Skip to main content

แฮชแท็ก #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ #moderna และ #mRNA ติดเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์ไทยช่วงเช้าวันที่ 5 ก.ค.2564 หลังสื่อไทยและผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายรายเผยแพร่ภาพเอกสาร ซึ่งระบุว่าเป็น มติที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2564 

ประเด็นสำคัญของการประชุม คือ การพิจารณาว่าจะนำวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ที่คาดว่าจะส่งถึงประเทศไทยล็อตแรก 1.5 ล้านโดสภายในเดือน ก.ค. ไปฉีดให้แก่กลุ่มประชากรใด ประกอบด้วย กลุ่ม 1) บุคคลอายุมากกว่า 12 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี กลุ่ม 2) กลุ่มเสี่ยงภัยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน (ผู้สูงวัย/โรคเรื้อรัง/ผู้หญิงตั้งครรถ์) และกลุ่ม 3) บุคลากรการแพทย์ (HCW-Healthcare workers) ที่ต้องฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นเข็มที่ 3

สิ่งที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรง สืบเนื่องจาก 'ข้อ 10' ของบันทึกการประชุมดังกล่าว เป็นมุมมองเชิงคัดค้านการให้วัคซีนไฟเซอร์กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยระบุเพิ่มเติมว่า "ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 แสดงยอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น” ทำให้มีประชาชนที่เห็นข้อมูลดังกล่าวแสดงความคิดเห็นกันอย่างแพร่หลายในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ที่มีการทวีตข้อความที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 400,000 ครั้ง

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าบุคลากรการแพทย์ควรได้ฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนาได้จริง ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์, โมเดอร์นา หรือวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม mRNA อื่นๆ แต่เมื่อผู้เข้าร่วมการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางเรื่องมาตรการวัคซีนของประเทศไทย แสดงความเห็นในเชิงไม่อยากให้ฉีดวัคซีน mRNA เป็นเข็มที่สามให้บุคลากรการแพทย์ เพราะเกรงจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวัคซีนซิโนแวคซึ่งถูกใช้เป็นวัคซีนหลัก ทำให้เกิดคำถามว่าการรักษาหน้าผู้เกี่ยวข้องกับการสั่งวัคซีนชนิดนี้สำคัญกว่าการรักษาชีวิตของบุคลากรหรือไม่

แพทย์ร่วมตั้งคำถาม - 'อนุทิน' ชี้ เอกสารหลุด ไม่ใช่ข้อปฏิบัติจริง 

บุคคลในแวดวงการแพทย์ที่แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ รวมถึง นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งทวีตข้อความผ่านบัญชี @Manopsi โดยระบุว่า "เห็นรายงานการประชุมกรรมการวิชาการวัคซีนแล้วโกรธมาก คัดค้านการฉีด Pfizer vaccine กระตุ้นเข็มสามให้บุคลากรทางแพทย์ด้วยเหตุผลคือเป็นการยอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น คนพูดเป็นหมอหรือเปล่าครับ คุณทำงานด่านหน้าไหม จิตใจคุณทำด้วยอะไร"

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า "ข้อความจากรายงานการประชุมกรรมการ และการนำเอกสารชิ้นนี้หลุดมาถึงสื่อ คาดว่า … 1. Comment 8 และ 10 น่าจะมาจากกรรมการที่ powerful มาก เพราะมี comment อื่นสนับสนุนแต่มติเป็นไปทาง 2 comments นี้" และ "2. กรรมการที่ไม่เห็นด้วยคงทนไม่ได้ ยอมเสี่ยงปล่อยเอกสารนี้หลุดมายังสื่อ ขอบคุณมาก ๆ ครับ"

ขณะที่เฟซบุ๊ก Ittaporn Kanacharoen ของ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ข้อความว่า "ขอสนับสนุนให้วัคซีนเข็ม 3 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า"

"ตามที่มีการประชุมเรื่องการพิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ ที่จะได้รับ 1.5 ล้านโดส ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ ในกลุ่มบุคคลใดบ้าง  #โดยมีผู้เสนอให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่ได้รับ วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไปแล้ว ควรได้รับเพิ่ม"

"ในการประชุม คณะกรรมการด้านวิชาการวัคซีน กรมควบคุมโรค ที่ผ่านมานั้น ด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ในด่านหน้าเสมือนเป็นทหารอาสาสู้ศึก covid-19 ที่ต้องเสียสละตนเอง โดยมีโอกาสได้รับเชื้อจากผู้ป่วยตลอดเวลา ย่อมถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุด กว่ากลุ่มใดๆ ในการออกรบจำเป็นต้องได้รับ"เกราะป้องกันที่ดีที่สุด" เพื่อให้เขาสามารถ "อยู่รอด" ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เชื้อระบาดอย่างรุนแรงวิกฤต จนจำนวนบุคลากร ไม่เพียงพออยู่แล้ว"

ประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมาก นับตั้งแต่มีการเผยแพร่เอกสารออนไลน์เมื่อ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์สื่อไทยช่วงเช้า 5 ก.ค. ระบุว่าเอกสารที่หลุดออกมาเป็นเอกสารภายในจากการประชุมของคณะกรรมการวิชาการ แต่ยังไม่ได้เป็นขั้นตอนปฏิบัติจริง จึงไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นเรื่องของวิชาการ