Skip to main content

การจัดอันดับประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม หรือดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization, WIPO) ในปี 2020ไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 44 จาก 131 ประเทศทั่วโลก ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

หลายคนคงมีคำถามเมื่อเห็นอันดับนวัตกรรมของไทยที่อยู่ต่ำกว่าประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ประเทศไทยถูกแซงแล้วหรือ? ความสามารถในการแข่งขันของไทยสู้เขาได้ไหม ? และเราอยู่ตรงไหนในเวทีระดับโลกกันแน่ ?

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) บอกว่า ผู้ประกอบการธุรกิจไทยนั้นเก่งกว่าที่เราคิดไว้มาก โดยดูจากบริษัทขนาดใหญ่ของไทยหลายรายซึ่งมีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้ดีในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรม

“เรามีบริษัทที่ลงทุนทำเรื่องวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นสัดส่วนมากกว่ารัฐสูงที่สุดในโลก เราได้ที่ 1 ของโลกจาก 131 ประเทศ นั่นหมายความว่าเอกชนไทยตื่นตัวมาก”

ดร.พันธุ์อาจ บอกว่า เอกชนไทยที่ทำนวัตกรรมแข่งขันในระดับโลกจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แม้เงินลงทุนในด้านนี้จะไม่ใช่จำนวนเงินมูลค่ามหาศาล และไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมไฮเทค แต่เป็นการลงทุนวิจัยนวัตกรรรมในประเภทอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความถนัด

มุมมองเดียวกันนี้ สะท้อนออกมาจาก ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรมไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่ของไทยไปสู่ตลาดโลก

“ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลก บางครั้งอุตสาหกรรมในประเทศไทยมักจะมองกันเองในประเทศเป็นคู่แข่ง ผมว่ามันเป็นมุมมองที่ผิด จริงๆแล้วคู่แข่งเราไม่ได้อยู่ในประเทศ คู่แข่งเราคือคู่แข่งในโลกมหาศาล”

ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน (Global Innovation Center) ตั้งขึ้นในปี 2558 ด้วยเงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เพื่อให้เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือทั่วโลก และเป็นศูนย์กลางคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ

"สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราเข้าใจเทรนด์ของผู้บริโภคขนาดไหน อุตสาหกรรมอาหารในโลกตอนนี้ เทรนด์ที่มาแรงที่สุดก็คงเกี่ยวกับ plant-based”

ดร. ธัญญวัฒน์ บอกว่า จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ปริมาณโปรตีนจากอาหารมีไม่เพียงพอ ขณะที่กระบวนการผลิตโปรตีนจากสัตว์ก็สร้างภาวะเรือนกระจกกับโลกค่อนข้างสูง ขณะเดียวกัน ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ห่วงใยผลกระทบด้านสุขภาพจากการบริโภคโปรตีนสัตว์

ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน บอกว่า โปรตีนจากพืชอาจเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า และสอดคล้องกับกระแสโลกที่หันมานิยมบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้น

"เราตอบสนองอย่างไร ก็อยู่ในนวัตกรรมที่เราจะเอาผลิตภัณฑ์อะไรที่ออกมาให้"

ไทยยูเนี่ยนเริ่มต้นโครงการนวัตกรรม จากการสร้างศูนย์นวัตกรรมที่เรียกว่า Global Innovation Incubator ขึ้นในพื้นที่ชองมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นศูนย์บ่มเพาะการวิจัยและนวัตกรรมของบริษัท ดร. ธัญญวัฒน์ บอกว่าหลังจากผ่านไป 3 ปี ก็เริ่มเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์หรือผลงานออกมา จึงจัดสร้างเป็นศูนย์นวัตกรรม หรือ Global Innovation Centerขนาดใหญ่ มีพื้นที่ราว 5,000 ตารางเมตร มีนักวิจัยกว่า 120 คนในปัจจุบัน ซึ่งเขามองว่า การสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมนั้น เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

นอกจาก การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ของบริษัทเองแล้ว ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนียนยังทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อให้สตาร์ทอัพเติบโตขยายธุรกิจไปสู่ระดับนานาชาติ

“ต้องบอกว่าสตาร์ทอัพในไทยมีดีๆ เยอะพอสมควร จุดหนึ่งซึ่งเป็นมุมมองของผมเอง สตาร์ทอัพในไทยจะต้องผ่านจุดที่เรียกว่าเอสเอ็มอีให้ได้ แต่ถามว่าเทคโนโลยี มุมมอง ความคิดความสามารถของคน ผมไม่คิดว่าเราด้อยกว่าใครเลย”

ดร. ธัญญวัฒน์ บอกว่า ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งของไทย ยกตัวอย่าง ไทยยูเนี่ยน ไทยเบฟ เบทาโกร ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมในลักษณะ collaborate innovation หรือการทำนวัตกรรมร่วมกัน ให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตและเปิดตลาดให้กว้างออกไปถึงตลาดต่างประเทศ ซึ่งช่วยให้สตาร์ทอัพไทยก้าวข้ามการแค่เป็นบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กได้

“เราไม่ต้องเป็นเจ้าของเขา เราไปเริ่มทำงานร่วมกับเขา เราสามารถจะโตไปด้วยกัน อันนี้ผมว่ามันไม่ใช่แค่ลดการเหลื่อมล้ำ เป็นการร่วมมือ ร่วมใจ และสามารถสร้างความแข็งแรงของอุตสาหกรรมไปด้วยกัน” ดร. ธัญญวัฒน์ กล่าว

 

<video>20210920-01.mp4<video>