Skip to main content

วันที่ 18 ส.ค.64 รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 วาระที่ 2 ในมาตรา 4 โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายในภาพรวม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการผู้สงวนความเห็นกล่าวว่า ได้ขอปรับลดงบประมาณทั้งสิ้น 100,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาถกเถียงงบทั้งในสภาใหญ่ กมธ.และอนุ กมธ. สามารถรีดไขมันมาได้ทั้งสิ้น 16,000 ล้านบาท ซึ่งตนคิดว่ายังไม่พอและไม่ใช่ทางออกของประเทศไทย ที่ควรต้องเป็นการรื้อโครงสร้างรัฐใน 2 ระดับ ทั้งระดับจุลภาคและมหภาค ในระยะสั้นและระยะยาว 

ในระยะสั้น ยังมีไขมันที่เหลือในงบประมาณแบ่งเป็น 3 ประเภท ไขมันประเภทที่หนึ่งคือไขมันที่ไม่ตอบโจทย์ต่อวิกฤตประเทศที่กำลังพบ เช่น งบความมั่นคง พบว่าทั้งที่ประเทศกำลังเผชิญภัยความมั่นคงทางสุขภาพ ประชาชนต้องการวัคซีนไม่ใช่กระสุน แต่เรายังคงเห็นงบประมาณกลาโหมในด้านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์หรืออาวุธขนาดใหญ่ที่คงไม่ได้ใช้เร็วๆนี้ และควรตัดได้ถึง 30,000 ล้านบาทแต่กลับตัดได้เพียง 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นแค่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีความซ้ำซ้อนในการจัดซื้อบางประเภท เช่น มีทั้งปืนตำรวจและปืนมหาดไทย หรือโครงการจัดทำ Big Data ทั้งของตำรวจ มหาดไทย และของกลาโหม หรืออย่างงบปืนตำรวจ พบว่ามีการสะสมมากขึ้นกว่าเดิมถึง 600 เท่า ใน 10 ปีที่ผ่านมา จึงไม่รู้ว่าจะตั้งงบประมาณซื้อไปอีกทำไม

ไขมันประเภทที่ 2 เน้นลงทุนในสิ่งก่อสร้างมากกว่าลงทุนในชีวิตคน เช่น งบอาคารสำนักงานจังหวัด บ้านพักข้าราชการ งบขยายอาคารสำนักงาน คิดเป็นประมาณ 170,000 ล้านบาท แต่ตัดได้แค่ประมาณพันกว่าล้านบาท ขณะที่งบสวัสดิการ เช่น งบบัตรสวัสดิการคนจนถูกตัด 20,000 ล้านบาท งบประกันสังคมถูกตัด 19,000 ล้านบาท เห็นชัดว่าประเทศให้ความสำคัญสิ่งปลูกสร้างมากกว่าคุณค่าคน ส่วนไขมันประเภทที่ 3 คืองบที่มีพิรุธ เช่น ราคาสูงกว่าท้องตลาดหรือใบเสนอราคาไม่สมบูรณ์ ถ้ารีดไขมันทั้ง 3 ประเภทเหล่านี้ถูกรีดจะตัดได้อีกหลายหมื่นล้าน ประหยัดความฟุ่มเฟือยของประเทศไปได้อีกมาก 

ในระยะยาว พิธา กล่าวว่า ต้องจัดกระดูกรัฐราชการไทยใหม่ ซึ่งมีโครงสร้างปัญหา 2 ประเภท โครงสร้างแรกคือ ความซ้ำซ้อน กระจัดกระจาย และลักลั่นไม่ชัดเจน เช่น กระทรวงกลาโหม มีทั้งสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพไทย โดยสำนักปลัดฯ มีกรมพระธรรมนูญ ส่วนทางกองบัญชาการกองทัพไทย ก็มีสำนักงานพระธรรมนูญทหาร ซึ่งดูแลเรื่องเดียวกันคือกฎหมาย เพียงแต่แยกกันอยู่ ซึ่งต้องใช้บุคลากรเพิ่ม ทรัพยากรเพิ่ม หรือกระทรวงคมนาคม มีกรมท่าอากาศยานยังมีบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือมีกรมทางหลวงแล้วยังมีกรมทางหลวงพิเศษแห่งประทศไทย ซึ่งภารกิจใกล้เคียงกัน แต่ไม่สามารถบูรณาการทำงานได้ 

