Skip to main content

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ สายพันธุ์ 'เดลตา' ที่พบในกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ทำสถิติ 'นิวไฮ' เพิ่มขึ้นทุกวัน มีการเคลื่อนไหวจากกลุ่ม #ภาคีบุคลากรสาธารณสุข รวมไปถึงจดหมายเปิดผนึก ลงชื่อแพทย์ศิริราชรุ่น 10 เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดชี้แจงข้อเท็จจริงในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดว่าเพราะเหตุใดจึงล่าช้า และเพราะเหตุใดจึงยังคงยึดมั่นในการใช้วัคซีนซึ่งถูกประเมินว่าไม่มีผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ได้เทียบเท่าวัคซีนชนิดอื่น

'ดิ โอเพนเนอร์' ไล่เรียงบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดังนี้:

30 มิถุนายน 2564: "วัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ประสิทธิภาพไม่เพียงพอป้องกันสายพันธุ์ใหม่" 

นพ.สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ตัวแทนภาคีบุคลากรสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ The Standard หลังจากเริ่มรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ด่านหน้า เนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตากำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมีการศึกษาวิจัยบ่งชี้ว่าวัคซีนซึ่งไทยใช้อยู่ในขณะนี้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 

1 กรกฎาคม 2564: "ส.ส.พรรครัฐบาลติง รองปลัด สธ.ร้องไห้ออกสื่อ ขอแพทย์จบใหม่ช่วยสู้วิกฤตโควิด"

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์สื่อไทยหลายสำนัก หลังการอบรมอายุรแพทย์จบใหม่เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 โดยระบุทั้งน้ำตาา "สถานการณ์โควิดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลอยู่ในขั้นวิกฤต จำนวนผู้ป่วยรอเตียงมีอีกจำนวนมาก จำเป็นต้องขอแรงแพทย์จบใหม่ช่วยผู้ป่วยให้มีชีวิตรอด เนื่องจากขณะนี้ได้ขยายจำนวนเตียงในโรงพยาบาลให้เพิ่มขึ้น แต่ยังขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข ทั้งที่ไม่สามารถช่วยอะไรได้ สถานการณ์โควิดตอนนี้เป็นสายพันธุ์ที่คุมยาก ยอมรับว่าเริ่มเอาไม่อยู่"

เมื่อข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ทำให้ 'ปารีณา ไกรคุปต์' ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จ.ราชบุรี โพสต์เฟซบุ๊กถึงรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่า "ไม่เห็นด้วยกับการใช้น้ำตา เกิดเป็นชาย ต้องใช้สติ ไม่ใช้อารมณ์ ทำอย่างงี้ ทุกคนอาจหมดกำลังใจ หมอแพทย์ พยาบาล เจ้ากระทรวง กำลังทำงานหนักมาก ที่สำคัญ....มาร้อง...วันเปิดแซนด์บอกซ์ภูเก็ต ... ถือเป็นการทำลายบรรยากาศดีๆ ความหวัง ขอส่งกำลังใจให้รองปลัด และอย่าร้องอีกนะคะ สู้ๆ ค่ะ"

2 กรกฎาคม 2564: "รพ.เอกชนชี้เหตุโมเดอร์นาล่าช้า - แพทย์ส่ง จม.เปิดผนึก ทำไมยังเลือกซิโนแวค"

นพ.บุญ วนาสิน ผู้บริหารโรงพยาบาลธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ให้สัมภาษณ์กับ Ch3Plus ถึงการจัดซื้อจัดหาวัคซีนทางเลือกเพื่อป้องกันโควิด-19 ล่าช้าด้วยเหตุผลใด ซึ่งข่าวรายงานว่าเครือโรงพยาบาลธนบุรี "เตรียมพร้อมทำการสั่งซื้อ ทั้งโมเดอร์นาและไฟเซอร์ไปจำนวน 50 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนตุลาคม 63 เพราะคาดว่าจะได้วัคซีนทางเลือกที่ผลิตโดยเทคโนโลยีใหม่ mRNA มาฉีดให้ประชาชนในเดือนกุมภาพันธ์ 64 ซึ่ง รพ.เอกชนดำเนินการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ติดเพียงภาครัฐไม่ยอมเซ็นให้ โดยให้เหตุผลว่าต้องเป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ทำให้เอกชนไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกได้และรอวัคซีนมาจนถึงปัจจุบัน"

คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวทำให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงข่าวว่าสาเหตุที่จัดซื้อจัดหาวัคซีนทางเลือก 'โมเดอร์นา' ได้ช้า เพราะวัคซีนตัวนี้ไม่ได้จัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ และเป็นเงินจากภาคเอกชน จึงต้องรอให้โรงพยาบาลเอกชนรวบรวมยอดให้ชัดเจน แต่ยืนยันว่าร่างสัญญาไว้แล้ว เพื่อจะส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณา แต่ อสส.แถลงชี้แจงว่า "ยังไม่ได้รับเอกสาร" ทำให้ อภ.ชี้แจงอีกรอบว่าส่งเอกสารให้ อสส.แล้วในช่วงบ่ายวันที่ 2 ก.ค. 

