Skip to main content

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร รองประธานคณะที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงข่าวประเด็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า เมื่อวานนี้ (5 ก.ค.64) มีการประชุมเรื่องวัคซีนโควิด-19 มีการรายงานผลการประชุมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งวันนี้เป็นการแถลงเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบ เป็นส่วนหนึ่งของการแถลงในนาม ศบค. และรัฐบาล

นพ.อุดมกล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั่วทั้งโลกมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) อย่างมาก แพร่กระจายถึง 96 ประเทศ สถานการณ์ในประเทศไทยเมื่อ 2 เดือนที่แล้วมีการระบาดสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ประมาณ 85-90% แต่ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. มีการระบาดสายพันธุ์เดลต้า ภาพรวมประเทศอยู่ที่ 30% ถือว่าเร็วมาก ถ้านับเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล คิดเป็น 50% ของเชื้อที่เราพบ

นพ.อุดมกล่าวว่า สายพันธุ์แดลตา มีความสามารถคือ 1.ระบาดเร็ว โดยสายพันธุ์อัลฟ่าระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ดังเดิม (อู่ฮั่น) 60-70% แต่เดลต้าระบาดเร็วกว่าอัลฟาอีก 40% จึงเป็นเหตุผลที่เราคาดการณ์ว่า 1-2 เดือน ประเทศไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเป็นเดลต้า เพราะกระจายเร็วมาก 2.ภาพรวมของเดลต้า ไม่ได้มีความรุนแรงกว่าอัลฟา แต่มีลักษณะพิเศษคือทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ต้องการออกซิเจน หรือออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น เกิดปอดอักเสบเร็วขึ้น ซึ่งสำหรับอัลฟาใช้เวลา 7-10 วันหลังติดเชื้อ ถึงจะพบอาการปอดอักเสบ ต้องใช้ออกซิเจน ใช้เครื่องไฮโฟลว์ (Oxygen High Flow) เครื่องช่วยหายใจ แต่เดลต้าใช้แค่เวลา 3-5 วัน ก็ต้องใช้เครื่องไฮโฟลว์ เครื่องช่วยหายใจแล้ว

นพ.อุดมกล่าวอีกว่า ไวรัสมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยการกลายพันธุ์ ยิ่งแบ่งตัวได้เยอะก็จะยิ่งกลายพันธุ์ได้เยอะ และถ้ากลายพันธุ์ ก็จะดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากวัคซีนป้องกัน เดิมเราใช้วัคซีนควบคุมการระบาด ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำจากไวรัสตัวดั้งเดิม (อู่ฮั่น) ตอนนั้นวัคซีนจึงได้ผลดีมาก แต่ตอนนี้ไม่ใช่ว่าวัคซีนไม่ดี แต่เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์เป็นเดลตา อัลฟา ประสิทธิภาพของวัคซีนจึงลดลงชัดเจน เป็นเหตุผลว่า เราต้องหาวัคซีนรุ่นใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์อัลฟาและเดลตา ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี แต่อยู่ในระหว่างการทำวัคซีนรุ่นใหม่อยู่ ทั้งวัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า หรือซิโนแวค คาดว่าเร็วสุดจะเป็นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องคำนึงในการสั่งซื้อวัคซีนต่อไปข้างหน้า

นพ.อุดม ยังได้เปิดเผยถึงแนวทางการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในประเทศไทย โดยระบุว่า ขณะนี้ได้มีการกำหนดไกด์ไลน์ของการใช้บูสเตอร์โดส โดยเบื้องต้น จะฉีดให้ผู้ที่ร่างกายเปราะบาง มีโรคประจำตัวต่างๆ และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ เช่น บุคคลากรด่านหน้า หมอ และพยาบาล ซึ่งปัจจุบัน มีบุคลากรแพทย์ที่ฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มเป็นเวลา 3-4 เดือน ทั้งหมด 7 แสนคน ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการกระตุ้นเข็มที่ 3 ที่ประชุมของ สธ.จึงอนุมัติให้นำวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับมอบจากสหรัฐฯ มาฉีดให้แพทย์ แต่หากวัคซีนมาช้า ก็จะจัดให้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าก่อน เนื่องจากผลวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพการยับยั้งโควิดสายพันธุ์เดลตายังอยู่ในเกณฑ์ดี 

นพ.อุดมกล่าวต่อว่า การกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลตา ข้อมูลระดับภูมิต้านทานโรคในวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน เมื่อเจอเดลตาก็ทำให้ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นลดลง เช่น วัคซีนไฟเซอร์ ครบ 2 เข็ม เมื่อเจอเดลตา ภูมิคุ้มกันลดลง 2.5 เท่า ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ลดลง 7.5 เท่า วัคซีนแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม ข้อมูลจากประเทศอังกฤษ พบว่า สายพันธุ์เบตา ทำให้ภูมิฯ ลด 9 เท่า สายเดลตา การสร้างภูมิฯ ลดลง 4.3 เท่า ขณะที่ข้อมูลวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ข้อมูลที่ทำในไทยระหว่าง สวทช. กับศูนย์วิจัยจุฬาฯ พบว่า เมื่อเจอเดลตา ภูมิฯลดลง 4.9 เท่า

