Skip to main content

นิวัติไชย เกษมมงคล  รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน  เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหา กิตติรัตน์  ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก  ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  โดยละเว้นไม่ควบคุมดูแลหรือสั่งการให้มีการตรวจสอบ กรณีองค์การคลังสินค้าคัดเลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ BULOG  ประเทศอินโดนีเซีย โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2554 องค์การคลังสินค้ากับองค์การสำรองอาหาร หรือ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ทำสัญญาซื้อขายข้าว ปริมาณ 300,000 ตัน  ในราคาตันละ 559 เหรียญสหรัฐ และเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาดังกล่าว  องค์การคลังสินค้าจึงได้ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการค้าข้าวให้เสนอขายข้าวขาว 15 %  เพื่อส่งมอบให้แก่ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยวิธียื่นซองเสนอราคา ในวันที่ 13 ธ.ค. 2554  โดยไม่ปรากฏว่าหนังสือดังกล่าวได้มีการประกาศเป็นการทั่วไป ซึ่งไม่ชอบด้วยระเบียบองค์การคลังสินค้าว่าด้วยการจัดซื้อสินค้าเพื่อการค้าปกติ พ.ศ. 2541  

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2554 มีผู้ยื่นซองเสนอราคา จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และบริษัท นครสวรรค์ค้าข้าว จำกัด  ซึ่งทั้งสองบริษัทได้มอบอำนาจให้พนักงานของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้มายื่นซองเสนอราคา  ผลการพิจารณาคุณสมบัติปรากฏว่า บริษัท นครสวรรค์ค้าข้าว จำกัด ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ  จึงเหลือเพียงบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เพียงบริษัทเดียว  สุรศักดิ์  ศรีประภา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้าและได้รับมอบหมายให้รักษาการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าในขณะนั้น   ได้อนุมัติให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้แก่ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย  โดยองค์การคลังสินค้าได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายข้าวกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำนวน 100,000 ตัน  ราคาตันละ 559 เหรียญสหรัฐ 

และต่อมาองค์การคลังสินค้าได้มีการทำบันทึกต่อท้ายสัญญากับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เพื่อตกลงซื้อขายข้าวเพิ่มเติมอีก จำนวน 200,000 ตัน  โดยไม่มีการออกประกาศเชิญชวนเป็นการทั่วไปให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเสนอราคาขายข้าวเพื่อแข่งขันราคากันแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวจึงถือได้ว่า สุรศักดิ์  ศรีประภา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้าและได้รับมอบหมายให้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า พิทีรต์  ตั้งพสสวัสดิ์ หรือ พิพรรธารย์ มาตธินินทร์ รองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า และ สมศักดิ์  วงศ์วัฒนศานต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า ได้ร่วมกระทำไปโดยมุ่งหมายและมีวัตถุประสงค์ ที่จะเอื้ออำนวยให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด  ได้เข้าเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับองค์การคลังสินค้าและไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่น  โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ  เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่องค์การคลังสินค้า

ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้อีกว่า ภายหลังจากที่องค์การคลังสินค้าได้คัดเลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบให้แก่ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ตัวแทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้เข้าพบ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น  ที่ทำเนียบรัฐบาล  เพื่อทักท้วงว่าการคัดเลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ BULOG ประเทศอินโดนีเซีย มีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง กิตติรัตน์  ณ ระนอง ทราบข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่าองค์การคลังสินค้าได้คัดเลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ BULOG ประเทศอินโดนีเซีย แต่กิตติรัตน์ ไม่ใช้อำนาจ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  สั่งการให้มีการตรวจสอบ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อยับยั้งหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์การคลังสินค้าดังกล่าว กลับแจ้งแก่ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  รวมถึงให้ข่าวแก่สื่อมวลชนว่าจะไม่มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว  โดยกล่าวอ้างว่าการดำเนินการขององค์การคลังสินค้าเป็นไปโดยชอบ  และทางฝ่าย BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย เป็นผู้เลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด  แต่ปรากฏว่า BULOG ไม่เคยให้ข้อเสนอแนะหรือแนะนำรายชื่อผู้ส่งออกข้าวให้กับองค์การคลังสินค้าแต่อย่างใด  แสดงให้เห็นเจตนาว่าต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด  ได้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้แก่ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย แต่เพียงผู้เดียว

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้ 

1. การกระทำของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง มีมูลความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 

2. การกระทำของ สุรศักดิ์ ศรีประภา พิทีรต์ ตั้งพสสวัสดิ์ หรือ พิพรรธารย์  มาตธินินทร์ สมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ และบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับพวก มีมูลความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 10 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติ  ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 

ทั้งนี้เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้วจะส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง