Skip to main content

คณะกรรมการชาวแฟลตดินแดง แฟลต 1-17 นำโดย 'ประสงค์ หอมสนั่น' ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านทาง 'สมพาศ นิลพันธ์' ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 24 ส.ค. หลังกลุ่มชาวบ้านที่แฟลตดินแดงได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมและเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม

จดหมายร้องทุกข์ของชาวแฟลตดินแดงขอให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. สั่งการให้ปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) โดยใช้วิธีควบคุมการชุมนุม มากกว่าการใช้กำลัง, ใช้วิธีการควบคุมและสลายการชุมนุมเพื่อวัตถุประสงค์ให้ผู้ชุมนุมเลิกกระทำกิจกรรม และแยกย้ายกลับที่พักอาศัย มากกว่าการไล่ล่าผู้ชุมนุมและทำร้ายผู้ชุมนุม, ลดปริมาณการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม โดยใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และปรับเปลี่ยนวิธีการยิงแก๊ส และใช้ปืนบรรจุกระสุนยางที่ยิงไปยังบริเวณลำตัวหรือสูงกว่าบริเวณเอวขึ้นไปของผู้ชุมนุมดังที่ปรากฏตามสื่อฯ เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล

นอกจากนี้ ในการสลายการชุมนุม ขอให้เน้นการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงมากกว่าการใช้แก๊สน้ำตาและปืนบรรจุกระสุนยาง และขอให้ลดปริมาณสารเคมีที่นํามาผสมในน้ำเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อผิวหนัง ใบหน้า หรืออาการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ชุมนุมได้, ขอให้คัดเลือกเจ้าหน้าที่ คฝ. ให้เป็นผู้มีประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจ มีวัยวุฒิหรือวุฒิภาวะเพียงพอ เพื่อให้มีความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุของผู้ชุมนุมซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติของการชุมนุมโดยทั่วไป โดยใช้หลักคุณธรรมหรือถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่าการใช้ความรุนแรง ,ขอให้คัดเลือกผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่จะมาทำหน้าที่สั่งการในการควบคุมฝูงชน ไม่เป็นผู้ที่ฝักใฝ่ความรุนแรง

'ผู้ก่อการดี' ร้อง UN ปกป้องสิทธิเยาวชน หวั่นถูกหลอกใช้

ช่วงเช้าวันเดียวกัน ตัวแทนกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า 'ผู้ก่อการดี' เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงสหประชาชาติและสถานทูตต่างๆรวม 15 แห่ง เพื่อเรียกร้องให้แสดงออกทางสิทธิและเสรีภาพอย่างสันติวิธี รวมทั้งเรียกร้องให้ปกป้องสิทธิเด็กและเยาวชน ที่ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมือง โดย 'วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์' แอดมินเพจเชียร์ลุง และ 'ณัฐพัชร์ รพีวัชร์ภาคิน' เข้ายื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ (UN) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR

ณัฐพัชร์ บอกว่า ต้องการยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการนำเด็กและเยาวชนมาในพื้นที่ชุมนุม เพราะที่ผ่านมามีภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการชุมนุม และต้องการเรียกร้องให้หยุดการปลุกปั่น และให้ข้อทูลอันเป็นเท็จ หยุดหลอกลวงโดยใช้เด็กเป็นเครื่องมือ และที่ต้องยื่นหนังสือถึงยูเอ็นและนานาชาตินั้น เพื่อต้องการให้นานาชาติทราบปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะหลายครั้งที่ผ่านมาหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องในหลายเรื่อง แต่ยังไม่เห็นการออกมาเรียกร้องจากภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวัน จึงอยากให้มีความเท่าเทียมเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้หากต้องการแสดงออกทางการเมืองก็ควรมีการเปิดพื้นที่ให้เกิดแสดงออกทางการชุมนุมโดยสงบ

ด้าน 'วริษนันท์' เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ในการยื่นหนังสือไว้แล้ว แต่ไม่ทราบว่าเกิดความผิดพลาดประการใด หลังจากนี้จะไปส่งหนังสือผ่านอีเมลให้องค์การสหประชาชาติได้รับทราบถึงเรื่องราวการชุมนุมในประเทศที่ขณะนี้มีการใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมือง มีกลุ่มคนพยายามยุยง และสร้างความรุนแรงที่แยกใต้ด่วนดินแดงในช่วงที่ผ่านมา โดยเป็นการต่อต้านรัฐบาลที่ไม่มีข้อเรียกร้อง ซึ่งเนื้อความในหนังสือจะเป็นการชี้แจงให้ยูเอ็นได้รับทราบถึงปัญหาการชุมนุมที่ผิดกฎหมายในขณะนี้

ศูนย์ทนายฯ ชี้ เยาวชน "บาดเจ็บขณะถูกจับกุม" หลังร่วมชุมนุมแยกดินแดง

ด้าน 'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน' รายงานว่า 3 วันที่ผ่านมา มีผู้ชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงถูกจับกุมหลายราย โดยเมื่อ 23 ส.ค. มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมประมาณ 5 ราย ถูกควบคุมตัวไปกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และ สน.พญาไท หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุ 14 ปี ทนายความจากศูนย์ทนายฯ จึงเข้าไปช่วยเหลือทางด้านกฎหมายให้แก่เยาวชนที่ถูกจับ

ส่วนเยาวชนที่ถูกจับจากการชุมนุมวันที่ 22 ส.ค. มีจำนวน 19 ราย ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 11 ราย ในตอนแรกถูกขังที่ สน.พหลโยธิน เหตุเพราะถูกยึดโทรศัพท์ ติดต่อผู้ปกครองมารับไม่ได้ และมีรายงานว่าผู้ชุมนุมถูก คฝ.ใช้กระบองตีบริเวณขา บางรายถูกทำร้าย และถูกแก๊สน้ำตาเยอะจนหายใจไม่ออก

ขณะที่การชุมนุมวันที่ 21 ส.ค. มีการสลายม็อบด้วยกระสุนยาง ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตา เป็นเวลานานหลายชั่วโมง พบว่าผู้ถูกจับกุมที่ถูกส่งตัวไปที่ บช.ปส.นั้น มีจำนวน 7 ราย โดย 2 ราย ยังเป็นเยาวชนอายุ 14 และ 15 ปี ซึ่งทนายความสอบถามเพิ่มเติมจึงทราบว่า เยาวชนทั้ง 2 รายได้รับบาดเจ็บจากการจับกุม

รายหนึ่งเล่าว่า มีอาการเจ็บที่บริเวณเข่าและคอ เนื่องจากถูกถีบเข้าที่ท้ายทอยจนล้ม ถูกจับนอนราบกับพื้น เอามือไพล่หลังแล้วใช้สายเคเบิลไทมัดมือ ทั้งยังถูกตำรวจ คฝ. ใช้เท้าเตะที่หน้าอก ขณะที่อีกรายระบุว่า เจ็บที่บริเวณข้อมือเพราะเคเบิลไทของเจ้าหน้าที่และไหล่ช้ำ ถูกเท้าถีบที่ด้านหลัง เและผู้จับกุมเองไม่ได้แสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะจับกุม

นอกจากนี้ ช่วงค่ำวันที่ 24 ส.ค. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวว่า พบกลุ่มวัยรุ่นรวมตัวบริเวณแยกดินแดงและปาระเบิดยั่วยุ แม้ไม่มีการชุมนุม และย้ำว่าไม่ว่ากลุ่มไหน หากมีการรวมตัวถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน