สรุป
- คู่มือของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุ 'กระบอง-แก๊สน้ำตา-กระสุนยาง-ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง' เข้าข่าย 'อาวุธร้ายแรงต่ำ' (less-lethal weapon)
- แม้การใช้อาวุธเหล่านี้ควบคุมฝูงชนจะลดทอนความรุนแรงจากการใช้อาวุธอื่นๆ แต่มีคำเตือนเช่นกันว่า ถ้าใช้อาวุธเหล่านี้ไม่ถูกวิธี หรือไม่ได้สัดส่วน จะทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง 'ถึงชีวิต' ของผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย
- ก่อนใช้อาวุธ เจ้าหน้าที่หรือรัฐบาลต่างๆ ต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการชุมนุมโดยสงบ แม้ว่าการชุมนุมบางอย่างจะเข้าข่ายผิดกฎหมายในบางประเทศก็ตาม
OHCHR เผยแพร่คู่มือ GUIDANCE ON LESS-LETHAL WEAPONS IN LAW ENFORCEMENT ฉบับล่าสุดเมื่อปี 2563 เพื่อนำไปเป็นแนวทางควบคุมฝูงชนให้ได้มาตรฐานสากล และมีข้อเสนอแนะว่าจะต้องปรับปรุงคู่มือนี้ทุกๆ 5 ปี โดยรัฐบาลต่างๆ รวมถึงหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายในประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ควรนำคู่มือฉบับนี้ไปเป็นแนวทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ใช้อาวุธเหล่านี้ทำร้ายผู้คนที่ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสาธารณะ
อาวุธร้ายแรงต่ำที่ระบุในคู่มือ เรียงลำดับจาก กระบองตำรวจ, สเปรย์พ่นสารก่อความระคายเคือง, แก๊สน้ำตา, ปืนชอร์ตไฟฟ้า, กระสุนดัดแปลง. เครื่องยิงแสงเลเซอร์, เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และเครื่องปล่อยคลื่นความถี่เสียง โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญที่ต้องยึดถือ คือ ใช้อย่างระมัดระวัง ใช้เฉพาะเหตุจำเป็น หรือคับขัน ต้องได้สัดส่วนเหมาะสมกับการก่อเหตุ ต้องไม่เลือกปฏิบัติ และเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานบังคับบัญชาต้องรับผิดชอบกรณีที่มีผู้ใช้อาวุธเหล่านี้เกินกว่าเหตุ
ส่วนเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธร้ายแรงต่ำได้ ประกอบด้วย ป้องกันตัวเองจากภัยคุกคาม ป้องกันการก่อเหตุรุนแรงซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตบุคคลอื่น และยับยั้งการหลบหนีของผู้เข้าข่ายเป็นอันตรายต่อผู้อื่น แต่คู่มือย้ำว่า หลักการที่ต้องคำนึงถึงก่อนใช้อาวุธ คือ การเคารพในสิทธิการชุมนุมและแสดงออกอย่างสันติ แม้การชุมนุมบางกรณีจะเข้าข่ายผิดกฎหมายในบางประเทศก็ตาม เจ้าหน้าที่ต้องแยกแยะระหว่างผู้ชุมนุมโดยสงบกับผู้ใช้ความรุนแรง และต้องไม่ใช้อาวุธในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ในชุมชนที่มีผู้ไม่เกี่ยวข้องรวมอยู่ด้วย หรือในพื้นที่แคบซึ่งจะเพิ่มอานุภาพความรุนแรงของอาวุธบางประเภท
กระบอง (police batons)
วัสดุที่ใช้ทำกระบองมีหลายประเภท ทั้งไม้ พลาสติกแข็ง หรือโลหะ คู่มือนี้จึงระบุว่า เจ้าหน้าที่ไม่ควรใช้กระบองเป็นอาวุธโจตี แต่ควรใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัว โดยต้องหลีกเลี่ยงการใช้กระบองฟาดศีรษะ อก คอ ข้อต่อ หรือใช้กระบองทิ่ม แต่ให้ใช้ตีแขนหรือขาในกรณีที่มีผู้ขัดขืนการจับกุมและมีแนวโน้มจะก่อความรุนแรง
