ความเคลื่อนไหวของหน่วยงานภาครัฐเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นประเด็นร้อนแรงช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนจำนวนมากตั้งคำถามในสื่อสังคมออนไลน์ว่าจะเชื่อมั่นการจัดหาและการกระจายวัคซีนของภาครัฐได้มากน้อยเพียงใด เพราะคำสั่งหรือมาตรการต่างๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบไม่ทันข้ามวัน
กรณีล่าสุดเกี่ยวพันกับ 'ฉัตรชัย พรหมเลิศ' ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งออกโทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ลงวันที่ 20 มิ.ย.2564 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด "ยกเลิก" โทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท.0230/ว 3464 ลงวันที่ 17 มิ.ย.2564 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยระบุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ พิจารณาจัดหาวัคซีนให้พนักงานและครอบครัวพนักงานบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ #ไทยเบฟ รวม 71,445 คนทั่วประเทศ
ท่าทีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ปลัด มท.เพิ่งจะออกมาแถลงว่า การออกโทรสารเพื่อขอให้แต่ละจังหวัดพิจารณาจัดหาวัคซีนให้แก่ไทยเบฟ "เป็นไปตามแนวทางของภาครัฐ" เกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อและ "ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น" ซึ่งถือเป็นการตอบคำถามที่ชาวเน็ตจำนวนมากตั้งข้อสงสัยในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ผ่านการติดแฮชแท็ก #ไทยเบฟ
(โทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท.0230/ ว3518 วันที่ 20 มิ.ย.2564)
แต่หลังจากที่ช่วงบ่ายขอให้ประชาชนมั่นใจ ช่วงค่ำ ปลัด มท.ก็ได้ออกโทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท.0230/ ว3518 วันที่ 20 มิ.ย.2564 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ยกเลิกโทรสารฉบับวันที่ 17 มิ.ย.และให้ผู้ว่าฯ ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ปฏิบัติตามโทรสารฯ ฉบับใหม่แทน พร้อมย้ำให้ผู้ว่าฯ ชี้แจง ทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้กับองค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชน ให้เกิดความร่วมมือในการจัดทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อเตรียมการกรณีเกิดการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบบคลัสเตอร์ รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ตามแนวทางที่ ศบค.กำหนด และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
เพจเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 และเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว เผยแพร่โทรสารฉบับดังกล่าวก่อน 23.00 น. 20 มิ.ย. และมีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนหนึ่งแสดงความคิดเห็นท้ายโพสต์ที่เกี่ยวกับโทรสาร มท.ว่า "เหมือนเด็กเล่นขายของ" เพราะกลับลำไปมา และมีผู้ตั้งคำถามว่าถ้าไม่มีผู้นำโทรสารฉบับวันที่ 17 มิ.ย.มาเผยแพร่ จะมีการยกเลิกหรือไม่ ถ้าทำทุกอย่างตามแนวทางตามที่ปลัด มท.ยืนยัน เพราะเหตุใดจึงต้องยกเลิกในเวลาต่อมาจนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ส่วนบางคนแสดงความเห็นว่า ระบบราชการไทยควรได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่านี้ เพราะไม่มีการจัดการที่ดี ไม่มีการคุยกันก่อน เนื่องจากเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่คำชี้แจงของหน่วยงานรัฐขัดแย้งกันเอง
(โทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท.0230/ว 3464 ลงวันที่ 17 มิ.ย.2564)
ในขณะที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการสื่อสารข้อมูลและการดำเนินงานเรื่องวัคซีนของรัฐบาลผ่านสื่อออนไลน์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มีคำสั่งให้กระทรวงต่างๆ เร่งจัดตั้ง "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและข่าวบิดเบือน" ให้ครบถ้วน เพราะมีบางกระทรวงที่จัดตั้งศูนย์นี้แล้ว แต่บางกระทรวงยังไม่ได้จัดตั้ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า "ห่วงใย" กลัวประชาชนจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ และระบุว่า หากพบข้อมูลที่บิดเบือน หน่วยงานราชการสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที ซึ่งสื่อของรัฐบาลก็ระบุว่ากระทรวงต่างๆ 'ขานรับ' ข้อสั่งการของนายกฯ
อย่างไรก็ตาม คู่มือเพื่อการศึกษาและอบรมด้านวารสารศาสตร์ของยูเนสโก ว่าด้วยการเสนอข่าวและข้อมูลบิดเบือน ซึ่งจัดทำเมื่อปี 2562 ร่วมกับหน่วยงานราชการไทย ระบุว่า ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า 'ข่าวลวง' 'ข่าวปลอม' และ 'สื่อปลอม' เพราะเป็นคำที่มักจะถูกใช้อย่างแพร่หลายกับรายงานข่าวที่ผู้ใช้คำดังกล่าวไม่เห็นด้วย และเป็นคำที่ "เสี่ยงต่อการถูกนำไปใช้เพื่อเหตุผลทางการเมือง และเป็นอาวุธในการทำลายอุตสาหกรรมข่าว เพื่อบั่นทอนการรายงานข่าวที่ผู้มีอำนาจไม่พอใจ" และยูเนสโกแนะให้ใช้คำว่า 'ข้อมูลผิด' (misinformation) 'ข้อมูลบิดเบือน' (disinformation) และ 'ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย' (mal-information) แทนคำว่าข่าวปลอม