Skip to main content

จากกรณีเด็กหญิงวัย 7 ขวบ และ 9 ขวบ ต้องกำพร้าและอยู่อาศัยเพียงลำพัง ภายหลังแม่เสียชีวิตจากโควิด-19 โดยก่อนเสียชีวิตแม่ได้สั่งเสียไว้ว่า "ให้ไปอยู่บ้านเด็กกำพร้า" สร้างความสะเทือนใจแก่สังคมและผู้ที่ทราบข่าวเป็นอย่างยิ่งนั้น ล่าสุด คณะก้าวหน้า เผยแพร่บทความของ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เรื่อง 'ทุก 12 วินาที มีเด็กหนึ่งคนต้องกำพร้าอันเนื่องมาจากโควิด : การจัดการหลังสูญเสีย' 

กุลธิดา ระบุตอนหนึ่งว่า จากการคาดการณ์ตัวเลขในรายงานที่ตีพิมพ์ใน Lancet Medical Journal ทั่วโลกจะมีเด็กที่ต้องสูญเสียผู้ที่ให้การดูแลพวกเขาโดยตรงไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ หรือตายาย ในช่วงเวลา 4 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 – 30 เมษายน 2564 ประมาณ 1.13 ล้านคน และ อีกมากกว่า 1.5 ล้านคนที่ได้ผ่านประสบการณ์สูญเสียผู้ดูแลหลัก หรือผู้ดูแลที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน เช่น ญาติพี่น้อง และเด็กกลุ่มนี้สูญเสียพ่อมากกว่าแม่ถึง 2-5 เท่า ขณะที่สถิติจากรายงานของธนาคารโลกคือทุกๆ 12 วินาที จะมีเด็กหนึ่งคนที่กำพร้าจากการสูญเสียอันเนื่องมาจากโควิด-19

“สถานการณ์ในไทยที่น่าเป็นห่วงคือผู้สูงอายุที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงนั้น มีกี่คนที่เป็นผู้ดูแลหลักหรือรองของเด็กๆ ในประเทศ เด็กๆ ที่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าเฉียบพลันเปราะบางต่อการดูแลทั้งจากญาติ คนรู้จัก หรือในสถานสงเคราะห์ และเสี่ยงต่อการเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น ว่ากันว่าการประเมินว่ารัฐมีประสิทธิภาพให้ดูกันที่การดูแลบุคคลที่เปราะบาง บุคคลที่เข้าถึงโอกาสยากกว่าผู้อื่น บุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าผู้อื่น และการดูแลที่ว่าคือการดูแลให้พวกเขาได้มีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีเพียงพอ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนๆ กับทุกคน” กุลธิดา ระบุ

กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ระบุด้วยว่า ปัจจุบันกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังไม่สามารถจัดการข้อมูลว่าจำนวนเด็กพิการในประเทศไทยมีกี่คน บ้านเด็กกำพร้าที่แม่ได้สั่งลาให้ลูกไปอยู่มี capacity หรือการรองรับเด็กกำพร้าได้กี่คน เต็มกำลังหรือยัง เจ้าหน้าที่เพียงพอหรือไม่ การไม่มีข้อมูลเหล่านี้จะทำให้การจัดการสถานการณ์ปัจจุบันลำบากมากขึ้น เพราะกำลังการรับรองเด็กกำพร้าจะช่วยให้ออกแบบปริมาณทรัพยากรที่จะใช้ทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว ได้ และเมื่อไม่มีแม้กระทั่งข้อมูลภาพรวมเหล่านี้ การจะพยากรณ์ตัวเลขเพื่อจัดการระบบรับรองเด็กกลุ่มนี้ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้

กุลธิดา ทิ้งท้ายบทความด้วยข้อเสนอแนะ เสนอการจัดการสถานการณ์ใน 3 ระยะคือ ระยะสั้น หรือเร่งด่วน ต้องทำการการตรวจหาเชื้อ การติดตามผล การกักกันเด็กหากติดเชื้อ การดูแลสภาพจิตใจหลังจากการสูญเสีย, ระยะกลาง  คือ การพาเข้าสู่ระบบการดูแลระยะยาวที่มีการติดตามทั้งจากการส่งเด็กไปอยู่กับญาติและการส่งเข้าสถานสงเคราะห์ โดยอาจใช้ อสม.ในพื้นที่เป็นกลุ่มตั้งต้นในการสแกนหาเด็กๆ ที่สูญเสียผู้ดูแลไป และ ระยะยาว คือ การจัดระบบสวัสดิการเงินอุดหนุนรายเดือนตรงให้ครอบครัวที่ต้องดูแลเด็กกลุ่มนี้ พร้อมทั้งจัดการสนับสนุนและติดตามการดูแลเด็กๆ รวมถึงการดูแลจนบรรลุนิติภาวะ และหลังบรรลุนิติภาวะ

อ่านบทความที่ : https://progressivemovement.in.th/article/4957/