Skip to main content

ภาพอาการบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาของ 'ลูกนัท' หรือ 'ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย' อดีตผู้ชุมนุม กปปส. ซึ่งล่าสุดได้เข้าร่วมการประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบัน อาจทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นการบาดเจ็บที่เกิดจาก 'กระสุนยาง' เพราะถึงขั้น 'เลือดตกยางออก' ต่างจากภาพผู้ชุมนุมที่โดนควันแก๊สน้ำตาซึ่งเคยเป็นภาพข่าวตามปกติ

ในความเป็นจริงแล้ว มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งในต่างประเทศที่ศึกษาเรื่องความปลอดภัยของการใช้แก๊สน้ำตาในการสลายชุมนุม และพบว่าแก๊สน้ำตาที่ดูเหมือนไม่เป็นอันตรายนั้น มีผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตมากกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะเป็นสารเคมีที่ส่งผลระคายเคืองต่อร่างกายแล้ว แรงกระแทกจากกระป๋องที่ใช้บรรจุอาจทำให้ผู้ที่โดนถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการได้

แก๊สน้ำตาไม่ใช่แก๊ส 

ข้อมูลจากจุลสารพิษวิทยาของศูนย์พิษวิทยา คณะวิทยาแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า แก๊สน้ำตาถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในเยอรมนีเมื่อปี ค.ศ.1869 เพื่อใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และภายหลัง "เป็นอาวุธเคมีที่ถูกห้ามใช้ในสงครามตามสนธิสัญญาเจนีวา (Geneva Protocol) แต่มีข้อยกเว้นให้ใช้สลายการชุมนุมของฝูงชน" ซึ่งแม้จะเป็นสารพิษที่ไม่มีพิษร้ายแรง แต่ทำให้การระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อที่สัมผัส 

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เคยกล่าวผ่านสื่อเช่นกันว่า “แม้แก๊สน้ำตาจะไม่มีอันตรายมาก แต่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดหรือถุงลมโป่งพองอยู่เดิม-นอกจากนี้ ยังมีรายงานการเสียชีวิตจากการใช้แก๊สน้ำตา เนื่องจากการมีปอดบวมน้ำ เลือดออกในปอด ปอดอักเสบ หรือการขาดอากาศหายใจ หรืออาจเสียชีวิตได้”

ส่วนสารเคมีที่ใช้ผลิตแก๊สน้ำตามี 2 ชนิดหลัก คือ 1. คลอโรอะซีโตฟีโนน (chloroacetophenone) หรือ CN และ 2. ออโท-คลอโรเบนซิลิดีนมาโลไนไตรล์ (ortho-chlorobenzylidene malononitrile) หรือ CS แต่อย่างหลังถูกใช้ในการผลิตอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนในปัจจุบันมากกว่าอย่างแรก และในความเป็นจริง สารทั้งสองตัวไม่ใช่แก๊ส แต่เป็นของแข็งและของเหลวที่ถูกทำให้กระจายเป็นควันด้วยระบบสเปรย์หรือแรงอัดจากลูกปรายที่ถูกบรรจุอยู่ในกระป๋องโลหะหรือพลาสติกแข็ง (tear gas canister หรือ cartridge)

งานวิจัยชี้ อันตรายจากแก๊สน้ำตา มีผลถึงขั้นเสียชีวิตได้

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีการศึกษาวิจัยผลกระทบของสารเคมีที่ใช้ในการผลิตแก๊สน้ำตาว่ามีผลระยะยาวต่อผู้ชุมนุมหรือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายชุมนุมหรือไม่ อย่างไร

กรณีฮ่องกง มีรายงานในเว็บไซต์ South China Morning Post ระบุคล้ายกับรองอธิบดี สพฉ.ว่าเด็กผู้สูงอายุ ผู้มีอาการโรคหอบหืด และผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตารุนแรงกว่าคนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมการชุมนุม และการยิงแก๊สน้ำตาในพื้นที่ชุมชน ส่งผลต่อคนกลุ่มเปราะบางอย่างไม่มีทางเลี่ยง 

สื่อฮ่องกงยังได้อ้างอิงกรณีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวโยงกับแก๊สน้ำตา 2 รายในประเทศบาห์เรนและเนปาล โดยรายแรกขาดอากาศจนหยุดหายใจ เพราะถูกลูกหลงจากแก๊สน้ำตาที่ตำรวจยิงเข้าไปในบ้านพัก ส่วนรายที่สองเสียชีวิตจากอาการสมองบาดเจ็บร้ายแรงหลังกระป๋องแก๊สน้ำตากระแทกศีรษะ

นอกจากนี้ยังมีผลศึกษาวิจัยในเว็บไซต์สำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง 31 ชิ้น จาก 11 ประเทศ อ้างอิงการตรวจรักษาและชันสูตรศพผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแก๊สน้ำตา 5,131 ราย โดยนอกเหนือจาก 2 รายที่เสียชีวิต ยังมีผู้พิการถาวรอีก 58 ราย และผู้บาดเจ็บร้ายแรงคิดเป็น 8.7% ของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบที่ผิวหนัง ดวงตา ถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น และมีอาการเกี่ยวกับสมอง

ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยดังกล่าวจึงสรุปว่า แม้สารเคมีที่ใช้ในแก๊สน้ำตาจะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ก็เป็นอาวุธเคมีที่ต้องใช้งานอย่างจำกัด และการใช้งานแก๊สน้ำตากับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นข้อมูลอ้างอิงในงานวิจัยส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่าเป็นการใช้งานในทางที่ผิด (misuse) เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้งานแก๊สน้ำตาจะต้องได้รับการฝึกอบรมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าการใช้สารเคมีเหล่านี้อาจมีผลอย่างไรบ้างต่อผู้ชุมนุม