สเปรย์พ่นสารก่อความระคายเคือง (hand-held chemical irritants)
สารเคมีที่ใช้กับอาวุธชนิดนี้มีทั้งแบบเดียวกับที่ใช้กับแก๊สน้ำตา (CS) รวมถึงสารที่มีส่วนประกอบของแคปไซซิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียกว่าสเปรย์พริกไทย มีผลให้ผู้ถูกพ่นสเปรย์แสบตา ระคายเคือง หายใจไม่สะดวก คู่มือนี้จึงระบุว่าให้ใช้สเปรย์กับผู้ที่ขัดขืนอย่างรุนแรงไม่ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว
การใช้งานควรอยู่ห่างจากเป้าหมายหลายเมตร และพ่นเข้าที่ใบหน้าได้ แต่ต้องระวังเพราะอาจมีผู้ที่แพ้สารเคมีตัวนี้จนเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ที่ถูกพ่นสเปรย์ไม่ควรถูกคุมตัวในท่านอนคว่ำหน้าหรือถูกกดทับจากด้านหลัง เนื่องจากอาจทำให้หายใจไม่ออกและขาดอากาศ
แก๊สน้ำตา (tear gas)
ช่วงสายวันที่ 17 ส.ค.2564 พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ได้ร่วมสาธิตการยิงแก๊สน้ำตาให้กับสื่อมวลชนไทยหลายสำนัก โดยเป็นการยิงในแนววิถีโค้งมากกว่า 30 องศา พร้อมยืนยันว่า "ไม่เป็นอันตราย" และปฏิเสธกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ว่าผู้ชุมนุมถูกกระสุนแก๊สน้ำตายิงเข้าที่ใบหน้าจนบาดเจ็บสาหัสนั้น "เป็นข่าวปลอม" ทั้งยังย้ำว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักสากล แต่ ผบช.น.ไม่ได้ชี้แจงว่าสอบสวนหรือเก็บข้อมูลหลักฐานจากกรณีผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตารายใด จึงสามารถระบุได้ว่าเป็นข่าวปลอม
ขณะที่คู่มือของ OHCHR ยืนยันว่า แก๊สน้ำตาต้องใช้เครื่องยิงเพื่อให้ถึงเป้าหมายในระยะไกล และต้องเล็งให้กระสุนเป็นแนววิธีโค้งตามที่ ผบช.น.ระบุ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ การยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่มีพฤติกรรมรุนแรงอาจนำไปสู่การตอบโต้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงเสี่ยงที่จะเกิดเหตุชุลมุนจนเป็นอันตรายแก่ผู้ชุมนุมคนอื่นที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง และยกตัวอย่างการยิงแก๊สน้ำตาในสนามฟุตบอล อาจทำให้มีผู้แตกตื่นวิ่งหนี และมีผู้ที่ล้มบาดเจ็บเพราะถูกเหยียบ
นอกจากนี้ยังมีกรณี "ลมเปลี่ยนทิศ" ทำให้แก๊สน้ำตาลอยไปทางอื่นที่ไม่มีการก่อเหตุรุนแรง เจ้าหน้าที่ต้องหลีกเลี่ยงการยิงแก๊สน้ำตาในที่แคบหรือใกล้พื้นที่ปิด เช่น เรือนจำ ที่พักอาศัย เพราะอาจทำให้มีผู้ป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ รวมถึงอาเจียนและเลือดตกใน ส่วนหน่วยงานบังคับบัญชาต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตัวที่สำคัญให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เช่น หน้ากากกันสารเคมี เพราะเจ้าหน้าที่อาจได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาได้เช่นกัน
ปืนชอร์ตไฟฟ้า (conducted electrical weapons หรือ TASERS)
