยาก และส่งผลกระทบซึมลึกต่อเศรษฐกิจไทย
6. พรรคเพื่อไทยแปลกใจ และกังวลใจต่อคำให้สัมภาษณ์ตามข่าวที่ว่า บัตรคนจนสามารถเป็นนโยบายระยะยาวต่อเนื่องไปได้ พรรคเพื่อไทยเห็นว่านโยบายในลักษณะหยอดเงิน หรือล่อคนด้วยเงิน ผ่านบัตรคนจนนั้น ไม่ใช่คำตอบของการแก้จน ไม่ควรเป็นนโยบายในระยะยาว เพราะไม่ได้สร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาว “บัตรคนจน” ควรจะถูกแทนที่ด้วย “บัตรสร้างงาน” เพราะการสร้างงานเท่านั้นคือคำตอบการแก้จน ต้องเปลี่ยนการแจกเงินเป็นการแจกงาน
7. นโยบาย “1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” ของรัฐบาลนั้น เลียนแบบมาจากนโยบายแก้จนจนแบบตรงจุด (TPA) ของจีน ปัญหาคือเราไปจำของเขามาพูด โดยที่ไม่เข้าใจว่าต้องคิดให้ครบทั้งระบบ เริ่มจากการค้นหาปัญหาของคนยากจนในระดับรายบุคคล เชื่อมปัญหานั้นกับหน่วยงานที่ตั้งขึ้นพิเศษ ตั้งกองทุนเฉพาะเพื่อแก้จน การออกพันธบัตรเพื่อกระตุ้นการย้ายภาคการผลิต การเชื่อมกับสถาบันการเงินเพื่อให้ Microcredit รวมถึงสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด และการจับให้ผู้ซื้อได้เจอกับผู้ขาย ทั้งหมดนี้ต้องคิดให้ครบวงจร เชื่อมนโยบายระดับ Macro กับ Micro ให้ผสานกัน ต้องคิดให้ครบทั้งระบบแบบนี้ ไม่ใช่จำเขามาพูดเป็นท่อนๆ