พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อการพิจารณางบประมาณกระทรวงกลาโหมในวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ในฐานะคนที่ติดตามงบประมาณกระทรวงกลาโหม รู้สึกข้องใจกับการผ่านงบกลาโหมเป็นอย่างมาก เนื่องจากภายหลังเกิดการถกเถียงกันในที่ประชุมกรรมาธิการ ประธานกลับสั่งปิดการประชุมและให้ผ่านการพิจารณางบกลาโหมไปแบบงงๆ ทั้งที่หลายคำถามที่พรรคก้าวไกลขอให้ชี้แจง กองทัพยังไม่ชี้แจง รวมถึง กอ.รมน. ซึ่งมีงบประมาณเกือบ 7.9 พันล้านบาท
“ผมคิดว่าประธานกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ซึ่งเป็นคนจากรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐต้องตอบคำถามเพื่อนกรรมาธิการ และตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าการรวบรัดผ่านการพิจารณากลาโหมในครั้งนี้ มีอะไรไม่โปร่งใสหรือไม่ และทำไมเฉพาะหน่วยงานนี้จึงเห็นประธานกรรมาธิการออกมาทำหน้าที่ปกป้องหน่วยงานมากเป็นพิเศษกว่ากระทรวงอื่นๆ”
เมื่อถามถึงความไม่โปร่งใสในงบประมาณกองทัพ พิจารณ์ให้ความเห็นว่า ในการพิจารณางบประมาณครั้งนี้ คนมักให้ความสนใจไปที่เรือดำน้ำลำที่ 2 และ ลำที่ 3 ซึ่งแน่นอนว่าไม่ควรทำในช่วงเวลานี้ แต่การตัดงบเรือดำน้ำที่ตั้งในปีนี้ (64) จะช่วยประหยัดงบประมาณปีนี้ได้เพียง 900 ล้านบาทเท่านั้น เพราะกองทัพเรือใช้วิธีการดาวน์น้อย ผ่อนนาน ตั้งงบปีแรกให้น้อยแล้วผูกพันงบประมาณไปจ่ายในอนาคต เป็นภาระอีก 6-7ปี
แต่เมื่อกองทัพยอมถอยเลื่อนงบประมาณเรือดำน้ำแล้ว กลับกลายเป็นคนให้ความสนใจเฉพาะงบประมาณเรือดำน้ำแล้วละเลยความโปร่งใสของงบประมาณส่วนอื่นไป งบประมาณของกองทัพ 2.03 แสนล้านบาทนี้ ยังมีงบประมาณอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่โปร่งใสและชวนให้ตั้งคำถาม ทั้งงบประมาณที่สิ้นเปลือง สอดไส้งบของส่วนราชการอื่น และมีงบที่ไม่ใช่ภารกิจ กรณีงบประมาณที่สิ้นเปลือง เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านพักทหารซึ่งมีทุกเหล่าทัพ งบสร้าง-ซ่อมบ้านพักของกองทัพอากาศ 344 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 40% ของงบก่อสร้างในแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคงที่มีงบทั้งหมด 878 ล้านบาท, โครงการอาคารพักข้าราชการกองเรือดำน้ำในพื้นที่กองเรือยุทธการ วงเงินงบประมาณ 294 ล้านบาท ก็มีความน่าสงสัย เพราะมีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างและและยกเลิกถึง 3 ครั้งด้วยกัน โดยใช้วิธีการประกาศเชิญชวน, โครงการก่อสร้างบ้านผู้บริหารระดับสูง จำนวน 4 หลัง มูลค่า 30 ล้านบาท ตกแล้วราคาหลังละประมาณ 7 ล้านกว่าบาท และยังมีโครงการก่อสร้างอาคารพักขนาด 32 ครอบครัว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก จำนวน 4 หลัง มูลค่า 174 ล้านบาท รวม 2 โครงการ มูลค่ารวม 348 ล้านบาท
“สรุปแล้วสร้างบ้านพักไม่พอ หรือกำลังพลมากเกินไปกันแน่ อย่างในกรณีของกองทัพบก ชี้แจงว่ายังมีกำลังพลอีก 5หมื่นกว่านาย ที่ยังไม่มีบ้านพัก สะท้อนให้เห็นถึงความใหญ่เทอะทะอุ้ยอ้ายของกำลังพล เป็นภาระจากทั้งงบบุคลากร และงบสวัสดิการ การที่กองทัพต้องจัดสวัสดิการที่ดีให้กำลังพลเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เมื่อกำลังมีขนาดใหญ่โตเกินไป จึงกลายเป็นภาระงบประมาณที่อาจเกินความจำเป็น”