ปืนชอร์ตไฟฟ้าหรือเทเซอร์สามารถใช้ได้ทั้งแบบประชิดตัวและยิงไปยังเป้าหมายในระยะไกล และช่วยลดความรุนแรงในการยับยั้งผู้ก่อความรุนแรงหรือผู้ขัดขืนและพยายามหลบหนีได้โดยไม่ได้ต้องใช้อาวุธปืนจริง แต่การใช้ปืนชอร์ตไฟฟ้าต้องตั้งเวลาตัดกระแสไฟฟ้าภายใน 5 วินาที เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายร้ายแรงกับผู้ที่ถูกชอร์ต
นอกจากนี้ คู่มือ OHCHR ยังระบุว่าต้องระวังการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติม เช่น เป้าหมายหยุดชะงักเพราะถูกชอร์ต แต่อาจจะตกบันไดในที่เกิดเหตุจนบาดเจ็บรุนแรงกว่าเดิม และไม่ควรใช้ปืนชอร์ตไฟฟ้ากับผู้สูงอายุ หรือผู้ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ
กระสุนดัดแปลง (Kinetic Impact Projectile หรือ KIPs )
กระสุนดัดแปลง (KIPs) ถูกเรียกได้หลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น กระสุนยาง กระสุนพลาสติก บีนแบ็ก มักถูกใช้เพื่อลดความรุนแรงจากการใช้กระสุนจริง แต่กระสุนประเภทนี้ถ้ายิงเข้าจุดสำคัญของร่างกายจะมีผลให้พิการหรือเสียชีวิตได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับขนาดลำกล้องปืนและความเร็วของกระสุนที่ยิงออกมา จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังและในกรณีจำเป็นเท่านั้น และการใช้กระสุนดัดแปลงในพื้นที่กว้างอาจเสี่ยงทำให้มีผู้ถูกลูกหลง และการยิงในระยะประชิดหรือใกล้มากๆ อาจทำให้กระสุนเจาะทะลุร่างกายได้เช่นกัน
คู่มือของ OHCHR ระบุว่า กระสุนดัดแปลงต้องไม่ถูกยิงต่อเนื่องด้วยโหมดออโต และการยิงกระสุนเหล่านี้พร้อมๆ กันจะทำให้เกิดความไม่แม่นยำ ซึ่งขัดต่อหลักการใช้อาวุธร้ายแรงต่ำอย่างได้สัดส่วนเหมาะสม และไม่ควรใช้กระสุนแบบลูกปรายโลหะ โดยให้ยิงขาหรือช่วงท้องส่วนล่างของผู้ที่มีพฤติกรรมคุกคาม หรือมีแนวโน้มว่าจะทำร้าย หรือเป็นภัยคุกคามอย่างเห็นได้ชัดเท่านั้น และห้ามยิงกระสุนดัดแปลงในระดับศีรษะ คอ ใบหน้า ดวงตา เพราะจะทำให้ผู้ถูกยิงพิการถาวรได้ เช่น ตาบอด กะโหลกแตก และอาจถึงขั้นเสียชีวิต
ส่วนกรณีการชุมนุมในประเทศไทยในเดือน ส.ค. พบเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่ไม่ได้มีท่าทีก่อความรุนแรง รวมถึงกลุ่มช่างภาพ-สื่อมวลชนที่รายงานเหตุการณ์อยู่โดยรอบ ทั้งยังมีภาพเจ้าหน้าที่เล็งยิงกระสุนยางจากที่สูง เช่น สะพานลอยหรือสะพานข้ามแยก ลงมายังกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่อยู่ด้านล่าง ทำให้ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งตอบโต้ด้วยการยิงหนังสติ๊ก ขว้างของปาของแข็งเข้าใส่เจ้าหน้าที่ รวมถึงจุดไฟเผาป้อมและยานพาหนะของตำรวจ
นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 3 ราย ถูกกระสุนจริงยิงขณะอยู่ใกล้บริเวณ สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ซึ่ง ผกก.สน.ดินแดงแถลงว่าตำรวจไม่ได้ยิงกระสุนจริงเข้าใส่ แต่ยิงเพียงกระสุนยางเพื่อขับไล่ผู้ก่อกวนหน้า สน. พร้อมแจ้งว่าจะเอาผิดผู้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่ตำรวจในอาคาร สน.ดินแดงยิงกระสุนยาง โดยระบุว่า "สร้างความเสื่อมเสีย" แก่ สน. ขณะที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ตำรวจสืบหาตัวผู้ยิงกระสุนจริงมาดำเนินคดี
เครื่องยิงแสงเลเซอร์ (dazzling weapon)
อาวุธร้ายแรงต่ำชนิดนี้ใช้หลักการทำงานด้วยการปล่อยแสงจ้าเพื่อทำให้ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายมองไม่เห็นชั่วคราว ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการยับยั้งผู้ขับขี่พาหนะที่กำลังเคลื่อนที่ แต่มีความเสี่ยงจะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงชีวิตของผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ตกเป็นเป้าหมาย และการใช้เครื่องยิงแสงที่ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้ผู้ถูกโจมตีตาบอดถาวรได้
เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง (water canon)
แม้จะมีเป้าหมายเพื่อใช้สลายการชุมนุมหรือกลุ่มคนที่รวมตัวกันและมีแนวโน้มว่าจะก่อความรุนแรง หรือเพื่อป้องกันทรัพย์สินสาธารณะ แต่คู่มือของ OHCHR ย้ำว่า การฉีดน้ำแรงดันสูงควรใช้เฉพาะกรณีที่เกิดความไม่สงบร้ายแรงที่หากไม่เข้ายับยั้งจะนำไปสู่การสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงต้องวางแผนล่วงหน้า และต้องมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงอยู่ด้วย
ข้อควรระวังในการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง คือ ห้ามฉีดใส่คนที่กำลังเคลื่อนตัวขึ้นสู่ที่สูง เพราะแรงดันน้ำอาจทำให้เป้าหมายตกลงกระแทกพื้นหรือของแข็งอื่นๆ นำไปสู่การบาดเจ็บเพิ่มเติม และต้องไม่ฉีดใส่กลุ่มคนหรือบุคคลตรงๆ เพราะอาจทำให้ตาบอดได้ และต้องระวังความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม ส่วนกรณีที่ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงในพื้นที่ที่อากาศหนาวเย็น ต้องควบคุมอุณหภูมิน้ำให้อุ่นพอ เพราะหากยิงน้ำเย็นแรงดันสูงเข้าใส่เป้าหมาย อาจทำผู้ถูกฉีดน้ำเกิดภาวะช็อก เพราะอุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลงกว่าปกติอย่างรวดเร็วเกินไป
อุปกรณ์ปล่อยคลื่นความถี่เสียง (Acoustic Weapon and Equipment)
กรณีของไทย เฟซบุ๊กเพจ @ThaipsyopBN ของศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา ได้ให้ข้อมูลว่า กองทัพไทยมีเครื่อง LRAD หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า "เครื่องขยายเสียงระดับไกล (Long Range Acoustic Device) ซึ่งสามารถส่งคลื่นเสียงรบกวนพิเศษที่มีความดังถึง 151 เดซิเบล เพื่อใช้ผลักดันกลุ่มคน เช่น ทหารตามแนวชายแดนที่รุกล้ำอธิปไตย และใช้ในภารกิจปราบปรามหรือตรวจค้นได้ ซึ่งหวังผลได้ไกลกว่าแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง และถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนน้อยที่สุด"
.
อย่างไรก็ตาม คู่มือ OHCHR ระบุว่า อาวุธชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาวุธร้ายแรงต่ำที่มักใช้ในปฏิบัติการทางทะเล เพื่อเตือนเรือเล็กหรือก่อกวนเรือโจรสลัด หากนำมาใช้ในพื้นที่ชุมนุมหรือพุ่งเป้าโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างสูง เพราะหากใช้คลื่นความถี่เสียงในระดับที่ดังจนเกินไป หรือนานเกินไป อาจทำให้ผู้ถูกโจมตีแก้วหูฉีก สูญเสียการทรงตัว และหูหนวกถาวรได้