ชาติสมาชิกอาเซียนหารือว่าอาจไม่เชิญผู้นำเผด็จการทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่จะมีขึ้นในเดือนนี้ เนื่องจากกองทัพเมียนมาล้มเหลวในการเดินหน้าโรดแมปฟื้นฟูสันติภาพในประเทศ ขณะที่มาเลเซียเผยพร้อมเจรจารัฐบาลเงาเมียนมาหากรัฐบาลทหารไม่ให้ความร่วมมือกับผู้แทนพิเศษอาเซียน
‘อีริวาน ยูซอฟ’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของบรูไนในฐานะผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านเมียนมาเผยว่า การที่รัฐบาลทหารเมียนมาเพิกเฉยต่อมติ 5 ข้อ ที่เห็นชอบกับอาเซียนเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาก็มีค่าเท่ากับการก้าวถอยหลัง และรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ตอบสนองโดยตรงต่อข้อเรียกร้องของเขาที่ขอเข้าพบ ‘อองซาน ซูจี’ ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่มีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งรัฐมนตรีอาเซียนกำลังหารือเกี่ยวกับการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 26-28 ต.ค.นี้ของเมียนมา และใครควรจะเป็นผู้แทนเข้าประชุม มีข้อเสนอบางอย่างแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยกำลังหารือกับประเทศหุ้นส่วนการเจรจาว่ามีความเห็นอย่างไร
สถานการณ์ในเมียนมาปั่นป่วนนับตั้งแต่รัฐประหาร ขณะที่ในโรดแมปอาเซียนนั้นครอบคลุมถึงคำมั่นในการเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การอนุญาตให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและยุติความเป็นปรปักษ์ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าในการประชุมออนไลน์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้แสดงความผิดหวังที่สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) หรือรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ทำให้เกิดความก้าวหน้าตามโรดแมปดังกล่าว
ขณะที่ ‘ไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์’ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียเผยผ่านทวิตเตอร์ว่าหากไม่มีความก้าวหน้าเกิดขึ้น ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะเชิญพลเอกอาวุโส ‘มินอ่องหล่าย’ ประธาน SAC เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน นอกจากนี้ยังได้กล่าวย้ำในรัฐสภาของมาเลเซียเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า ผู้แทนพิเศษอาเซียนกำลังทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อเดินหน้าโรดแมปดังกล่าว ทั้งยังเผยว่ามาเลเซียกำลังพิจารณาจัดการหารือกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งรัฐบาลเงาที่ก่อตั้งโดย ส.ส. จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งถูกยึดอำนาจ หากรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ให้ความร่วมมือในมติ 5 ข้อที่เห็นชอบกับอาเซียนเพื่อแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น
วิกฤตการเมืองในเมียนมาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารที่ส่งผลให้มีประชาชนถูกสังหารไปแล้วกว่า 1,100 คน ถือเป็นบททดสอบสำคัญต่อหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของอาเซียน อย่างไรก็ตาม หากมาเลเซียหารือกับ NUG จะถือเป็นชาติแรกในอาเซียนที่พูดคุยอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลเงาเมียนมา และน่าจะสร้างแรงกระเพื่อมไม่น้อยต่อสถานะของรัฐบาลทหารที่นำโดยพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ซึ่งพยายามแสวงหาการรับรองอย่างเป็นทางการจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอาเซียนในฐานะรัฐบาลที่ชอบธรรมของเมียนมา
รอยเตอร์สรายงานว่า ‘จ่อมินทุน’ โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว แต่ในการให้สัมภาษณ์กับเรดิโอฟรีเอเชียในเมียนมาเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา เมื่อถูกถามว่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นกับเมียนมาหากไม่ได้รับอนุญาตเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน เขาได้ตอบว่านอกเหนือไปจากเสียงวิจารณ์บางส่วนในประชาคมโลกก็ไม่มีอะไร อาจมีผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อยในบางโครงการของอาเซียน หรือการประชุม หรืองานที่ทำร่วมกับประเทศอื่นๆ
อ้างอิง
- ASEAN ministers weigh excluding Myanmar junta leader from summit: Envoy
- Malaysia to Talk to Myanmar’s Parallel Govt if Junta Fails to Cooperate With ASEAN
- ASEAN mulls downgrading Myanmar representation at summit