งบก่อสร้างบ้านพักอีกก้อนที่น่าสงสัย เป็นงบประมาณผูกพันสำหรับก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยสูง 13 ชั้น จำนวน 175 ห้องพร้อมที่จอดรถ ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทองนอกให้กับข้าราชบริพารภายใต้สังกัดส่วนราชการในพระองค์และครอบครัว วงเงินก่อสร้าง 620.5 ล้านบาท และมีค่าจ้างที่ปรึกษาตลอด 4 ปี เพื่อดูแลโครงการนี้อีก 21.7 ล้านบาท ทำให้มูลค่าโครงการทั้งหมดคิดเป็นงบประมาณ 642.2 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 65 มีงบประมาณที่ตั้งไว้ 283 ล้านบาท
พิจารณ์ ยังตั้งคำถามว่าเหตุใดงบประมาณการสร้างอาคารที่พักให้กับข้าราชบริพารและครอบครัว จึงอยู่ในงบประมาณของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้งที่ไม่ได้เป็นสวัสดิการสำหรับบุคลากรในสังกัดของตนเอง ตาม พ.ร.บ. ส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจ กำลังพล และงบประมาณไปให้ส่วนราชการในพระองค์ไปทั้งหมดแล้ว ทำไมจึงยังมีการตั้งงบประมาณส่วนนี้ และมีงบประมาณอื่นในผลผลิตสนับสนุนการถวายความปลอดภัยรวมกันอีก 1,296 ล้านบาท ซึ่งตัวแทนจากสำนักปลัดฯ ได้ชี้แจงว่าได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ มาตรา 5 วรรคท้าย ที่ได้บัญญัติว่า ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ตามที่ได้รับแจ้ง แต่ไม่เคยมีการแสดงเป็นเอกสารให้กรรมาธิการได้เห็นเลยว่ามีการแจ้งขอการสนับสนุนงบประมาณและโครงการจริงหรือไม่
สุดท้าย พิจารณ์ตั้งคำถามกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ ที่ถึงแม้ว่าในปีนี้ กองทัพเรือจะแถลงข่าวออกมาว่าเลื่อนออกไปก่อน แต่ที่กองทัพเรือเลื่อนซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 ในปีนี้ ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีงบประมาณสำหรับเรือดำน้ำ
ในปี 2565 ยังมีการตั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ 10 กว่ารายการ รวมงบประมาณ 3,760 ล้านบาท มีรายการที่ตั้งใหม่ด้วย คือโครงการสร้างระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ งบประมาณผูกพัน 3 ปี วงเงิน 300 ล้านบาท และในการจัดซื้อจัดจ้างยังมีข้อพิรุธอย่างมาก เช่น โครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำระยะ ที่ 1 พบว่าตั้งงบประมาณไว้ที่ 900 ล้านบาท แต่มีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างแบบแล้วยกเลิกถึง 5 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรก ประกาศให้มีการจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีการคัดเลือก ในครั้งที่ 2 ให้เปลี่ยนเป็นวิธีแบบเฉพาะเจาะจง แล้วต่อมาก็ประกาศยกเลิก แล้วก็มาประกาศใหม่เป็นครั้งที่ 3 ให้จัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง แล้วก็มีการยกเลิก ต่อมาก็มาประกาศใหม่เป็นครั้งที่ 4 ให้จัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง แล้วก็ได้มีการประกาศยกเลิกอีกครั้ง และพอมามาประกาศใหม่เป็นครั้งที่ 5 ให้จัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง ถึงได้ผู้ชนะ เป็นบริษัทจากประเทศจีน China Shipbuilding Offshore International Co.,Ltd. (CSOC) ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทเดียวกันกับผู้ขายเรือดำน้ำ และเมื่อดูเนื้องานแล้วเป็นงานโยธา งานทั่วไป เหตุใดจึงไม่เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนไทย สามารถเข้าแข่งขัน เชื่อได้ว่าอาจกำหนดตั้งแต่ TOR ทำให้บริษัทไทยไม่สามารถเข้าหลักเกณฑ์
นอกจากโครงการนี้ ยังมีกรณีโครงการก่อสร้างโรงซ่อมเรือดำน้ำ วงเงินงบประมาณเกือบ 958 ล้านบาท ก็มีการประกาศและยกเลิกถึง 4 ครั้งด้วยกัน ถึงได้ผู้ชนะการประมูลแบบเฉพาะเจาะจง และมีโครงการอาคารพักข้าราชการกองเรือดำน้ำในพื้นที่กองเรือยุทธการ ที่ได้พูดไปแล้ววงเงินงบประมาณ 294 ล้านบาท ก็มีการประกาศและยกเลิกถึง 3 ครั้งด้วยกัน โดยใช้วิธีการประกาศเชิญชวน ในชั้นกรรมาธิการได้มีการถามถึงข้อพิรุธในกรณีที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับเรือดำน้ำ กองทัพเรือกลับเลี่ยงตอบถึงความไม่โปร่งใสนี้
พิจารณ์ ให้ความเห็นว่า การที่กองทัพเรือออกข่าวว่าจะเลื่อนการซื้อเรือดำน้ำออกไปเป็นการเบี่ยงความสนใจของสังคมให้ไปโฟกัสที่เรือดำน้ำ แล้วสอดไส้ผ่านงบประมาณอื่นได้ง่ายขึ้น เรายังเห็นมีตั้งซื้ออาวุธ มูลค่าสูงของกองทัพเพิ่มเติมในปีนี้ เช่น อากาศยานไร้คนขับ มูลค่าโครงการรวม 4,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งงบปี 65 จำนวน 820 ล้านบาท แล้วที่เหลือผูกพันงบประมาณไปอีก 4 ปี ผมจึงอยากถามว่าในภาวะที่ประชาชนกำลังยากลำบากจากวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ กองทัพกลับยังตั้งซื้ออาวุธเป็นปกตินั้นมีความเหมาะสมหรือไม่
“ผมคิดว่าถ้าประเทศมีเงิน เศรษฐกิจดี เก็บภาษีเข้าเป้า อยากซื้ออาวุธก็ว่ากันไป แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้รอไปก่อน เพราะซื้อแบบนี้ผูกพันไป 4 ปี คิดง่ายๆ ปีละพันล้าน มันใช่เรื่องไหมที่ต้องซื้อเวลานี้ ประชาชนป่วย เป็นหนี้เป็นสินตกงาน แต่กองทัพจะซื้อให้ได้”
“เวลาที่คุณเอาทหารมาบริหารประเทศ และนำเอาความมั่นคงทางการทหารมาเป็นอันดับแรก ก็จะคำนึงถึงความพร้อมในการป้องกันประเทศ ก็จะมีการจัดซื้ออาวุธ มีการตั้งโรงงานผลิตทุกอย่าง แบตเตอรี่ ยางรถยนต์ กระสุนปืน ผลิตสินค้าที่กองทัพคิดว่าเป็นยุทธภัณฑ์ทุกอย่างยันแป้งป้องกันสังคัง ซึ่งต้องกล่าวด้วยว่าสินค้าที่กองทัพผลิตเองมีราคาสูงกว่าการจัดซื้อจากภายนอกมาก”
“แต่ในทางกลับกันคุณไม่มีความพร้อมด้านสาธารณสุข คุณไม่มีเตียง ICU รองรับ คุณไม่มีเครื่องช่วยหายใจ ถ้าเปรียบเป็นสงคราม คุณแพ้สงครามแล้ว ประชาชนตายเป็นใบไม้ร่วงแล้ว เพราะฉะนั้นต้องหยุดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ได้แล้ว ผมขอเรียกร้องไปยังกรรมาธิการงบประมาณว่าต้องพิจารณางบประมาณให้ละเอียดมากขึ้น ถี่ถ้วนมากขึ้น เพื่อให้งบประมาณแผ่นดินทุกบาทกลับไปถึงประชาชนอย่างแท้จริง”