Skip to main content

Libertus Machinus

 

เราอยู่ในโลกยุคปัจจุบันที่เคยชินกับการมีสาธารณูปโภคพื้นฐานในระดับที่ได้ไม่มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็น "สวัสดิการ" ของรัฐด้วยซ้ำ เราไม่มองว่า การที่เรามีน้ำประปา มีไฟฟ้าใช้ เกิดจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะโดยรัฐ และจริงๆ แม้แต่ประเทศที่บ้า "ทุนนิยม" จัดๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่มองว่า สิ่งเหล่านี้ "ควรให้เอกชนเข้ามาเป็นคนจัดการ"

อย่างไรก็ดี มีประเทศหนึ่งที่เรียกได้ว่า “เพี้ยน” จัดๆ มองว่าการที่รัฐจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ไม่มีการแข่งขัน ประชาชนต้องบริโภคสินค้าในราคาแพง และมองว่ายังไงเอกชนก็บริหารได้ดีกว่ารัฐ และผลสุดท้ายของวิธีคิดแบบนี้ก็คือ รัฐได้พยายาม "ขายรัฐวิสาหกิจ" ทั้งประเทศให้ "เอกชน" บริหารแทน

ประเทศที่ว่านี้ก็คือ อังกฤษ ซึ่งมีการขายกิจการของรัฐจำนวนไม่น้อยให้เอกชน แต่สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์ที่สุด ก็คือการขาย "การประปา" ให้เอกชนบริหารแทน ด้วยความเชื่อจริงจังว่าเอกชนจะบริหารได้ดีกว่ารัฐ

...ตัดภาพมาปัจจุบัน ถ้าใครอ่านข่าวฝั่งอังกฤษ จะเจอว่ามีข่าวเรื่องวิกฤติเรื่องน้ำเต็มไปหมด ข่าวเมืองเล็กเมืองน้อยไม่มีน้ำใช้เป็นเวลาหลายวันโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ และอีกหลายๆ เมืองถึงน้ำประปาจะไหล แต่ก็ปนเปื้อนในระดับที่ไม่สามารถเอามาบริโภคได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเรื่องพวกนี้มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยถ้าเป็นข่าวจากประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกา แต่นี่คือเป็นข่าวจากอังกฤษ หนึ่งในกลุ่มประเทศ G7 อดีตจักรวรรดิมหาอำนาจที่มีอาณานิคมไปทั่วโลกจนได้ฉายาว่า จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน


เศรษฐกิจอังกฤษ ‘พัง’ ขายการประปาให้เอกชน

 

ใช่แล้ว "เค้าว่ากันว่า" ระบบการประปาอังกฤษ “พัง” มาถึงจุดนี้ได้เพราะการ "ปฏิรูปการประปา" หรือการขายการประปาอังกฤษให้เอกชนที่ว่านี่แหละ

แต่พูดแบบนั้นมันไม่เห็นที่มาที่ไปสักเท่าไร เราเลยต้องลงรายละเอียดกันหน่อย

ในอดีต “น้ำประปา” ไม่เคยถูกมองว่าเป็นบริการที่รัฐต้องจัดหามาให้ประชาชน น้ำสะอาดไม่เคยถูกมองว่าเป็น “สิทธิ”  และอังกฤษก็ยังคิดแบบนี้ ทั้งนี้เป็นชาติที่ค้นพบว่า อหิวาห์ตกโรคที่คร่าชีวิตคนลอนดอนไปมหาศาลเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 เกิดขึ้นเพราะการดื่มน้ำที่ "ไม่สะอาด" เพราะยุคนั้นยังไม่มีการแยกระบบน้ำดีและน้ำเสีย

เมื่ออังกฤษเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ คนอังกฤษมีความต้องการน้ำใช้มากขึ้น และ "กลไกตลาด" ก็จัดสรรค์ระบบการประปาให้ประชาชน  พวกบริษัทเอกชนก็เริ่มบริการน้ำประปาให้ประชาชนชาวอังกฤษมาตั้งแต่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20