โครงสร้างที่สอง ต้องปรับรัฐให้เข้ากับความปกติใหม่ของโลกหลังโควิด เช่น การค้า การพาณิชย์ การลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาถูกวางไว้เป็นคนละหน่วยงานไม่เชื่อมกัน แต่หากไปดูประเทศอย่างญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ การพาณิชย์ อุตสาหกรรม หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้าย BOI จะอยู่รวมกันเพื่อให้มองเห็นตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ แต่ของไทยอยู่คนละที่กันไม่มีโอกาสทำงานร่วมกัน ยกตัวอย่างการดูแลราคาสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ดูราคาข้าวกับปาล์ม กระทรวงเกษตรฯ ดูราคายาง กระทรวงอุตสาหกรรมดูราคาอ้อย ถามว่าแบ่งแบบนี้ด้วยตรรกะอะไร ควรจะต้องทำให้ครบวงจรรอบด้าน มีเอกภาพและบูรณาการ

ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายในการสงวนความเห็นในมาตราเดียวกันว่า การรีดไขมันในงบประมาณยังคงทำได้และมีความจำเป็นจะต้องปรีบโครงสร้างงบประมาณด้วย 

“เรากำลังจะมีปัญหาด้านงบประมาณไม่เฉพาะในปี  65 เท่านั้น จากตัวเลขจะเห็นว่า ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ ถึงเราจะเก็บรายได้ได้มากเท่าไหร่หรือกู้เต็มเพดานแล้วก็ยังมีงบไม่เพียงพอจ่ายให้เต็มวงเงิน จำเป็นต้องใช้เงินคงคลังส่วนหนึ่งมาโปะที่ยังขาด ในปี 65 ที่กำลังพิจารณานี้ก็ออกแบบให้กู้จนเต็มเพดาน แต่เมื่อเจอวิฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ไม่แน่ว่ารายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ที่ 2.4 ล้านล้านบาทจะยังคงเดิมหรือไม่ และปัญหานี้จะดำเนินต่อเนื่องไปปี 66 และปี 67 ที่จะจัดเก็บรายได้ได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ทุกปี ทำให้งบรายจ่ายแต่ละปีจะขยายตัวได้ไม่เต็มที่”


“ปัญหาคือจะรีดไขมันระยะสั้นก็ได้ หั่นงบอบรมสัมนาดูงานต่างประเทศไปเรื่อยๆ ก็ทำได้ แต่จะทำเรื่อยๆ แบบนี้โดยไม่ปรับโครงสร้างไม่ได้ อีกไม่นาน สำนักงบประมาณอาจต้องเสนอให้ปรับลดงบเงินเดือนบุคลากรลงก็เป็นไปได้ ถ้างบรายได้กับรายจ่ายยังมีหน้าตาอย่างนี้ต่อไป ดังนั้น ปีนี้จึงสำคัญที่เราควรจะต้องมีการปรับโครงสร้างงบประมาณให้ตอบสนองวิกฤตและทำให้ประเทศออกจากวิกฤตได้”

จากนั้น ศิริกัญญา เสนอว่า หนึ่งค่าใช้จ่ายบุคคลากรต้องลดลง ปีนี้เฉพาะงบของราชการคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว ถามว่ารัฐบาลมีแผนอะไรบ้าง ที่ผ่านมามีมาตรการบริหารกำลังพลภาครัฐที่ออกมาปี 2562 และจะครบกำหนดใช้ปี 65 บอกว่าจะพยายามลดกำลังพลภาครัฐลง โดยการทดแทนผู้เกษียณด้วยพนักงานราชการ แต่ไม่ทราบว่า 62-64 ทำไปถึงไหน ทำไมสัดส่วนค่าใช้จ่ายบุคลากรจึงยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจต้องปรับและพิจารณาเป้าหมายอีกครั้งเพื่อปรับลดตรงนี้