วันเดียวกัน เพจ Dr.Review ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกลงชื่อ 'ศิริศักดิ์ จันทร์ประเสริฐ' ศิริราชรุ่น 110 เรียกร้องให้ คณะกรรมการวิชาการวัคซีน ที่มี ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เป็นคณะทำงานประชุมร่วมกับ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่าเพราะเหตุใดจึงยังให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเข้ามาใช้ในประเทศ แแต่ไม่กดดันหรือนำเสนอให้รัฐบาลเลือกเอาวัคซีนชนิด mRNA เข้ามา 

เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกอ้างอิงคำกล่าวของ รมว.อนุทิน ในการรายงานของ The Standard ว่า “การพิจารณาเรื่องวัคซีนในประเทศไทยจะต้องผ่านความเห็นจากคณะกรรมการวิชาการวัคซีน ที่มี ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ รวมถึง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เป็นคณะทำงานประชุมร่วมกันทุกวัน เพื่อวางแนวทางเรื่องการใช้วัคซีนใด วิธีใด ห่างกันอย่างไร แล้วแจ้งมติมายัง สธ. เพื่อให้แพทย์ปฏิบัติตาม” 

จากกรณีดังกล่าว ทำให้ ศ.นพ.ยง ชี้แจงข้อมูลทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุ "ตามข่าวที่ว่าการพิจารณาเรื่องวัคซีน มีหมอ 3 ท่าน มีอำนาจตัดสินใจเลือกวัคซีน ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะช่วงที่ผมอยู่ในการประชุม จะพูดเชิงวิชาการ ถึงวัคซีนทุกตัวครับ" 

3 กรกฎาคม 2564:  "นักวิชาการโต้ จม.เปิดผนึก สงสัยเป็นขบวนการเสี้ยม"

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ รายงานอ้างอิงการอัปเดตข้อมูลของเพจ Dr.Review ซึ่งนำภาพที่บันทึกการสนทนาผ่านแอปพลิเคชัน โดยระบุว่าเป็นคำชี้แจงของ รศ.นพ.ทวี และ ศ.พญ.กุลกัญญา ผู้ถูกพาดพิง โดยกรณีของ รศ.นพ.ทวี ระบุว่า "ผมกำลังสงสัยว่ากำลังมีขบวนการ 'เสี้ยม' ให้ รมว.อนุทิน กับนักวิชาการชกกันเอง เพื่อประโยชน์บางอย่าง อาจารย์ทั้งสามท่าน รวมทั้งผมด้วย ไม่เคยขายตัว และขายวิญญาณของความเป็นแพทย์ครับ รายการนี้เป็นการยุให้ตีกันเอง ถ้าหมอท่านที่ลงชื่อจริงๆ ผมว่าน่าอดสูใจที่เชื่อเรื่องแบบนี้ หรือแต่งเรื่องแบบนี้ (ผมเดา) ผมอโหสิกรรมให้ครับ และไม่เสียสมาธิในการร่วมมือกับพวกเราในการต่อสู้กับโรคที่ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ เพื่อชีวิตคนไทยและประเทศไทยของเราต้องอยู่รอดปลอดภัยครับ"

ส่วนโพสต์ที่ระบุว่าเป็นคำชี้แจงของ ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุว่า "เพลีย พี่ไม่เคยไปมีส่วนในการตัดสินใจเรื่องการจัดหาวัคซีนเลย พี่เป็นนักวิชาการให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเลย แถมมีคนเชื่อ เขียนจดหมายเปิดผนึกมาด้วยค่ะ" ซึ่งดิ โอเพนเนอร์ ยังไม่อาจระบุได้ว่าข้อความที่รายงานผ่านเพจและสื่อไทยเป็นการแสดงความเห็นของผู้ถูกพาดพิงทั้ง 2 รายจริงหรือไม่ แต่ก็ยังไม่มีการออกมาปฏิเสธเช่นกัน

4 กรกฎาคม 2564: "ภาคีบุคลากรสาธารณสุขล่ารายชื่อทะลุแสน เร่งนำเข้าวัคซีน mRNA - สมช.ชี้ เลือกไม่ได้"

เฟซบุ๊กเพจ ภาคีบุคลากรสาธารณสุข เปิดเผยว่ามีลงนามทะลุ 100,000 รายชื่อ เพื่อกดดันให้องค์การเภสัชกรรมนำเข้าวัคซีน mRNA (ไฟเซอร์และโมเดอร์นา) โดยเร่งด่วน และยังต้องการชื่อเพิ่ม เพื่อยื่นต่อสภาในสัปดาห์หน้า

ขณะที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19  และประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ยืนยันว่า ในระหว่างที่วัคซีนตัวอื่นยังไม่เข้ามาไทย ก็ยังต้องฉีดวัคซีนซิโนแวคไปก่อน โดยย้ำว่า "เหมาะกับไทยตอนนี้" และจีนก็ยังใช้อยู่

“ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขหรือบุคลากรทางการแพทย์อาวุโสได้พยายามให้ความรู้ และจากที่ทางรองอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้กล่าวไว้ทุกคนก็จะได้เห็นว่าเราไม่สามารถที่จะเลือกชนิดได้ เราไม่สามารถจะเร่งกำหนดการส่งได้ เพราะฉะนั้นก็มีความจำเป็นอยู่ดีที่จะต้องใช้ วัคซีนที่เราสามารถหามาได้ วัคซีนที่มีอยู่ ซึ่งผมคิดว่าทุกคนก็คิดเหมือนๆ กันหมด"

"ตรงนี้ก็ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชน ที่ว่าอาจจะไม่ได้วัคซีนตามที่ต้องการ แต่เราก็พยายามอยู่ จากที่ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมชี้แจงวัคซีนโมเดิร์นนา ที่ประชาชนอยากได้ หน่วยงานก็พยายาม เร่งรัด และวัคซีนไฟเซอร์ที่ประชาชนอยากได้ทางกรมควบคุมโรคก็พยายามเร่งรัดอยู่ ฉะนั้นในเมื่อทั้งสองอย่างนั้นยังไม่มา วัคซีนที่เรามีอยู่คือซิโนแวคก็น่าจะเป็นวัคซีนที่เหมาะสมกับสภาพเวลานี้” เลขาฯ สมช.ระบุ