แต่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในปี 1973 เมื่อรัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนกิจการการประปาทั้งประเทศให้เป็น "รัฐวิสาหกิจ" หรือพูดง่ายๆ คือ รัฐลงมาบริหารเอง โดยรัฐก็มีการแบ่งเป็น 10 องค์กรย่อย เพื่อให้บริการน้ำประปากับคนอังกฤษในแต่ละโซน

ตรงนี้ถ้าจะอธิบายก็คือ กลางศตวรรษที่ 20 คือ ยุคทองของรัฐสวัสดิการเลย เป็นยุคที่แม้แต่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยอมรับรัฐสวัสดิการในบางระดับ เป็นยุคที่คนเชื่อว่าสังคมมีปัญหาอะไร รัฐมีหน้าที่ต้องลงมาจัดการ เป็นหน้าที่ของรัฐ และช่วงพีคของแนวคิดพวกนี้ก็คือ ช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 โดยในยุคเหล่านี้ แม้แต่รัฐบาลที่เป็น "อนุรักษ์นิยม" ก็มีนโยบายไปในแนวรัฐสวัสดิการทั้งนั้น เพราะคนในยุคนั้นเชื่อในรัฐสวัสดิการกันหมด

อย่างไรก็ดี ถ้าใครรู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ทศวรรษ 1970 เป็นทศวรรษที่เศรษฐกิจของอังกฤษย่ำแย่มาก เป็นทศวรรษที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลก มีคนตกงานเยอะ และเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นพื้นฐานว่าทำไมวงพังค์ร็อคอังกฤษยุคบุกเบิกอย่าง Sex Pistols ตะโกนว่า "No Future” ในเพลง God Save The Queen มันถึงจับใจคนในปี 1977 คือ คนรู้สึกจริงๆ ว่าชีวิตของพวกเขา "ไม่มีอนาคต"

ในเศรษฐกิจที่พัง รัฐมีงบน้อยมาก เงินอุดหนุนการประปาที่รัฐเพิ่งเอามาบริหารก็น้อย ดังนั้น บริการการประปาในอังกฤษภายใต้การบริหารของรัฐก็แย่ น้ำไม่ไหล น้ำปนเปื้อน เป็นเรื่องปกติ เพราะองค์กรด้านการบริหารการประปาทั้ง 10 หน่วยที่ถูกตั้งขึ้นทั่วอังกฤษ ล้วนมีงบประมาณไม่พอที่จะให้บริการประชาชนได้อย่างเหมาะสม

นี่คือภูมิหลังว่าทำไมรัฐบาลอนุรักษ์นิยมของ มาร์กาเรต แธตเชอร์ ในทศวรรษ 1980 ถึงสามารถเอา "การประปา" ของรัฐ 10 หน่วยงานไปขายทอดตลาดให้เอกชนได้

แธตเชอร์ อ้างว่า นี่คือธุรกิจที่รัฐเอามาบริหารแล้วแย่ ดังนั้น เอากลับไปให้เอกชนบริหารดีกว่า และภายในทศวรรษ 1980 องค์กรที่จัดการน้ำประปาทั่วเกาะบริเตนใหญ่ก็กลับไปเป็นของเอกชน ดังที่มันเคยเป็นมาก่อนทศวรรษ 1970

ในช่วงแรกๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก เพราะทศวรรษ 1980 และ 1990 เศรษฐกิจทั่วโลกดี  พวกบริษัทให้บริการน้ำก็เช่นกัน เมื่อกิจการดี บริการก็ดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร และก็ไม่มีใครตั้งคำถามกับความประหลาดของอังกฤษที่เอกชนให้บริการน้ำประปาทั้งประเทศ และหลายคนก็อาจมีคำถามด้วยซ้ำว่า หรือว่าจริงๆ แล้วที่ประเทศอื่น การที่รัฐบริหารการประปาเองนั้นเป็นสิ่งที่ "ผิด"


การประปาอังกฤษ ‘พัง’ เละทั้งระบบ

 

ตัดภาพมาปัจจุบัน ก็อย่างที่เล่ามาตอนต้น การประปาอังกฤษแทบจะพังเละทั้งระบบ เมืองระดับที่มีคนอาศัยอยู่หลักแสนคนอาจท่อแตก ไม่มีน้ำใช้เป็นเวลา 2-3 วัน เมืองที่ท่อไม่แตกบางทีก็มีประกาศอย่าเพิ่งใช้น้ำ เพราะมีการปนเปื้อนน้ำเสียหรือสารเคมี การที่บริษัทที่ให้บริการน้ำประปา เอาน้ำขวดไปแจกให้ใช้แทน เริ่มเป็นเรื่องปกติ และพบเห็นได้จากสื่อนานาชาติ ฝั่งอังกฤษสื่ออย่าง BBC และ The Guardian ซึ่งไม่ต้องมีความรู้อะไรก็น่าจะรู้สึกว่ามันแปลกๆ ที่ประเทศที่ "ร่ำรวย" อย่างอังกฤษจะมีปัญหาอะไรแบบนี้

คำถามคือเกิดอะไรขึ้น? คำตอบเร็วๆ ก็คือ ทั้งหมดอาจเกิดจากการบริหารระบบประปาแบบ "บริษัทเอกชน"

เป้าหมายพื้นฐานของบริษัทเอกชน ไม่ใช่เพื่อบริการลูกค้าแบบที่หลายคนเข้าใจว่า "ลูกค้า คือ พระเจ้า" แต่พื้นฐาน คือ การเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นให้มากที่สุด หรือจะทำกำไรยังไงให้ได้สูงที่สุด สำหรับกรณีน้ำประปา คงไม่มีใครคิดว่าการทำการตลาดให้คนใช้น้ำเยอะขึ้นจะเป็นสิ่งที่ทำได้ ดังนั้น หนทางเพิ่มผลกำไรก็คือการ "ลดต้นทุน" ขนานเดียว

แล้วบริษัทที่ให้บริการน้ำประปาจะลดต้นทุนต้องทำยังไง? หลักๆ ก็คือ ลดค่าซ่อมบำรุง ดังนั้น ระบบท่อน้ำดีและน้ำเสียทั่วอังกฤษเลยเก่ามากๆ มีตัวเลขด้วยซ้ำไปว่า ปกติแล้วในมาตรฐานยุโรป ท่อต่างๆ จะถูกเปลี่ยนเพื่อซ่อมบำรุงปีละ 0.5% ของท่อทั้งหมด แต่ภายใต้การบริหารโดยบริษัทเอกชนในอังกฤษ พวกท่อต่างๆ จะถูกเปลี่ยนเพียงปีละ 0.05% เท่านั้น

ไม่เปลี่ยนท่อ ผลคืออะไร? ผลคือ ท่อแตกร้าว ถ้านิดๆ หน่อยๆ ก็ทำให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำ ทำให้นำน้ำมาดื่มไม่ได้ ถ้ามากหน่อยก็คือ ท่อแตกระดับต้องซ่อมกันใหญ่โต และทำให้พื้นที่ที่รับบริการน้ำจะไม่มีน้ำใช้เป็นเวลายาวนาน

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่คนอังกฤษ "เห็น" เพราะจริงๆ แล้ว 30 กว่าปีของการบริหารการประปาอังกฤษภายใต้น้ำมือเอกชน สิ่งที่คนอังกฤษเห็นชัดๆ ภายใต้ปัญหาที่รอวันระเบิด ก็คือ "ค่าน้ำ" ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พูดง่ายๆ คือการเอาเอกชนมาบริหาร มันไม่ได้ทำให้ค่าน้ำถูกลงกว่าประเทศอื่นแน่ๆ

