สรุป
- สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) เผยแพร่รายงานชี้ว่า การใช้จ่ายงบการทหารทั่วโลกในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้เกือบทั่วโลกเผชิญผลกระทบหนักทางเศรษฐกิจจากโควิด-19
- สหรัฐฯ ครองแชมป์ประเทศใช้งบการทหารสูงสุด ตามด้วย จีน อินเดีย รัสเซีย และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ
- ไทยครองอันดับ 27 ใช้จ่ายเกี่ยวกับการทหารไปประมาณ 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยับขึ้นจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่อันดับ 30
สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) เผยแพร่รายงานระบุว่า การใช้จ่ายงบการทหารทั่วโลกในปี 2563 อยู่ที่ 1.981 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากปีก่อนหน้า ในขณะที่จีดีพีทั่วโลกหดตัวร้อยละ 4.4
'ดิเอโก โลเปส ดา ซิลวา' หนึ่งในผู้เขียนรายงานดังกล่าวได้เผยว่านี่เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้บางส่วนคิดว่าการใช้จ่ายทางการทหารน่าจะลดลง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะสรุปว่า โควิด-19 ยังไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการใช้จ่ายทางการทหารทั่วโลก อย่างน้อยก็ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม โลเปส ดา ซิลวา ก็ระบุว่าอาจต้องใช้เวลาสำหรับหลายประเทศในการปรับตัวต่อภาวะช็อกที่เกิดขึ้น
การใช้จ่ายทางการทหารซึ่งยังคงเพิ่มขึ้นในปีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ย่อมหมายความว่าภาระค่าใช้จ่ายด้านการทหารหรือสัดส่วนของการใช้จ่ายทางการทหารต่อจีดีพีได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยรายงานนี้ยังระบุว่า ในภาพรวมสัดส่วนการใช้งบการทหารต่อจีดีพีโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 2.4 ในปี 2563 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นแบบรายปีมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2551 เป็นต้นมา
'สหรัฐฯ' ครองแชมป์ ส่วน 'ไทย' อยู่อันดับ 27
รายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มชี้ว่า ประเทศที่ใช้จ่ายงบทางการทหารสูงที่สุดในปี 2563 คือสหรัฐอเมริกา ใช้จ่ายเป็นมูลค่า 778,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 39 ของการใช้จ่ายทั่วทั้งโลก
ขณะที่อันดับ 2 คือจีน ใช้จ่ายประมาณร้อยละ 13 ของทั้งโลก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 252,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนอันดับ 3-10 ได้แก่ อินเดีย รัสเซีย สหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามลำดับ
นี่ถือเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่สหรัฐฯ ใช้จ่ายทางการทหารเพิ่มขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าสำหรับสหรัฐฯ นี่สะท้อนให้เห็นความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อการรับรู้ถึงภัยคุกคามจากคู่แข่งด้านยุทธศาสตร์อย่างจีนและรัสเซีย รวมถึงการพยายามขับเคลื่อนของอดีตประธานาธิบดี 'โดนัลด์ ทรัมป์' ในการเสริมสิ่งที่เขามองว่าเป็นศักยภาพที่ลดลงของกองทัพสหรัฐฯ
ส่วนรัฐบาลของ 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันก็ไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ว่าจะลดการใช้จ่ายทางการทหารลง ขณะเดียวกัน แม้ตัวเลขการใช้จ่ายงบทางการทหารของจีนจะน้อยกว่าสหรัฐฯ แต่ก็ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 26 ปีที่ผ่านมา
ส่วนประเทศไทย รายงานนี้ระบุว่าการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการทหารเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1 รวมเป็นมูลค่า 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยครองอันดับที่ 27 ของประเทศที่ใช้จ่ายทางการทหารมากที่สุดในโลก และขยับขึ้นจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่อันดับ 30
โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้งบการทหารบางประเทศ
แม้ในภาพรวมทั่วโลกจะใช้จ่ายงบการทหารเพิ่มขึ้น แต่หนึ่งในผู้เขียนรายงานอย่างโลเปส ดา ซิลวา ก็ชี้ว่ามีบางประเทศที่การใช้จ่ายทางการทหารได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเช่นชิลีและเกาหลีใต้ ที่ได้ตัดสินใจปรับงบการทหารเพื่อตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไวรัส
ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น บราซิลและรัสเซีย แม้ไม่ได้พูดอย่างชัดเจนว่ามีการแบ่งงบใหม่เพราะโควิด-19 แต่ประเทศเหล่านี้ก็ใช้จ่ายลดลงอย่างมากจากงบที่ตั้งเป้าไว้แต่เดิมสำหรับปี 2563 ขณะเดียวกันก็มีบางประเทศ เช่นฮังการี ที่ได้เพิ่มการใช้จ่ายทางการทหารในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกระตุ้นเพื่อตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไวรัส
อ้างอิง