นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.วิฑูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน แถลงถึงแผนการบริหารทรัพยากรในการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทย
นพ.กรกฤช กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก มีการตั้งศูนย์การบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์เพื่อบริหารจัดการ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.ยาที่มี 2 รายการหลัก คือ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และเรมเด็บซิเวียร์ (Remdesivir) และ 2.อุปกรณ์ป้องกัน เพื่อให้มีการจัดการให้เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ
ข้อมูลเมื่อวันที่ 13 ก.ค. มียาเหลือในประเทศ แบ่งเป็น 1.ฟาวิพิราเวียร์ 4,017,781 เม็ด ซึ่งอยู่ในองค์การเภสัชกรรม (อภ.) 2,170,782 เม็ด สำนักงานปลัด สธ. ที่ดูแลภูมิภาค กระจายอยู่ในทุกจังหวัด 1,015,284 เม็ด กรมการแพทย์ ดูแลในกรุงเทพมหานคร 801,567 เม็ด และกรมควบคุมโรค 30,148 เม็ด และ 2.ยาเรมเด็บซิเวียร์ มีอยู่ใน อภ. จำนวน 1,613 ไวอัล ซึ่งสามารถสนับสนุนให้กับพื้นที่ได้อย่างเพียงพอและยังมีการสนับสนุนผ่านเครือข่ายทุกวัน ซึ่งเป็นไปตามปริมาณใช้จริง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกระจายทรัพยากรสูงสุด
นพ.กรกฤช กล่าวว่า แผนการจัดหาที่วางไว้เดือนกรกฎาคม-กันยายน จำนวน 21 ล้านเม็ด อย่างไรก็ตาม เดือนนี้มีผู้ป่วยจำนวนมาก จึงจะจัดซื้อรวม 16 ล้านเม็ด เดือนสิงหาคม 2 ล้านเม็ด และ เดือนกันยายนอีก 2 ล้านเม็ด ทั้งนี้ หากมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เราสามารถจัดหาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการติดต่อไว้กับผู้ผลิตในหลายประเทศ
นพ.กรกฤช กล่าวว่า ในส่วนของอุปกรณ์ป้องกัน 10 รายการ มีการจัดซื้อมาอย่างเสมอภายใต้งบประมาณเงินกู้ โดยเฉพาะก้อนล่าสุดรวม 1,900 ล้านบาท ปัจจุบัน ข้อมูลคงคลังเวชภัณฑ์ เช่น หน้ากาก N95 จำนวน 1.9 ล้านชิ้น ชุดโคฟเวอร์ออล 4.2 ล้านชิ้น ได้จัดสรรให้โรงพยาบาลทุกแห่งมีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน
ด้าน นพ.วิฑูรย์กล่าวว่า ขณะนี้ทรัพยากรเตียงทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศยังเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่ง สธ.ไม่อยากให้เกิดข่าวว่าผู้ป่วยรอเตียง หรือมีการเสียชีวิตที่บ้าน แต่เนื่องจากการบริหารจัดการเตียงพ่วงด้วยหลายปัจจัย ทั้งเรื่องเตียงชนิดต่างๆ บุคลากรที่เข้าไปดูแลผู้ป่วยแต่ละกลุ่มสี ซึ่งต้องมีการระดมทรัพยากรบุคลากรจากภูมิภาคเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งนี้ การบริหารเตียงมี 2 ส่วน คือ 1.จำนวนเตียงที่มีอยู่ในมือ และ 2.การนำผู้ป่วยเข้าสู่การดูแลรักษาในเตียงแต่ละกลุ่มสี ซึ่ง 2 ส่วนนี้ต้องสัมพันธ์กัน
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า สถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศยังเป็นปัญหาสำคัญ โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ เตียงผู้ป่วยสีเขียว รพ.สนามทั้งหมด 2,470 เตียง ว่าง 500 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 20%, ฮอสปิเทล ทั้งหมด 17,823 เตียง ว่าง 4,201 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 24% ยังมีเตียงว่างสำหรับผู้ป่วยสีเขียว ตอนนี้พยายามปรับให้ฮอสปิเทลให้สามารถดูแลผู้ป่วยสีเหลืองมากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ป่วยสีเขียวจะทดแทนเตียงที่หายไปด้วยการใช้แนวทางโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) และ คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Communication Isolation) เตียงผู้ป่วยสีเหลือง COHORT รพ.ทั้งหมด 6,834 เตียง ว่าง 415 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 6% ห้องแยก ทั้งหมด 3,526 เตียง ว่าง 449 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 13% และเตียงผู้ป่วยสีแดง AIIR ทั้งหมด 217 เตียง ว่าง 31 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 14% Modified AIR ทั้งหมด 538 เตียง ว่าง 49 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 9% Cohort ICU ทั้งหมด 323 เตียง ว่าง 37 เตียงคิดเป็นเตียงว่าง 11%
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ส่วนทั่วประเทศไม่รวมกรุงเทพฯ จากที่มีคนที่กลับภูมิลำเนา พบว่าภาพรวมประเทศทรัพยากรที่ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองลดลงเร็วมาก หมายความคนที่กลับจากกรุงเทพฯ ไปยังภูมิภาคส่วนใหญ่เป็นสีเขียวแก่ถึงสีเหลือง เพราะฉะนั้นจะพยายามดูแลอย่างดีที่สุด ซึ่งหลักการเคลื่อนย้ายต้องถูกต้องตามวิธีการและมีหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยดูแล หากต้องการเดินทางกลับสามารถติดต่อสายด่วน 1330 ในการขอกลับภูมิลำเนา จะมีการจัดหารถ การส่งตัวกลับอย่างปลอดภัย กรณีกลับเองจะมีคำแนะนำและไปยังจุดที่กำหนดในแต่ละจังหวัด
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า เขตสุขภาพหลายแห่งใช้ทรัพยากรเกิน 80% ต้องเป็นแผนวางล่วงหน้าในการป้องกันการขาดแคลนทรัพยากรในส่วนของเตียง ส่วนทรัพยากรอื่น ๆ ได้เตรียมไว้อย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้นการขาดแคลนทรัพยากจะพยายามไม่ให้เกิดขึ้น ส่วนการบริหารจัดการเตียง ในเขตจะบริหารเตียงอย่างดีที่สุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ รพ.สามารถดูแลประชาชนที่มีการติดเชื้อช่วงนี้ และถ้าปฏิบัติตามข้อแนะนำและการควบคุมการเคลื่อนย้ายตามแนวทางที่รัฐบาลได้สั่งการไป เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น