Skip to main content

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค จำนวน 1 ล้านโดส ที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้แก่ประเทศแถบเอเชีย ถูกส่งถึงมาเลเซียแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา โดย 'ไครี จามาลุดดิน' รัฐมนตรีผู้ประสานงานโครงการสร้างภูมิคุ้มกันแห่งชาติระบุว่า มาเลเซียหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ต่อไปเพื่อเข้าถึงวัคซีนให้ได้มากขึ้น ขณะที่ 'ไบรอัน แมคฟีเตอร์ส' เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำมาเลเซียก็ระบุว่า สหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นทำงานร่วมกับมาเลเซียในการสนับสนุนโครงการสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 แห่งชาติของมาเลเซีย

ล่าสุด วันนี้ (6 ก.ค.) บัญชีทวิตเตอร์ทางการของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยก็ได้รีทวิตข้อความของ 'เนด ไพรซ์' โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่พูดถึงการจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาคไปยังมาเลเซีย ซึ่งสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยได้แสดงความยินดี โดยระบุว่า “ขอแสดงความยินดีกับเพื่อนบ้านของไทยที่ได้รับวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจากสหรัฐฯ ภูมิภาคนี้จะปลอดภัยขึ้นเมื่อเราร่วมมือกัน” 

ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์ 1 ล้านโดสล็อตดังกล่าวที่ถูกส่งถึงมาเลเซียถือเป็นส่วนหนึ่งของวัคซีน 80 ล้านโดส ที่รัฐบาลของประธานาธิบดี 'โจ ไบเดน' ให้สัญญาเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะแบ่งปันให้กับทั่วโลก ท่ามกลางความกังวลต่ออัตราการกระจายวัคซีนที่แตกต่างกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยนี่ยังถูกมองว่าเป็นการแข่งขันเรื่องการทูตวัคซีนระหว่างสหรัฐฯ และจีนอีกด้วย แม้ไบเดนจะระบุว่าการแบ่งปันวัคซีนมีเป้าหมายเพื่อรักษาชีวิตและยุติการระบาดใหญ่ของไวรัส

ประเทศเพื่อนบ้านได้วัคซีนแล้ว ส่วนไทยยังหารือกรณีไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส 

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สได้รายงานเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ที่ระบุว่าสหรัฐฯ กำลังดำเนินการอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการจัดส่งวัคซีนเพิ่มเติมมายังทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ทวีตข้อความระบุว่ากำลังเร่งส่งวัคซีนไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก ซึ่งก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ก็ได้ประกาศแผนไปแล้วว่าจะจัดส่งวัคซีนให้กับฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย ลาว ปาปัวนิวกินีและกัมพูชา ส่วนเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ก็ระบุว่า จะส่งวัคซีนโมเดอร์นา 4 ล้านโดสให้กับอินโดนีเซียอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ผ่านโครงการโคแวกซ์

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่จะเข้ามายังประเทศไทย และถูกอ้างถึงใน "เอกสารการประชุมของคณะกรรมการด้านวิชาการ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน" ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์เมื่อ 4 ก.ค.จนกลายเป็นประเด็นร้อน เพราะมีผู้ร่วมประชุมให้ความเห็นว่าถ้านำไฟเซอร์มาฉีดเป็นเข็ม 3 จะแสดงว่าซิโนแวคที่เป็นวัคซีนหลัก "ไม่ได้มีผลป้องกัน" แต่ นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อ 5 ก.ค.ว่าสิ่งที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์นั้นเป็น "เอกสารปลอม" 

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวของอธิบดีกรมควบคุมโรค สวนทางกับ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ซึ่งยอมรับว่าเอกสารที่หลุดออกมาในสื่อออนไลน์ "เป็นเอกสารจริง" แต่เป็นเอกสารในขั้นตอนวิชาการ ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาปฏิบัติจริง พร้อมระบุว่าวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่กล่าวถึงนั้น ได้จากการบริจาคของสหรัฐฯ และเกิดจากการประสานงานระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศ จึงต้องพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ให้ชัดเจน โดยขั้นตอนดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกระทรวงการต่างประเทศ 

กต.แจงบทบาทจัดหาวัคซีนต่างประเทศ ย้ำรัฐบาล "ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง"

ทางด้าน 'ธานี แสงรัตน์' อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงประเด็นที่ได้รับการสอบถามจากผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศของรัฐบาล รวมทั้งบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในเรื่องดังกล่าว

โฆษก กต.ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดหาวัคซีนซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วน และกระทรวงการต่างประเทศเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินงานสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการเข้าถึงวัคซีนอย่างเร่งด่วน รวมถึงวัคซีนจากสหรัฐฯ ตามที่ปรากฏเป็นข่าว และได้มีการผลักดันเรื่องดังกล่าวกับหน่วยงานฝ่ายสหรัฐฯ ในระดับต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

สำหรับวัคซีนที่จะได้รับจัดสรรจากสหรัฐฯ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข กำลังหารือรายละเอียดกับฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมอบวัคซีนจากสหรัฐฯ ในโอกาสแรก