พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สนับสนุนโครงการพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์และรูปแบบการดูแลทางสังคม เสริมพลังชุมชนในการเฝ้าระวัง ดูแลจัดการทางสังคมสำหรับผู้ป่วยรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด–19 ตั้งแต่เริ่มการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก โดยร่วมกับทีมนักสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมทั้งหมด 11 ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนทำงานในระดับชุมชน ซึ่งในช่วงการระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ภาคีเครือข่ายยังพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้พัฒนาโซเชียลเทเลเมดิซีน (Social Telemedicine) เพื่อเป็นแฟลตฟอร์มในการดูแลทางสังคมที่เชื่อมโยงกับระบบของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ช่วยให้การรับ-ส่งต่อ การบำบัดฟื้นฟูทางสังคม และการติดตามผลด้านการดูแลทางสังคมในชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“สสส. และภาคีเครือข่ายทำงานเชิงรุกพัฒนาศักยภาพนักสังคมสงเคราะห์ และชุมชนให้สามารถวางแผนป้องกันรับมือการระบาด หรือสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีการขยายเครือข่ายในการดูแลทางสังคมไปยังวิชาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาลชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เภสัชกรชุชน รวมถึงบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสิ่งสำคัญในการทำงาน คือใจที่จะช่วยเหลือกัน ทำให้เกิดเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นได้อนาคต โดย สสส. พร้อมที่จะเชื่อมประสานกลไกของทั้งภาครัฐ และเอกชน ขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบ” พญ.ขจีรัตน์ กล่าว
ด้าน ระพีพรรณ คำหอม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการฯ พบปัญหาผู้ป่วยถูกบูลลี่ตีตรา การเลือกปฏิบัติ ถูกสังคมรังเกียจ ถูกตำหนิจากคนรอบข้าง จนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จึงได้เตรียมบุคลากร พัฒนานักสังคมสงเคราะห์จิตอาสา โดยระดมจากทุกภาคส่วนทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เปิดการอบรม 4 หลักสูตร ประกอบด้วย 1.หลักสูตรให้คำปรึกษาเบื้องต้น 2.หลักสูตรทักษะเสริมพลังอำนาจ 3.หลักสูตรเทคนิคการใช้คำปรึกษาการปรับความคิดเปลี่ยนพฤติกรรม และ4.หลักสูตรการดูแลเด็ก เพื่อพัฒนานักสังคมสงเคราะห์ให้มีทักษะ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มโซเชียลเทเลเมดิซีน เพื่อติดตามผู้ป่วย เป็นเครื่องมือแบบประเมินที่จะลดขั้นตอนการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ และง่ายต่อการวางแผนดูแลมากขึ้น
“แพลตฟอร์มโซเชียลเทเลเมดิซีน เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพชีวิตที่ดีในการอยู่ร่วมกันกับทุกคนในสังคม ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของรัฐได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสุขภาพกับประชาชนไม่ให้ผู้ป่วยถูกทิ้งหากเกิดวิกฤตขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์ ต้องพัฒนาศักยภาพปรับตัวกับการใช้ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะพัฒนาและนำมาใช้ในการทำงานสังคมสงเคราะห์มากขึ้น” ระพีพรรณ กล่าว