นพ.อุดมกล่าวว่า สำหรับข้อมูลทางคลินิก พบว่า วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา ที่เป็นชนิด mRNA ต้องยอมรับว่าเป็นตัวที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงสุด ประมาณหลัก 1,000-10,000 ยูนิต รองลงมาเป็นแอสตร้าฯ ในหลักพันต้นๆ ส่วนซิโนแวค จะอยู่ในหลักหลายร้อยปลายๆ หากดูการสร้างภูมิต้านทาน ต้องยอมรับว่า mRNA ดีที่สุด รองมาเป็นแอสตร้าฯ และรองมาเป็นซิโนแวค แต่หากดูเรื่อง การป้องกันโรค วัคซีนไฟเซอร์ ป้องกันเดลตา ได้ลงลดจาก 93% เป็น 88% ส่วนแอสตร้าฯ ป้องกันสายเดลต้า จาก 66% เหลือ 60% แต่ที่สำคัญ คือ ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง วัคซีนไฟเซอร์ ป้องกันได้ 96% แอสตร้าฯ ได้ 92% ซึ่งไม่แตกต่างกันในทางสถิติ

“จึงอยากย้ำให้เห็นว่า แม้การป้องกันลดลงแต่การป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรง ต้องเข้าโรงพยาบาล ป้องกันการตาย ยังได้ผลสูงมาก ขณะที่วัคซีนซิโนแวค ข้อมูลยังน้อยว่าป้องกันได้เท่าไหร่ แต่หากเทียบจากภูมิต้านทาน เราคิดว่ามันคงป้องกันเดลตาไม่ดีแน่ แต่ซิโนแวค 2 เข็มจะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ต้องเข้า รพ. ป้องกันตายได้มากกว่า 90% เป็นข้อมูลจากหลายประเทศที่ใช้ซิโนแวค รวมทั้งข้อมูลในภูเก็ตด้วย” นพ.อุดมกล่าว

นพ.อุดมกล่าวว่า ตอนนี้เราต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าวัตถุประสงค์การฉีดวัคซีนไม่มีทางป้องกันได้ 100% และแต่วัคซีนมีประสิทธิภาพต่างกัน แต่สิ่งสำคัญ แม้ประสิทธิภาพป้องกันลดลง แต่ประสิทธิภาพป้องกันเจ็บป่วยรุนแรง ต้องเข้า รพ. หรือลดการตายยังสูงมาก เกิน 90% แม้ว่าจะเป็นวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องย้ำ เนื่องจาก หากไม่เจ็บป่วยรุนแรง ก็การนอนเตียงที่กำลังตึงในตอนนี้ทั้งกลุ่มสีเขียว เหลืองและแดง และช่วยผ่อนภาระงานของบุคลากรแพทย์ที่กำลังหนักมากในตอนนี้ ซึ่งทุก รพ.ใน กทม.และต่างจังหวัดหนักมากจริงๆ เช่น เตียงผู้ป่วยหนักสีแดง ในภาวะปกติเฉพาะใน กทม. ที่เป็น รพ.ใหญ่ทั้งหมด มีประมาณ 230 เตียง แต่ตอนนี้เราเบ่งเท่าตัวเป็น 400 กว่าเตียง แต่คนเท่าเดิม หมอ พยาบาลเท่าเดิม เราต้องเอาบุคลากรจากแผนกอื่นมาฝึกสอน เพื่อมาอยู่กันดูแลผู้ป่วย ตอนนี้ไม่ไหวจริงๆ ไม่มีขวัญกำลัง

“ที่เราเห็นตัวเลขตายวันละ 50 -60 ราย ติดเชื้อใหม่วันละ 5-6 พันราย เดือนหนึ่ง 1.5-2 แสนราย แล้วมันจะไหวหรือไม่ เราต้องช่วย อย่างน้อยวัคซีนป้องกันให้เราไม่ต้องเจ็บป่วยเข้า รพ. ป้องกันไม่ให้เป็นผู้ป่วยหนัก ซึ่งคุ้มค่ามหาศาลสำหรับตัวท่านเอง และเพื่อป้องกันระบบสาธารณสุข” นพ.อุดมกล่าว

นพ.อุดมกล่าวว่า หากเราดูด้านที่เลวร้ายที่สุดของโรคโควิด-19 คือ ติดเชื้อแล้วเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลพบว่า คนในโลกนี้ อัตรา 50 คนจะมีคนติดเชื้อ 1 คน และมีอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 2.1% ดังนั้น หากมีการติดเชื้อ 50 คนจะมีคนเสียชีวิต 1 คน เป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่สำหรับด้านดีที่สุดคือหากไม่ติดเชื้อ ก็ต้องฉีดวัคซีน ซึ่งเฉลี่ยป้องกันได้ 60-70% เราจึงต้องช่วยกันในมาตรการป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ หลีกเลี่ยงเข้าที่แออัด เป็นสิ่งสำคัญมากจริงๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยรายใหม่ 20% เป็นการติดเชื้อจากครอบครัว อีก 40% เป็นการติดเชื้อในองค์กร มาตรการบุคคลและองค์กรจึงสำคัญมาก

“แม้วัคซีนป้องกันไม่ได้มาก แต่ท่านต้องฉีดวัคซีน ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา คนที่ฉีดไฟเซอร์ครบ 2 เข็มแล้ว 3.7 ล้านคน พบว่ายังมีการติดเชื้อใหม่ 0.1% เหมือนจะดูน้อย แต่หากเทียบคนล้านๆ ก็เยอะ ส่วนอินเดีย ฉีดแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม ยังติดโควิด-19 ใหม่ 0.2% ดังนั้น ต้องย้ำว่าวัคซีนมีประโยชน์แน่ แต่ตอนนี้ต้องคิดว่าช่วยการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรง ไม่ตาย ปกป้องระบบสาธารณสุข ไม่ให้เกินกำลัง” นพ.อุดมกล่าว

เมื่อถามว่า ตอนนี้เข้าสู่ระลอก 4 หรือไม่ นพ.อุดมกล่าวว่า เรื่องนี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ส่วนตัวถือว่าเป็นระลอก (เวฟ) 4 แล้ว เพราะเป็นไวรัสตัวใหม่กลายพันธุ์ กำลังจะเป็นสายพันธุ์เดลตา มีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม ส่วนคุณสมบัติสำคัญที่บอกเป็นเวฟ 4 คือ การแพร่ระบาดในชุมชน ครอบครัว องค์กร หาที่มาที่ไปไม่ได้ เท่ากับคำจำกัดความเกิดเป็นเวฟใหม่ ตัวเลขขึ้น 5-6 พันราย ถือเป็นเวฟ 4 แล้ว ส่วนจะจบเมื่อไร เรายกระดับมาตรการแล้ว แต่ยังไม่สูงสุด

“ตอนนี้เป็นแค่เซมิล็อกดาวน์กว่าจะเห็นผล 14 วันตามระยะเวลาฟักตัวของไวรัส ต้องหลัง 14 วันไปก่อนถึงจะเริ่มเห็นผล ซึ่งจะครบช่วงวันที่ 11-12 ก.ค.และจะประเมินอีกทีว่าเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าจะไม่ให้มากเกินกำลังบุคลากรสาธารณสุข ทั้งเตียง ยา ต่างๆ เราต้องการเห็นตัวเลขไม่เกิน 500-1,000 วัน เราสู้ไหว ตอนนี้บอกตรงๆ ว่าสู้ไม่ไหว ต้องช่วยกัน คือเพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุข มาตรการส่วนบุคคล และมาตรการสังคมมากกว่านี้ และเร่งฉีดวัคซีน 2 เข็มให้มากที่สุดเกิน 70% ของประชากรให้ได้ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ” นพ.อุดม กล่าว

เมื่อถามว่า มาตรการที่ใช้อยู่พอเพียงหรือไม่ ต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม นพ.อุดมกล่าวว่า ถ้าเรามาดูตอนนี้ยังบอกไม่ได้ แต่จะประเมินในช่วง 15 วัน และ 30 วัน เชื่อว่าการติดเชื้ออาจจะลงบ้าง แต่อาจยังอยู่ในระดับ 3-4 พัน ก็ยังเกินที่จะรับไหว สิ่งสำคัญคือต้องลดการเคลื่อนย้ายของคน เพราะเชื้อโรคไปเองไม่ได้ ต้องไปกับคน คนพาไป ถึงไม่อยากให้เคลื่อนย้าย ให้อยู่กับบ้าน ต้อง Work From Home 75% ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่ถึง 50% เลย ต้องไม่ไปตลาด ศูนย์การค้า แต่คนยังไปกันเยอะมาก ยังออกต่างจังหวัด ตรงนี้ต้องช่วยกัน ไม่นำเชื้อไปแพร่คนอื่น ถ้ายังทำไม่ได้ คิดว่าต้องยกระดับมาตรการต้องล็อกดาวน์เหมือน เม.ย. 2563 ที่ระบาดไม่กี่ร้อยคนทำแล้วคุมอยู่

“ตอนนี้ต้องบอกว่าช้าไปหน่อยแล้ว เราให้เวลา 2-3 เดือนยังคุมไม่ได้ ตอนนี้ขึ้นกับความร่วมมือของประชาชนที่ต้องช่วยกัน ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ยกระดับสูงสุด ต้องคิดว่าคนที่ไปเจอ ทั้งคนในครอบครัวที่บ้านซึ่งบางส่วนออกไปทำงาน เสมือนเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการและอาจติดได้ และเราอาจไปแพร่เชื้อต่อ ต้องเข้มมาตรการส่วนบุคคล องค์กร และมาตรการสังคม โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเดินทางและใช้ Work From Home ตัวเลขถึงจะควบคุมได้” นพ.อุดมกล่าว