สอง ชะลอการเพิ่มหน่วยงานใหม่ แต่ในปีนี้กลับยังคงเพิ่มเพียงเพราะว่ากฎหมายกำหนดให้ตั้ง นั่นคือ สำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ แม้จะเป็นแค่การโยกย้ายเปลี่ยนแปลงงบประมาณ แต่ปีต่อไปคงต้องใช้งบเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มหน่วยงานใหม่ 

สาม สำนักงานส่วนภูมิภาค ลองสังเกตดูว่า ในหนึ่งจังหวัด มีสำนักงานลงท้ายด้วยจังหวัดมีไม่ต่ำกว่า 37 สำนักงานส่วนภูมิภาค ยังไม่นับว่าต้องมีระดับอำเภออีก แต่ถ้าเชื่อเรื่องการกระจายอำนาจจะไม่แผ่ขยายสำนักงานส่วนภูมิภาคมากขนาดนี้ ควรต้องทบทวนว่าภารกิจเหล่านี้ยังมีความจำเป็นหรือไม่ ยังต้องมีสำนักงานพลังงานจังหวัดทุกจังหวัดหรือไม่ ต้องมีสำนักงานโยธาจังหวัดทุกจังหวัดหรือไม่ เฉพาะกระทรวงแรงงานมีหน่วยงานระดับจังหวัดไปอยู่ส่วนภูมิภาคถึง 4 หน่วยงาน

สี่ สำนักงานในต่างประเทศ รวมถึงผู้ช่วยทูตต่างๆ เช่น ผู้ช่วยทูตทหาร กระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า มีใน 50 ประเทศ ใช้งบในปี 65 เกือบ 600 ล้านบาท นอกจากกลาโหมยังมีผู้ช่วยทูตเกษตร 11 คน และมี 6 สำนักงาน  ยังมีผู้ช่วยทูตวิทยาศาสตร์ ผู้ช่วยทูตพาณิชย์ ผู้ช่วยทูต BOI ถึงเวลาต้องทบทวนหรือไม่ว่าภารกิจเหล่านี้ในต่างประเทศยังมีความจำเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ และประเทศคู่ค้าเปลี่ยนแปลงหรือไม่ในเวลาที่ผ่านมา หรือกระทั่งตำแหน่งผู้แทนการค้าไทยที่ไม่ได้ตั้งมานานแต่ยังมีการสงวนอัตราและงบไว้ปีละ 5 ล้านบาท ก็ควรยกเลิกไปด้วย

“สุดท้าย เรื่องการกระจายอำนาจ ที่ผ่านมาส่วนกลางและภูมิภาคหวงอำนาจไม่กระจายให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ เช่น แก้มลิงแต่ละแห่งมีความจุต่ำกว่าล้านลูกบาศก์เมตร แต่กรมชลประทานก็ยังหวงขอไว้ทำเองเป็นร้อยกว่าโครงการ ทำให้ส่วนกลางโตแทนที่จะโอนให้ ท้องถิ่น งานตัดถนนหรือกระทั่งการเก็บผักตบชวาก็ยังไม่ยอมปล่อยมือไปให้ท้องถิ่น ยังกันไว้ให้ถึง 6 กรม เพื่อเก็บผักตบชวา ซึ่งแน่นอนว่าโครงการนี้ตั้งงบได้ทุกปี นอกจากนี้ ก็คือรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำบริการสาธารณจำเป็นแล้วก็ควรเปลี่ยนแปลงรูปแบบองค์กร หลายแห่งยังพบว่าไม่มีรายได้แต่ก็ยังอยากเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เพราะเป็นองค์กรรัฐประเภทเดียวที่ได้รับโบนัส” ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้าย