Skip to main content

ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ มติของรัฐสภา 19 ก.ค.กรณีห้ามการเสนอชื่อผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำ ขัดรัฐธรรมนูญ และมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัย รวมทั้งขอให้มีมาตรการชั่วคราวเพื่อชะลอพิจารณาเห้นชอบนายกรัฐมนตรีออกไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าว

บ่ายวันนี้ (24 ก.ค.) พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ถึงการลงมติของที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566 ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งมติของรัฐสภาดังกล่าวเห็นชอบการห้ามเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำ โดยชี้ว่าขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นครั้งที่ 2 ได้ โดยผู้ร้องเรียนจึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของรัฐสภาข้างต้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงว่า นับตั้งแต่วัน 19 ก.ค. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน มอบหมายให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินติดตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของรัฐสภาในกรณีดังกล่าว โดยมีสมาชิกรัฐสภาและประชาชนยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 17 คำร้อง โดยที่มีคำขอที่สำคัญที่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา 2 เรื่อง

เรื่องแรก การกระทำของรัฐสภาที่มีมติไม่ให้เสนอชื่อบุคคลซ้ำเพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่องที่สอง ผู้ร้องเรียนมีความประสงค์ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำขอไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ออกมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวเพื่อชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวว่า ในกรณีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินความเห็นว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน ควรรีบพิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.ค. เพราะยังมีประเด็นเรื่องข้อสงสัยว่า มติของรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในวันนี้ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงได้มีการประชุมและปรึกษาหารือ และเห็นชอบร่วมกันโดยมีมติดังนี้

ในประเด็นที่ 1 ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า การดำเนินการเห็นชอบบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการกระทำตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งมิใช่กรณีที่จะต้องปฏิบัติในการเสนอญัตติตามข้อบังคับของที่ประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 เพราะการเสนอรายชื่อบุคคลที่จะให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการกำหนดไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญ และในข้อบังคับซึ่งคนละหมวดกันกับเรื่องการเสนอญัตติเข้าที่ประชุมรัฐสภา

ผู้ตรวจการแผ่นดินปรึกษาหารือแล้ว จึงมีความเห็นชอบร่วมกันว่า การดำเนินการของรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค.ถือว่าเป็นหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และมีการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 88 มาตรา 159 ประกอบมาตรา 272

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีมติร่วมกันที่จะให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้พิจารณาคำร้องเรียนของผู้ร้องเรียนจำนวนหนึ่ง ที่ขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวเพื่อชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวก่อน

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวมีลักษณะที่อาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ประกอบกับปล่อยให้มีการดำเนินการคัดเลือกหรือเห็นชอบบุคคลผู้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว หากมีการดำเนินการใดๆ ต่อไป ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ และยากต่อการที่จะเยียวยาแก้ไข

ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีความเห็นชอบร่วมกัน เห็นด้วยกับคำร้องเรียนของผู้ร้องที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วครราว เพื่อขอให้ชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า การที่จะเสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำในวันที่ 19 ก.ค.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่