เทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอาจสามารถ จากคณะก้าวหน้า ร่วมเวทีเสวนา “Open Government Data” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรม “อัศจรรย์เมืองน่าอยู่” (WOW FESTIVAL 2022 - Wonder of Well-being City) โดยเวทีดังกล่าว เป็นการร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการใช้ข้อมูล (data) ในการบริหารเมือง ทั้งที่ผ่านมาและความเป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งนอกจากเทพพรแล้ว ยังมี อาสา สุขยัง จากสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานคร และ วสันต์ ภัทรอธิคม ผู้พัฒนาระบบ Traffy Fondue มาร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีดังกล่าวด้วย
เทพพร ระบุว่าเทศบาลตำบลอาจสามารถก่อนหน้านี้ มีปัญหาเกี่ยวกับระบบรับเรื่องร้องเรียนที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ไม่มีระบบติดตามความคืบหน้า พื้นที่ปัญหา หรือบุคคลที่แจ้ง และยังไม่สะดวกสำหรับทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลและสำหรับประชาชน หลังเข้ารับตำแหน่ง ตนซึ่งมีนโยบายการพัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ จึงได้หารือกับคณะก้าวหน้า และได้นำระบบ Traffy Fondue มาใช้ ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้พัฒนาระบบนี้ขึ้นมา ซึ่งอยู่บนเวทีนี้ร่วมกันด้วย
หลังจากนั้น ทางเทศบาลได้ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ พบปะประชาชนเกือบทุกหลังคาเรือน เพื่อสาธิตวิธีการใช้ รวมทั้งทำเป็นสติกเกอร์วิธีการใช้ติดไว้ทุกหลังคาเรือน ซึ่งระบบการรับเรื่องร้องเรียนเช่นนี้ เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนในเขตเทศบาลเป็นอย่างมาก ประชาชนไม่ต้องเขียนจดหมาย โทรศัพท์ หรือเดินทางมายังเทศบาลเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว ทำให้เกิดการรับเรื่องร้องเรียนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากปีละ 50-60 เรื่อง เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 เรื่องต่อปี ซึ่งเทศบาลสามารถรวบรวมข้อมูล เช่น สถิติของปัญหา ประเภทของปัญหา เวลาที่ใช้ในการแก้ไข เพื่อนำไปปรับปรุงการทำงานของเทศบาลในอนาคตได้ ทำให้ประชาชนเห็นเทศบาลเป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา
เทพพรกล่าวต่อไป ว่าเทศบาลตำบลอาจสามารถ ยังได้นำสถิติการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่มีการรวบรวมไว้นี้มาต่อยอดสู่นโยบายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น เรื่องของคุณภาพน้ำประปาที่เดิมมีสีขุ่นข้น ไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ ซึ่งเทศบาลได้เข้าทำการปรับปรุงร่วมกับฝ่ายนโยบายของคณะก้าวหน้า จนใสสะอาดผ่านค่ามาตรฐานทุกตัวชี้วัด และได้รับการรับรองจากกรมอนามัยให้เป็นน้ำประปาดื่มได้ ซึ่งเทศบาลยังได้นำสถิติค่าน้ำประปาทุกค่า เผยแพร่ทางเว็บไซต์แสดงผลให้ประชาชนเห็นได้ทุกวัน
ล่าสุด เทศบาลตำบลอาจสามารถ กำลังต่อยอดนโยบายน้ำประปาและข้อมูล ไปสู่การจัดทำน้ำประปาอัจฉริยะ ที่เก็บข้อมูลและบริหารโดยใช้ระบบ IoT (Internet of Things) ส่งข้อมูลไปยังเกตเวย์ ทำให้สามารถรู้ข้อมูลของน้ำทุกด้านได้แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาท่อรั่วจุดไหน ครัวเรือนใช้น้ำไปเท่าไหร่บ้าง โดยไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการเดินจดหรือตรวจค่าน้ำเอง ส่วนประชาชนก็สามารถเลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการชำระเงินได้ โดยไม่ต้องเดินทางมาเทศบาลเอง โดยคาดว่าการจัดทำระบบทั้งหมดจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้
“ที่ผ่านมาเรามีเทศบาลอื่นๆ มาศึกษาดูงานเยอะมาก หลายเทศบาลนำไปใช้ ก็เกิดประโยชน์กับประชาชน และกับการบริหารงานท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เมื่อทำน้ำประปาดื่มได้อัจฉริยะสำเร็จ ผมเชื่อว่าเทศบาลตำบลอาจสามารถจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ในฐานะเทศบาลตำบลแห่งแรกในประเทศไทยที่มีระบบน้ำประปาดื่มได้อัจฉริยะ เทศบาลจะได้ข้อมูลคุณภาพและการใช้น้ำมาขึ้นบนเว็บไซต์แบบรายชั่วโมง” เทพพรกล่าว
เทพพรยังระบุด้วย ว่าที่ผ่านมา ตั้งแต่เทศบาลตำบลอาจสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการเมือง พบว่ามีประโยชน์เกิดขึ้นแก่ทั้งประชาชนและการบริหารเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการบริหารโดยที่ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลร่วมกับเทศบาล ซึ่งปัจจุบันเทศบาลตำบลอาจสามารถ ได้นำข้อมูลจำนวนมากขึ้นเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพน้ำประปา ภาพจากกล้อง cctv ในเขตเทศบาลทั้งหมดแบบเรียลไทม์ สถิติการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue
“เมืองน่าอยู่สำหรับผมและเทศบาลตำบลอาจสามารถ คือเมืองที่มีการให้บริการที่ดี สาธารณูปโภคต่างๆ มีคุณภาพ ประชาชนเข้าถึงหน่วยงานรัฐได้ง่าย ผมเชื่อว่าในอนาคต อาจสามารถจะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เป็นเมืองที่มีความทันสมัย และที่สำคัญ คือประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารเมืองของเราร่วมกันไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน” เทพพรกล่าวทิ้งท้าย