ที่แย่กว่านั้น ค่าน้ำที่เพิ่มขึ้นของอังกฤษไม่ได้ถูกแปลงมาเป็นค่าซ่อมท่อและบำรุงรักษาระบบประปาใดๆ แบบประเทศอื่น ในที่สุดปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อท่อต่างๆ ในระบบประปาของอังกฤษเริ่มทยอย "หมดอายุการใช้งาน"

แต่เนื่องจากค่าน้ำก็ไม่ใช่ถูก ราคามันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่ทำให้ในปัจจุบัน ประเด็นหนึ่งที่คนอังกฤษเดือดกันมากก็คือ พวกบริษัทที่ให้บริการน้ำ พยายามจะขึ้นค่าน้ำอีก 20% โดยอ้างว่าจะเอาไปไล่ซ่อมท่อเพื่อให้ปัญหาแก้ปัญหาพวกท่อรั่วท่อแตกไม่ให้มีอีก แต่สำหรับคนอังกฤษที่รู้สึกว่าจ่ายค่าน้ำแพงอยู่แล้ว แต่ยังต้องมาเจอปัญหาน้ำปนเปื้อนและน้ำไม่ไหลแบบตอนนี้ ถ้ายังต้องเจอกับการขึ้นค่าน้ำอีกมันก็เกินไป

 

'ทางออก' ความพังของน้ำประปาภายใต้การบริการของเอกชน

 

เพื่อให้เห็นภาพ โดยเฉลี่ย คนอังกฤษ ต้องเสียค่าน้ำประปาตกเดือนละประมาณ 1,500 บาท ถ้าขึ้นไปอีก 20% คนอังกฤษจะต้องจ่ายค่าน้ำประปาต่อเดือนเยอะกว่าคนสวีเดนโดยเฉลี่ยเสียอีก เพราะปัจจุบันคนสวีเดนก็จ่ายค่าน้ำเฉลี่ยราวๆ เดือนละ 1,500 บาทพอๆ กับอังกฤษ (ซึ่งก็ยังไม่ต้องพูดว่าจริงๆ การบริหารบริหารน้ำประปาในประเทศหนาวจัดแบบสวีเดนนั้น "มีต้นทุน" สูงกว่าในประเทศที่ "อบอุ่นกว่า" อย่างอังกฤษ เพราะประเทศหนาวจัดมันต้องมีต้นทุนในการทำให้น้ำในท่อไม่เป็นน้ำแข็งเวลาหนาวจัดด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำดีหรือน้ำเสีย)

แต่บริษัทพวกนี้เป็นบริษัทเอกชน จะใช้วิธีไปกู้เงินมาซ่อมท่อแล้วค่อยๆ ใช้หนี้ไม่ได้เหรอ ทำไมต้องขึ้นค่าน้ำให้คนด่า? คำตอบคือ บริษัทพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้หัวโตอยู่แล้ว Thames Water ที่เป็นบริษัทใหญ่สุด ให้บริการน้ำประปาในพื้นที่อังกฤษใต้รวมทั้งกรุงลอนดอนนั้นมีหนี้ถึง 80% ของมูลค่าบริษัท ซึ่งสูงมาก มันกู้ต่อไม่ได้แล้ว ซึ่งหนี้พวกนี้จะบอกว่าเป็นหนี้ที่ค้างมาก่อนรัฐบาลอังกฤษจะ "ขายกิจการ" ก็ไม่ได้ด้วย เพราะก่อนขายกิจการรัฐบาลอังกฤษยอมลงทุนล้างหนี้เก่าให้หมดแล้ว บริษัทมันกลายเป็นบริษัทเอกชนโดยปราศจากหนี้ในตอนแรก แต่ผ่านมาหลายสิบปี บริษัทก็เป็นหนี้อีก แถมเป็นหนี้มากกว่าเดิม ซึ่งถ้าไม่โทษ "การบริหาร" ของเอกชนเองก็ไม่แน่ใจว่าจะโทษใครดี

