Skip to main content

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงความคืบหน้าวัคซีนบูสเตอร์โดส ว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับพยาบาลที่เสียชีวิตเมื่อ10 ก.ค.นี้ หลังจากติดโควิด-19 ซึ่งปฏิบัติงานที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ถือว่าเป็นความเสียสละ ในการปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท จนติดโควิด แต่ได้อยู่ในการดูแลรักษาพยาบาลของทีมแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.จนถึง 10 ก.ค.2564 จากกรณีดังกล่าวอยู่ในความสนใจของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า คุณพยาบาลได้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 เมื่อเดือน เม.ย. และฉีดเข็มที่ 2 ช่วงเดือน พ.ค. แต่ด้วยการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิดอย่างต่อเนื่อง เมื่อช่วงเดือน มิ.ย.ก็มีโอกาสได้รับเชื้อจากการปฏิบัติงาน ประกอบกับมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องภาวะอ้วน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรง

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ข้อมูลเบื้องต้นจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อและประวัติการรับวัคซีน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-10 ก.ค.2564 มีเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 700,000 คน โดย 97% ได้รับวัคซีนแล้ว มีตัวเลขติดเชื้อ 880 ราย 54% เป็นพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล อายุ 20-29 ปีมากที่สุด และรองลงอายุ 30-39ปี ในจำนวนผู้ติดเชื้อ พบไม่มีประวัติรับวัคซีน 173 ราย หรือคิดเป็น 19.7% และเสียชีวิต 7 ราย จำนวนนี้มี 5 รายไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด และมี 2 รายได้รับวัคซีน แบ่งเป็น 1 รายได้รับวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม เนื่องจากวันเริ่มป่วยเป็นช่วงหลังจากฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 2 เพียงวันเดียว ซึ่งปกติภูมิคุ้มกันจะขึ้นเมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 14 วัน และมี 1 รายที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว คือ น้องพยาบาลรายดังกล่าวข้างต้น

หากพิจารณาดูอัตราการติดเชื้อผู้ได้รับวัคซีน มีโอกาสป่วยและเสียชีวิตน้อยกว่าคนไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งพิจารณาจากบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด-19 และประวัติการรับวัคซีน โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน ซิโนแวค 1 โดส จำนวน 22,062 คน ติดเชื้อ 68 ราย คิดเป็น 308 ต่อ 1 แสนราย ไม่มีอาการ/อาการน้อย 67 ราย เสียชีวิต 1 ราย รับครบ 2 โดส จำนวน 677,348 คน ติดเชื้อ 618 ราย คิดเป็น 91 ต่อ 1 แสนราย ไม่มีอาการ/อาการน้อย 597 ราย อาการปานกลาง 19 ราย อาการรุนแรงต้องใช้ high flow 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย

และฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส จำนวน 66,913 คน ติดเชื้อ 45 ราย คิดเป็น 67 ต่อ 1 แสนราย ไม่มีอาการ/อาการน้อย 43 ราย อาการปานกลาง 1 ราย อาการรุนแรงต้องใช้ high flow 1 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1 ราย ไม่มีเสียชีวิต

นพ.โสภณ กล่าวว่า ประเด็นการได้รับวัคซีนโควิด 2 เข็มเพียงพอหรือไม่นั้น ล่าสุดได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2564 ซึ่งจากการพิจารณาทั้งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ไวรัสวิทยา และโรคติดเชื้อ มีความเห็นต้องกันว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีข้อมูลสนับสนุนว่า ภูมิคุ้มกันจะลดลงหลังฉีดวัคซีนไประยะหนึ่ง จึงเป็นที่มาต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่มีความเสี่ยง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด โดยการฉีดกระตุ้นจะฉีดด้วยวัคซีนแตกต่างจากชนิดแรก อาจเป็นไวรัลแวกเตอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้า หรือชนิด mRNA ซึ่งอนาคตจะได้รับวัคซีนจากการบริจาค คือ ไฟเซอร์ ซึ่งข้อเสนอจากคณะกรรมการวิชาการ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่ 12 ก.ค.2564

“คนฉีดวัคซีนจะมีโอกาสป่วยรุนแรงน้อยกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน แต่ขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ จากเดิมอัลฟา ช่วงหลังเป็นเดลตา ทำให้การป้องกันด้วยวัคซีนซิโนแวค อาจไม่ได้รับผลดีเท่ากับเชื้อเดิม ซึ่งในส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า คณะกรรมการวิชาการจึงเห็นว่าต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นอีก 1 เข็ม โดยตอนนี้เตรียมวัคซีนแอสตร้าฯ สามารถดำเนินการได้ในสัปดาห์หน้า เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ส่วนท่านที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ หรือ mRNA ต้องรออีกระยะหนึ่ง ขณะนี้ได้สำรวจความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อสายพันธุ์เปลี่ยน แนวทางการให้วัคซีนก็จะมีการปรับเปลี่ยนด้วย เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโรคและสายพันธุ์ไวรัสได้อย่างเหมาะสม” นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 จำเป็นต้องมีการเตรียมการ ทั้งการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม และระบบการส่งวัคซีนไปยังหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาลที่ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ยังป้องกันโรคได้ แต่เพื่อความมั่นใจ และเพิ่มความปลอดภัย ทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะมีการประชุมในวันที่12 ก.ค.นี้ และวัคซีนที่จะจัดสรรเพิ่มเติมจะมีการสำรวจตัวเลข โดยจะเริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก่อน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มอื่นๆจะตามมา

โดยเมื่อได้รวบรวมจำนวนแล้วจะนำมาใช้วางแผนจัดสรร และการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด้านหน้า เนื่องจากในประเทศอื่นที่ฉีดซิโนแวคยังไม่มีการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดไวรัล แว็กเตอร์ หรือmRNA ประเทศไทยก็จะมีการติดตามผลอย่างเป็นระบบ โดยการเจาะเลือดทั้งก่อน-หลังรับวัคซีนกระตุ้น เพื่อระดับภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการให้วัคซีนสำหรับบุคลากรอื่นๆและประชาชนทั่วไป

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีคนทั่วไปที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มไปแล้วจะมีโอกาสได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า มี แต่ก็ต้องดูข้อมูล และจำนวน เพราะบุคลากรทางการแพทย์ยังต้องมีการเรียงลำดับให้เป็นบุคลากรด่านหน้าก่อน แล้วจึงเป็นบุคคลากรอื่นๆ ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มนั้น จะพิจารณาความจำเป็นโดยให้กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังก่อน

"คนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มจะได้ฉีดกระตุ้นทุกคน แต่ต้องเป็นไปตามความจำเป็นของกลุ่มนั้นๆ กลุ่มไหนจำเป็นและมีความเสี่ยงที่สุดต้องได้รับก่อน ซึ่งยังต้องมีการเก็บข้อมูลอีกมาก"นพ.โสภณกล่าว