Skip to main content

สำนักข่าว Bernama สื่อมาเลเซีย รายงานข่าวเมื่อ 15 ก.ค.ว่ารัฐบาลท้องถิ่นในรัฐกลันตันประกาศว่าจะใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์จากสหรัฐอเมริกาเป็นวัคซีนหลัก นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.2564 เป็นต้นไป แต่ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดจึงเปลี่ยนวัคซีนหลักจากเดิมที่ใช้ซิโนแวคของจีนมาเป็นวัคซีนของไฟเซอร์แทน และย้ำว่าวัคซีนซิโนแวคที่ยังมีอยู่จะถูกใช้เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 

หลังจากนั้นไม่นาน 'อัดฮัม บาบา' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย ก็แถลงข่าวเช่นกันว่าการใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนหลักจะมีผลทั่วประเทศในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ใช้วัคซีนซิโนแวคที่มีอยู่จนหมด พร้อมย้ำว่ารัฐบาลได้ดำเนินการสั่งซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์รวมกว่า 45.7 ล้านโดส ซึ่งจะเริ่มทยอยส่งได้ในไม่ช้า ส่วนวัคซีนซิโนแวค 16 ล้านโดสที่ได้มา ถูกใช้ไปแล้วกว่าครึ่ง และจะใช้ไปจนกว่าจะหมดล็อต

ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับคำยืนยันของ 'นูร์ ฮิแชม' ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งยืนยันว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมุ่งเน้นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นหลัก เพราะรัฐบาลดำเนินการจัดซื้อจัดหาวัคซีนดังกล่าวมาเพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

ขณะที่เว็บไซต์ The Straits Times และ Channel News Asia สื่อของสิงคโปร์ รายงานว่า การตัดสินใจเปลี่ยนวัคซีนหลักของรัฐบาลมาเลเซียเกิดขึ้นหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์เดลตา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและไทย ที่ต่างก็ใช้ซิโนแวคเป็นวัคซีนหลักทั้งคู่ แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้อย่างมีประสิทธิผลเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม mRNA เช่น ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา 

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่งานวิจัยชิ้นแรกในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนซิโนแวค ผ่านทางเว็บไซต์ medRxiv เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อ้างอิงการทดสอบและประเมินศักยภาพวัคซีนที่มีต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อไวรัสโคโรนา 3 สายพันธุ์ที่พบการระบาดในประเทศไทย ได้แก่ อัลฟา (อังกฤษ) เบตา (แอฟริกาใต้) และเดลตา (อินเดีย) 

งานวิจัยดังกล่าวใช้ชื่อว่า SARS-CoV-2 variants of concern exhibit reduced sensitivity to live-virus neutralization in sera from CoronaVac vaccinees and naturally infected COVID-19 patients บ่งชี้ว่าภูมิคุ้มกันของกลุ่มตัวอย่างหลังการฉีดวัคซีนซิโนแวค ด้อยกว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามชาติในผู้ที่ติดเชื้อแล้วหายป่วย แต่งานวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในวารสารวิชาการ แต่อยู่ระหว่างรอการประเมินพิจารณากลั่นกรองบทความวิจัยหรือบทความทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review)