ขึ้นค่าน้ำก็ไม่ได้ กู้เงินก็ไม่ได้ ไม่มีทางออกอื่นเหรอ? นักวิเคราะห์มองว่า ถ้าระบบพังจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือ รัฐเข้ามายึดและบริหารกิจการผ่านการซื้อหุ้นคืนจากเอกชนให้หมด เคลียร์หนี้ให้ และลงทุนซ่อมท่อให้หมดจด เพื่อให้ระบบประปาของอังกฤษทำงานได้ "ปกติ" ตามที่มันควรจะเป็นในประเทศที่มั่งมีขนาดนี้ซะที

แต่คำถามคือหลังจากนั้นแล้วจะยังไงต่อ ถ้ารัฐมาเคลียร์ปัญหาให้หมดแล้ว รัฐจะขายกลับไปให้นักลงทุนเอกชนใหม่อีกรอบเหรอ? แล้วอีก 30 ปีข้างหน้า ท่อก็จะพังใหม่ รัฐก็ต้องมากู้สถานการณ์ใหม่อีกน่ะเหรอ?

จะเห็นว่าคำตอบมันไม่ง่าย ถ้ารัฐซื้อกิจการกลับ นั่นหมายถึงการเอามาบริหารเองยาวๆ เลย และเป็นการ "ยอมรับ" ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1980 ที่รัฐทำการขายทอดตลาดการประปาทั่วประเทศให้พวกนักลงทุนเอกชนเป็นสิ่งที่ "ผิด" และนี่เป็นสิ่งที่มีนัยยะทางการเมืองอย่างมากว่า การ "ขายกิจการของรัฐ" เป็นสิ่งที่ “ผิด” ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่รัฐบาลปัจจุบันอังกฤษทำ คือ การจ้องหาว่ามีกิจการอะไรของรัฐที่จะเอามาขายให้เอกชนได้อีก หรือพูดง่ายๆ รัฐที่มีท่าทีว่าจะขายกิจการของรัฐให้เอกชน ในทางการเมือง ก็ต้องไม่ยอมซื้อกิจการอะไรที่รัฐเคยขายไปแล้วกลับมาบริหารอีก เพราะนั่นจะเป็นการทำลายความชอบธรรมทางการเมืองในการไล่ขายกิจการของรัฐโดยรัฐเอง

ทั้งหมดนี้ จะบอกว่ามัน "เป็นปัญหาของชาวอังกฤษ" ก็ได้ แต่รวมๆ คือ มันน่าจะเป็นบทเรียนให้ทั้งโลกเห็นว่าจริงๆ แล้วการมี "รัฐสวัสดิการ" ในบางระดับนั้นจำเป็นต่อการทำงานของสังคมสมัยใหม่ อาจมีบางเรื่องที่รัฐควรจะ "รับประกัน" ว่าจะเกิดขึ้นในสังคมได้ การรับประกันคุณภาพชีวิตของประชาชนในบางระดับอาจไม่ใช่สิ่งที่ "มากเกิน" และบริการด้าน "น้ำสะอาด" ก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น เว้นแต่ว่า เราจะคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอังกฤษคือเรื่อง "ปกติ" ที่ "ควรจะเป็น"

 


อ้างอิง
Water crisis in United Kingdom reopens privatisation debate
Water privatisation in England and Wales
England’s water: is the privatised model a fair system?
Why is Thames Water in so much trouble?
Why is the UK facing water shortages despite record rainfall?
UK at risk of summer water shortages and hosepipe bans, scientists warn
Britain’s water industry crisis: Sewage spills, huge leaks and crushing debts
Hundreds of homes get 'do not drink water' warning
Households across Reading left without water for three days after burst mains
About 2,000 homes in Hastings on fifth day with no water supply
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน