Skip to main content

'ดร.เผ่าภูมิ' ร่วมวงเสวนา ชู 7 กลยุทธ์ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในเวทีการค้าโลก

เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมเสวนา "การทูตไทยและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ" จัดโดยมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ โดยในการเสวนาได้นำเสนอ 7 กลยุทธ์ด้าน ศก. ระหว่างประเทศในเวทีการค้าโลก ดังนี้

1. "แสวงหาความร่วมมือ" : พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแสวงหาจุดร่วมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ รวมถึงการเร่งกอบกู้ศักดิ์ศรีและการยอมรับของไทยในเวทีโลกที่เสียไปในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ไทยเป็นประเทศเปิดที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแสวงหาการค้าระหว่างประเทศ ผ่านข้อตกลงทางการค้าพหุภาคี รวมถึงนโยบายการทูตเชิงรุกและเข้มข้น

2. "เชื่อมห่วงโซ่การผลิต 2 วงของโลก" : ปัจจุบันห่วงโซ่การผลิตของโลกถูกแบ่งเป็น 2 วงห่วงโซ่เอเชียและห่วงโซ่อเมริกา และ 2 ห่วงโซ่นี้จะถ่างจากกันเรื่อยๆ หัวใจสำคัญคือไทยต้องประคองตนเองให้อยู่ในทั้ง 2 ห่วงโซ่การผลิตใหญ่ของโลกให้ได้ ปัจจุบันไทยมี RCEP ซึ่งเป็นห่วงโซ่การผลิตฝั่งเอเซีย แต่ไทยยังขาดการเข้าถึงเขตการค้าเสรีของห่วงโซ่การผลิตฝั่งอเมริกา ยุโรป ซึ่งเป็นความเสียโอกาส ควรเร่งรัดการเจรจา FTA ไทย-EU โดยเร่งด่วน ส่วน CPTPP ก็สำคัญ เป็นเขตการค้าเสรีที่เชื่อมทั้ง 2 ห่วงโซ่เข้าด้วยกัน ต้องมุ่งเจรจา ศึกษา และสร้างความเข้าใจเพื่อลดผลกระทบด้านลบต่างๆ โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม และเวชภัณฑ์

3. "มุ่งครองห่วงโซ่การผลิต" : เร่งขยายสัดส่วนการครอบครองห่วงโซ่การผลิตโลกให้มากที่สุด สร้าง "ความมั่นคงด้านซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมไทย" เพราะผู้ถือซัพพลายเชนมีประโยชน์มากกว่าผู้ถือแบรนด์ในโลกเสรี ปัจจุบันมีโอกาสมหาศาลจากการที่ห่วงโซ่การผลิตถูกจัดระเบียบใหม่ รวมถึงความขัดแย้งของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น SMEs ไทยต้องได้รับการสนับสนุนให้เติบโต เพื่อให้แข่งในตลาดโลกให้ได้

4. "นโยบายการเงินต้องส่งเสริมการค้า" : นโยบายด้านการเงินเป็นส่วนสำคัญในการค้าระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ขาขึ้น ไทยถูกบีบให้ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก แต่สภาวะเศรษฐกิจยังไม่เอื้อให้ทำ นอกจากนั้น ธปท. ควรปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับความเป็นประเทศเปิดขนาดเล็กของไทยมากขึ้น ควรปรับใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวชี้นำดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าการใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย

5. "ปรับโครงสร้างเพื่อดึงดูดการลงทุน" : เร่งสร้างให้ไทยเป็นเป้าหมายการค้าการลงทุนของภูมิภาค ต้องสร้างความน่าดึงดูดที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ผ่านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แล้วจึงใช้การทูตและสิทธิประโยชน์ต่างๆเพื่อต่อยอด ต้องปรับแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ กระตุ้นอัตราการเกิดโดยเร่งด่วน เพิ่มทักษะแรงงานโดยมองศึกษาเป็นกลไกที่ต้องหมุนตามตลาดแรงงาน ขยับสัดส่วนสายอาชีพ สร้างแรงงานหลายทักษะด้วย Certificate และธนาคารเครดิต ทั้งนี้ประเทศที่ดึงดูดการลงทุนได้มาก เศรษฐกิจในประเทศต้องโตสูง การบริโภคในประเทศและจำนวนประชากรต้องสูงพอที่จะดึงดูดการลงทุน

6. "สร้างอุตสาหกรรมจากกำลังซื้อกลุ่มใหม่" : เร่งแสวงหากำลังซื้อใหม่จากโครงสร้างประชากรโลกที่สร้างผู้สูงวัยที่กำลังซื้อสูงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ และท่องเที่ยว นอกจากนั้นโควิดทำให้การใช้เทคโนโลยีสูงก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ส่งประโยชน์ถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิล็กทรอนิกส์ไทย ในขณะเดียวกันต้องเร่งปรับตัวอุตสาหกรรมขาลง เช่น รถยนต์สันดาปภายใน ฮาร์ดดิสที่จะถูกแทนที่ด้วย SSD รวมถึงการสร้างภาคบริการสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสูง (Modern Services) ไม่ว่าจะเป็น บริการทางการเงิน บริการโทรคมนาคม ธุรกิจประกันภัย ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าภาคบริการพื้นฐานอย่างการท่องเที่ยว

7. "เติบโตไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อม" : การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบและบทบาทด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในเวทีโลก ประเทศไทยยังล้าหลังทั้งบทบาทและมาตรการรูปธรรมด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อมตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย การสนับสนุนรถยนต์ EV เป็นต้น ทั้งนี้รวมถึงขยายบทบาทความร่วมมือด้านสาธารณสุข ส่งเสริมการพัฒนาและวิจัยเวชภัณฑ์ในการต่อสู้กับโรคระบาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต