Skip to main content

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงชี้แจงกรณีมีการพบเชื้อโควิด-19 สายกลายพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

สาธิต กล่าวว่า สำหรับการติดตามสายพันธุ์โควิด-19 ในไทย ต้องย้ำว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ ติดตามและเก็บตัวอย่าง ตรวจสอบการติดเชื้อของผู้ติดเชื้อในไทยมาตั้งแต่ต้น มีข้อมูลที่สามารถเปิดเผยอย่างโปร่งใส ซึ่งส่วนนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามา นอกจากนั้น กรมวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจพบแล้วส่งข้อมูลรายงานไปยังระบบนานาชาติ เพื่อให้ข้อมูลกับทั่วโลก

"อย่าตื่นตระหนก สธ.ติดตามเชื้อกลายพันธุ์ เมื่อเราพบสายพันธุ์ใหม่ๆ ในแต่ละพื้นที่ กรมวิทยาศาสตร์ฯ มีการชี้แจงมาตลอด เช่น เบต้า เดลต้า ฯลฯ เก็บจากแต่ละพื้นที่ มีการเก็บตามหลักเกณฑ์ ดังนั้นขอให้มั่นใจว่า เรามีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และจากการติดตามก็ยังไม่พบเชื้อตัวใดในไทยที่มีนัยยะสำคัญ จนถึงต้องทบทวนเรื่องการเปิดประเทศ ในขณะที่ประชาชนสนใจน้อยลง แต่กรมวิทยาศาสตร์ฯ ก็ยังตรวจหาเชื้ออย่างต่อเนื่อง ไม่มีการปกปิดข้อมูล ขอย้ำว่าอย่าตื่นตระหนก แต่ให้ติดตามข้อมูลอย่างมีสติ ติดตาม สธ. เพื่อให้เข้าใจและปฏิบัติตัวให้ถูกกับสถานการณ์" สาธิต กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในข้อเท็จจริง โดยกรมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ได้ตรวจเรื่องการกลายพันธุ์ พบว่า ระยะหลังประเทศไทยส่วนใหญ่พบสายพันธุ์เดลต้า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบ 1,000 รายเศษ เป็น เดลต้า อัลฟา 7 ราย และเบต้า 9 ราย

"ภาพรวมประเทศ มีเดลต้า ร้อยละ 98.6 ส่วนคำถามว่า 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา กรณีที่ จ.ยะลา ระบุว่าพบอัลฟาเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว ตอนนั้นยังตรวจตัวอย่างไม่มาก จึงพบเป็นแอลฟา แต่ขณะนี้เราตรวจเพิ่มขึ้น ก็พบว่า เดลต้ากินพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ใน 4 จังหวัด เพราะสัปดาห์ล่าสุด พบอัลฟา เพียง 3 ราย เดลต้า 377 ราย และเบต้า 9 ราย ฉะนั้น เป็นเครื่องยืนยันว่า การระบาดทั่วทุกภูมิภาคเป็นเดลต้า พบเบต้าในภาคใต้เล็กน้อย และแอลฟาลดลงเรื่อยๆ" นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มีการพูดถึงสายพันธุ์เดิม คือ อัลฟา เดลต้า แต่มีพลัสขึ้นมา ซึ่งหมายความว่ามีส่วนของสายพันธุ์เดิม แต่มีการเติมการกลายพันธุ์บางอย่างขึ้น เช่น ขณะนี้พบอัลฟา พลัส มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K โดยเป็นตำแหน่งหลบภูมิคุ้มกันได้ ทำให้อาการมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งพบตรวจจับได้ในระบบเฝ้าระวัง เราเจอแอลฟา พลัส ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2564 จำนวน 2 ราย ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้ต้องขัง ที่อาจมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และส่วนตะวันออก พบที่ จันทบุรี และ ตราด ในล้งลำไย 16 ราย เป็นคนกัมพูชา 12 ราย อีก 4 รายเป็นคนไทย ซึ่งเราประสานกับพื้นที่เพื่อควบคุมโรค โดยจะมีการขยายการตรวจพื้นที่อื่นเพิ่มเติม

นพ.ศุภกิจ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

"การรายงานในจีเสส (GISAID) ถึงสายพันธุ์อัลฟา พลัส พบว่า จริงๆ แล้วส่วนใหญ่พบในประเทศใกล้บ้าน คือ กัมพูชา ซึ่งกำลังระบาดเป็นจำนวนมาก โดยการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง E484k ซึ่งพบอยู่ในเบต้าและแกมมา ทำให้ เกิดการหลบภูมิฯ มากพอสมควร ดังนั้น อิทธิฤทธิ์ของอัลฟา พลัส คืออยู่ระหว่างเบต้าและแกมมา ดังนั้น หากพบมาก ก็จะหลบภูมิฯ แต่โชคดีที่อัลฟา ถูกเบียดโดยเดลต้าทำให้อำนาจการกระจายไม่สูง เหมือนเบต้าที่อิทธิฤทธิ์มากในภาคใต้ แต่ถูกเบียดและลดลงจำนวนลงเรื่อยๆ ซึ่งต้องตรวจพื้นที่อื่นต่อไป ทั้งนี้ อัลฟา พลัส ไม่ใช่เชื้อใหม่ แต่พบที่อังกฤษเป็นประเทศแรก เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 และขณะนี้ก็ระบาดในกัมพูชาในเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น" นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์เดลต้า พลัส มีความซับซ้อนเล็กน้อย เนื่อจากเดลต้าปกติ (B.1.617.2) ที่ระบาดในอินเดียและทั่วโลกกว่าร้อยละ 80-90 มีตระกูลลูกหลานจาก .2 ก็เพิ่มเป็น .2.1 , .2.3 เขาเห็นว่ายาวเกินไป เพื่อทำความเข้าใจได้มากขึ้น ก็เปลี่ยนเป็น AY ซึ่งขณะมี AY1-47 ชนิด เป็นตามระบบการเรียกทั่วโลก โดยทุกอันต้องมีฐานคือ เดลต้าอยู่ก่อน เมื่อมีการกลายพันธุ์จุดอื่น ก็เรียกเป็นเดลต้า พลัส ทั้งนี้ สายพันธุ์ย่อยมีในประเทศไทย ตามระบบที่เราตรวจจับได้ เช่น AY3 , AY4 , AY10 เป็นต้น เจอมากน้อยต่างกันไป แต่ที่พบมาก คือ AY30 พันกว่าราย และ AY39 อีก 83 ราย

"ส่วนที่มีคนถามถึง AY4.2 หรือ เดลต้า พลัส ที่เป็นประเด็นในอังกฤษ พบการระบาดพอสมควร ทั้งในอังกฤษและยุโรปหลายประเทศ โดย AY4.2 คือ เดลต้า แล้วมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง Y145H และ A222V ที่เรากังวลคืออำนาจการกระจายเพิ่มจาก เดลต้าปกติประมาณร้อยละ 10-15 ซึ่งไม่มากหากเทียบกับอัลฟ่าที่มากกว่าสายพันธุ์จี 1.7 แล้วจากแอลฟามาเป็นเดลต้า ก็ 1.4 หรือ ร้อยละ 40 อันนี้มากกว่าเดลต้า ร้อยละ 10-15 แปลว่า เร็วกว่าเล็กน้อย แต่วันนี้ไทยยังไม่พบ AY.4.2 ซึ่งอาจจะพบได้ในวันอื่นแต่วันนี้ยังไม่พบ" นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การพบเกิดจากได้รับข้อมูลจากสถานบันการแพทย์ทหาร (AFRIMS) ที่ตรวจตัวอย่างใน จ.กำแพงเพชร เมื่อเดือนกันยายน 2564 จาก ผู้ป่วยชาย 1 ราย จาก จ.พระนครศรีอยุธยา มีการตรวจพบว่า เป็นเดลต้า พลัส ที่เป็น AY.1 ที่เกิดการกลายพันธุ์ที่ K41.N ซึ่งเป็นคนละตัว 4.2 แต่ขณะนั้นยังไม่มีข้อมูลในโลกว่า K41.N จะเกิดอิทธิฤทธิ์อะไรกว่าเดลต้าอย่างไร ต่างกับ 4.2 ที่มีข้อมูลว่าแพร่เร็ว แต่ทั้งหมดยังไม่ถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่าจะมีปัญหา แต่เรากลัวว่า K41.N จริงๆ พบในเบต้าเหมือนกัน ซึ่งเราต้องจับตาดู แต่เนื่องจากผู้ป่วยเข้าอยู่ใน รพ.สนาม และหายเป็นปกติออกไปแล้ว เพียงแต่เราต้องเก็บตัวอย่างผู้มีความเสี่ยงเพิ่มเติม โดยสรุปขณะนี้ไทยพบ แอลฟา พลัส 18 ราย เดลต้า พลัส AY.1 เพียง 1 ราย ส่วนเดลต้า พลัส ที่เป็น AY.4.2 ยังไม่พบในประเทศ อย่างไรก็ตาม ระบบของเราทำการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 450-500 ตัวอย่าง และส่งข้อมูลเข้าจีเสสภายใน 1 สัปดาห์ ขณะนี้ส่งไปแล้วกว่า 5,000 ตัวอย่าง ข้อมูลจึงเปิดเผยโปร่งใส เพื่อให้เห็นภาพรวมการกลายพันธุ์ของโลก

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการหารือหลังพบสายพันธุ์เดลต้า พลัส ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ภาคใต้ รวมไปถึงอาจมีการ สั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคงวางกำลังตามแนวชายแดนหลังพบการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า แผนการรับมือหลังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า พลัส ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้กระทรวงสาธารณะสุขยังไม่มีการกำหนดแนวทางเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ในระยะเฝ้าระวัง ส่วนการแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังอยู่ในระดับทรงตัว และเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในนครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส