Skip to main content

13 องค์กรระหว่างประเทศส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของไทย แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการควบคุมฝูงชนและมาตรการอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่มักละเมิดสิทธิผู้ชุมนุม และมีการละเมิดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชน พร้อมเรียกร้องทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ยุติการปราบปรามผู้ชุมนุม และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเอื้อต่อการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบของประชาชน

องค์กรระหว่างประเทศ 13 องค์กรที่ส่งจดหมายถึง 'พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรีและ 'พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข' ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกอบไปด้วย Amnesty International, ARTICPE 19,  ASEAN Parliamentarians for Human Rights Asia Democracy Network, Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA),  Asian Network for Free Elections (ANFREL), CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation, Civil Rights Defenders, FIDH – International Federation for Human Rights Fortify Rights, Human Rights Watch, International Commission of Jurists, Manushya Foundation 

13 องค์กรระหว่างประเทศส่งจดหมายถึงนายกฯ กังวลสิทธิการชุมนุมอย่างสงบในไทย

ในจดหมายดังกล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงและการใช้กำลังเกินสัดส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการประท้วงที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ทั้งการตอบโต้ที่ไม่ได้สัดส่วนของตำรวจควบคุมฝูงชนต่อการยั่วยุของผู้ชุมนุม ไปจนถึงการคุมขังผู้นำประท้วงตามอำเภอใจ โดยผู้นำการชุมนุมเหล่านี้เพิ่งถูกตั้งข้อหาอาญาเพิ่มเติม ถูกปฏิเสธการให้ประกันตัวและถูกคุมขัง โดยชี้ว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อปกป้องผู้ประท้วงจากความรุนแรง และทำให้แน่ใจว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบได้อย่างปลอดภัยในช่วงการระบาดของ COVID-19

จดหมายดังกล่าวยังระบุว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งตำรวจควบคุมฝูงชนและผู้ชุมนุมมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในการชุมนุมทางการเมือง ในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว ตำรวจได้ใช้กำลังสลายการประท้วงโดยใช้กระสุนยาง ปืนฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตาอย่างน้อยสิบครั้ง โดยที่ผู้ชุมนุมได้ขว้างก้อนหินและระเบิดขวด ยิงพลุ และใช้ไม้ง่ามหนังสติ๊กยิงหัวน็อตใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน การปะทะหลายครั้งเกิดขึ้นบริเวณสี่แยกดินแดงใกล้กับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ การชุมนุมเหล่านี้มีเยาวชนเป็นผู้เข้าร่วมหลัก โดยผู้ชุมนุมจำนวนมากมีอายุต่ำกว่า 18 ปี

ทั้ง 13 องค์ระหว่างประเทศมองว่า มาตรการควบคุมฝูงชนและมาตรการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมักละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม อีกทั้งละเมิดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมแบบไม่เลือกหน้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากฟุตเทจวิดีโอจากการชุมุนมเมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นว่าตำรวจควบคุมฝูงชนขึ้นไปยิงกระสุนยางบนทางด่วน ซึ่งเป็นระยะที่ไกลเกินกว่าจะยืนยันได้ว่าบุคคลที่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นเป้าหมายของการควบคุมฝูงชนตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังปรากฏในวิดีโออื่นๆ ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางใส่บุคคลที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านในระยะกระชั้นชิด อีกทั้งยังมีรายงานว่านักข่าวที่แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นสื่อมวลชนถูกยิงด้วยกระสุนยางในการรายงานข่าวชุมนุมด้วย

ดังนั้นเพื่อบรรลุพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ทั้ง 13 องค์กรจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่เพียงแต่ยุติการปราบปรามผู้ชุมนุม แต่ยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออกในบริบทการระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้รับรองว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ใช้กำลังเกินสัดส่วนและต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากไปกว่าอันตรายที่พวกเขาพยายามป้องกัน การใช้กำลังใดๆ จะต้องเป็นไปตามสัดส่วนของวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การปฏิบัติการตามระดับของภัยคุกคาม และยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้การประกันว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทุกคนที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมในด้านกลยุทธ์และยุทธวิธีที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทางการไทยควรตรวจสอบการละเมิดกฎหมายทั้งภายในประเทศและการละเมิดมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระโดยทันที และรับรองว่าผู้กระทำผิดต้องถูกนำตัวมาลงโทษ

ทั้งนี้ 13 องค์กรดังกล่าวยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการคุกคามผู้นำการชุมนุมและผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยทันที บุคคลที่ถูกคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงผู้นำการชุมนุมถูกปฏิเสธการให้ประกันตัวเมื่อเร็วๆ นี้ ควรได้รับการปล่อยตัวทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ควรมีบุคคลใดถูกกักขังเพียงเพราะใช้สิทธิของตนเอง เช่น สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบหรือการแสดงออกและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยริเริ่มการทบทวนกฎหมายและนโยบายทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบในประเทศไทย กฎหมายและนโยบายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างไม่ชอบธรรมควรได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ

ท้ายสุด ทั้ง 13 องค์กรระบุว่า ขอขอบคุณที่รัฐบาลไทยให้ความสนใจต่อประเด็นและข้อเสนอแนะในจดหมายฉบับนี้ และยินดีเป็นอย่างยิ่งหากมีโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

 

อ่านรายละเอียดจดหมายฉบับเต็มได้ที่ :   https://www.amnesty.or.th/latest/news/949/